xs
xsm
sm
md
lg

จุรินทร์ให้ปากคำคดี383ส.ส.-ส.ว. "นิคม"ทำหน้าที่ขัดรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (16ธ.ค.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ เริ่มกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอน 383 สมาชิกรัฐสภา ที่ถูกกล่าวหาว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เนื่องจากมีการกระทำที่ให้ได้มาซึ่งการปกครองประเทศโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว โดยเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้รวบรวมรายชื่อ ส.ส. ยื่นคำร้องถอดถอนบุคคลทั้งหมดต่อ ป.ป.ช. เข้าให้ข้อมูล หลังจากที่ ป.ป.ช.ได้เริ่มต้นกระบวนการพิจารณาคดีมาตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ในคำร้องของนายอภิสิทธิ์ ได้ระบุเกี่ยวกับความผิดของสมาชิกรัฐสภาทั้ง 383 คน ไว้ว่า มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกระทำการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยในคำร้องยังได้อ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไว้ด้วย
นอกจากนี้ ในคำร้องดังกล่าว ยังระบุถึงพฤติการณ์เฉพาะตัวของผู้ที่กระทำความผิดไว้เป็นสามส่วน คือ การกระทำความผิดของผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา และประธานในที่ประชุมรัฐสภา ส่วนที่สองคือ การกระทำความผิดของผู้ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว.นำโดย นายอุดมเดช รัตนเสถียร ร่วมกับสมาชิกรัฐสภารวม 310 คน และส่วนที่สาม เป็นการกระทำความผิดในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภา โดยมีพฤติกรรมการกระทำความผิด ดังต่อไปนี้
ในส่วนของสมาชิกรัฐสภา 310 คน ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว. เสนอร่างที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านดุลยภาพในการตรวจสอบตามระบบรัฐสภา ทำให้ ส.ว.มีสภาพไม่แตกต่างจาก ส.ส.
ส่วนพฤติกรรมของ นายสมศักดื์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา มีคำสั่งนัดประชุมรัฐสภา โดยแจกจ่ายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวคนละฉบับกับร่างที่นายอุดมเดชและคณะเสนอ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญจากร่างเดิมในหลายประการ อาทิ การเพิ่มเติมหลักการที่ให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาสามารถลงสมัครเป็นส.ว.ได้อีกโดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลาสองปี นอกจากนี้ยังมีการเรียกประชุมวันที่ 18 เมษายน 2556 เพื่อกำหนดวันแปรญัตติโดยให้เริ่มต้นนับวันแปรญญัติย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2556 ทำให้เหลือเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง 1 วันเท่านั้น
นอกจากนี้ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม คือ นายสมศักดิ์ และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้ตัดสิทธิผู้ขออภิปราย และผู้เสนอคำแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็น จำนวน 57 คน โดยที่ยังไม่มีการฟังอภิปราย อีกทั้งยังมีการใช่้เสียงข้างมากลงมติผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราที่เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญอันจะก่อให้เกิดปัญหาต่อการทำหน้าที่ของ ส.ว. ทำให้ส.ว.กลับไปเป็นสภาฟัวเมีย และยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือดำรงตำแหน่งทาง การเมือง ไม่ต้องเว้นวรรคห้าปีก่อนลงสมัคร ส.ว.อีกด้วย
สำหรับส่วนที่สาม คือพฤติกรรมการลงมติของสมาชิกรัฐสภามีการทุจริตในการลงคะแนน จากกรณีที่ นายนริศร ทองธิราช ได้เสียบบัตรแทนสมาชิกรัฐสภาผู้อื่น ด้วยการเสียบบัตรแทนหลายบัตรในการลงมติคราวเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดต่อข้อบังคับรัฐสภา และละเมิดรัฐธรรมนูญ และสมาชิกรัฐสภา 381 คน ไม่รวมนายสมศักดิ์ กับนายนิคม ยังได้ร่วมลงมติผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในวาระที่สามด้วย ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 พ.ย.56 ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีเนื้อหาขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาที่ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 8
ท้ายคำร้องนายอภิสิทธิ์ ยังได้ขอให้ ป.ป.ช. เร่งพิจารณาคดีนี้โดยไม่ชักช้า เนื่องจากเป็นคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงไว้อย่างชัดแจ้งแล้วด้วย
สำหรับสมาชิกรัฐสภาที่ถูกร้องในครั้งนี้ มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมถึงนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่พรรคเพื่อไทย ซึ่งร่วมลงคะแนนผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มาส.ว.ในวาระที่สามรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดให้มีการถอดถอนบุคคลทั้งหมดตามคำร้องก็จะทำให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะส.ส.ทันที ก่อนที่จะส่งเรื่องไปยังส.ว.ให้ลงมติถอดถอนต่อไป

