“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” แจง ครม.เหตุผลของการยุบสภา ติง กปปส.อ้างตัวเลขผู้ชุมนุมไม่เหมาะ ห่วงเกิดความแตกแยก ขณะที่ กกต.เผยกำหนดวันรับสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 23-27 ธ.ค. 56 ระบบเขต 28 ธ.ค. 56 - 1 ม.ค. 57 ส่วนวันเลือกตั้งล่วงหน้า 26 ม.ค. ใช้งบฯ 3.8 พันล้าน
นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีรักษาการ (ครม.) ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมชี้แจงถึงเหตุผลในการประกาศยุบสภาต่อที่ประชุม ซึ่งถือเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อคลี่คลายวิกฤต โดยรัฐบาลได้ทำเต็มที่แล้ว ทั้งการยื่นข้อเสนอผู้ชุมนุมโดยทำเวทีประชามติ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ รวมทั้งมีการชุมนุมโดยอ้างถึงตัวเลขของประชาชน แต่นายกรัฐมนตรีบอกว่าไม่ควรอ้างว่าตัวเลขเท่าใด เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความแตกแยก ทำให้ตัดสินใจคืนอำนาจให้กับประชาชนตามมาตรา 3 พร้อมกันนี้ยังได้เชิญนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.ชี้แจงถึงแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายก่อนถึงการเลือกตั้ง ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีการพิจารณาเรื่องเดียวคือแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภา
นายธีรัตถ์กล่าวอีกว่า กกต.แจ้งว่า เบื้องต้นกำหนดวันรับสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ 23-27 ธ.ค. 2556 ระบบเขต วันที่ 28 ธ.ค. 2556 - 1 ม.ค. 2557 และกำหนดให้วันที่ 26 ม.ค.เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า จะใช้งบประมาณกว่า 3,800 ล้านบาท มากว่าปี 2554 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 48 ล้านคน นอกจากนี้ หากมีการชุมนุมทางการเมืองและมีพรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องสามารถร้องเรียน กกต.ได้ กกต.ยังขอให้รัฐมนตรีระวังการให้สัมภาษณ์ โดยเฉพาะการสัญญาว่าจะให้ซึ่งอาจผิดกฎหมายได้ นอกจากนี้ การประชุม ครม.จะมีตามปกติจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่ และยังคงใช้ตำแหน่งเดิม ไม่ต้องใช้คำว่ารักษาการ
นายธีรัตถ์กล่าวว่า ส่วนร่าง พ.ร.บ.ที่ส่งทูลเกล้าฯ ไปแล้ว ไม่ถือว่าตก ดำเนินการต่อได้ แต่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยหรือเมื่อพ้น 90 วันไปไม่ได้พระราชทานคืนกลับมาถือว่าตกไป ส่วนร่างพ.ร.บ. ที่ค้างในสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 1-3 ให้ชะลอไว้ก่อน เมื่อตั้ง ครม.ชุดใหม่แล้ว และ ครม.ต้องร้องขอต่อรัฐสภาภายใน 60 วันนับแต่วันเปิดสภา ให้ยกขึ้นพิจารณาได้ ขณะที่การปรับคณะรัฐมนตรีสามารถปรับออกได้ แต่ไม่ควรแต่งตั้งบุคคลใหม่เข้ามาแทน กรณีมีการคุกคามความมั่นคงของชาติสามารถประกาศมาตราการเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก ทั้งนี้ รัฐมนตรีต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
ด้านนายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับการการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.และรัฐมนตรีต้องไม่ใช้บุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดซึ่งมีผลต่อการเลือกตั้ง สามารถจัดประชุม ครม.นอกสถานที่นอกเหนือจากปกติ และหากสั่งการมอบหมายให้มีการประชุมอบรมหรือใช้บุคลากรของรัฐ หรือเอกชน ต้องแจ้งให้กกต.ทราบด้วย
ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีรัฐมนตรีมีสถานะเป็นส.ส.ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ส.ส (วันที่ยุบสภา) และต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอีกครั้งภายใน 30 วัน นับแต่พ้นตำแหน่งรัฐมนตรี (วันที่ ครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ) กรณีรัฐมนตรีไม่มีสถานะเป็น ส.ส ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่พ้นตำแหน่งรัฐมนตรี (วันที่ ครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ) และทั้งสองกรณีต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอีกครั้งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว 1 ปี
iframe src="//www.facebook.com/plugins/likebox.php?href=https%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fpages%2Fastvpolitics%2F131777330175392%3Ffref%3Dts&width=292&height=