** ชี้"นิคม"วางตัวไม่เป็นกลาง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวก่อนเข้าให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า มาให้ถ้อยคำกรณีการยื่นถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เนื่องจากนายนิคม ได้กระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมายข้อบังคับหลายประการ โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เป็นกลาง ในระหว่างทำหน้าที่ประธานการประชุมในการประชุมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ซึ่งถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
นอกจากนั้น จะมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมเรื่องผลประโยชน์ที่ขัดกัน เพราะนายนิคม ต้องการที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสมาชิกอีกครั้ง ในการเลือกตั้ง ส.ว.ปี 57 การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว. นายนิคม จึงพยายามรวบรัดเร่งรีบให้การแก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.บรรลุผลโดยเร็ว เพื่อให้ทันกับการเลือกตั้งส.ว. ที่จะมีขึ้น โดยมีการรวบรัด ตัดสิทธิ์ ไม่ให้ที่ผู้สงวนความเห็น และสงวนคำแปรญัตติ สามารถที่จะอภิปรายเพื่อแสดงความเห็นต่อที่ประชุมได้ ซึ่งกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า การตัดสิทธิ์ผู้สงวนความเห็น และแปรญัตติ จะกระทำมิได้ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมถึงตนยังได้นำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และคำให้สัมภาษณ์ของนายนิคม ต่อสื่อมวลชนว่า จะลงเลือกตั้งมามอบให้กับป.ป.ช. เพื่อเป็นหลักฐานด้วย
เมื่อถามว่าเชื่อมั่นหรือไม่ว่า ป.ป.ช. จะพิจารณาเรื่องนี้ก่อนที่สมาชิกวุฒิสภาจะหมดวาระลงในเดือนมี.ค. 57 หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า คงไม่สมารถตอบแทนป.ป.ช.ได้ แต่หลายกรณีตนอยากเห็นการดำเนินการที่รวดเร็ว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ของป.ป.ช.ด้วย


**คณาจารย์ให้กำลังใจป.ป.ช.

วานนี้ (16ธ.ค.) ได้มีกลุ่มคณาจารย์ นำโดย นายหริรักษ์ สูตะบุตร จากกลุ่มธรรมศาสตร์อภิวัฒน์ประเทศไทย และตัวแทนจากกลุ่มประชาคมจุฬา รวมทั้งกลุ่มประชาคมเกษตรศาสตร์ ประมาณ 20 คน เดินทางเข้าให้กำลังใจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผ่านนายวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้เร่งรัด และปฏิบัติหน้าที่โดยเร่งด่วน ตามอำนาจหน้าที่
นายหริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ขณะนี้การกระทำของคณะรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภา ได้ดำเนินการละเมิดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าว การออกกฎหมายนิรโทษกรรม การปฏิเสธอำนาจและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่จะต้องดำเนินการไต่สวนเอาผิด เพราะหากปล่อยให้เวลาล่าช้าออกไปก็จะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ดังนั้นจึงขอให้ ป.ป.ช. เร่งพิจารณาอย่างเร่งด่วน โดยไม่ต้องหวั่นไหวต่อแรงกดดันใดๆ และปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์
ของประเทศชาติและประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น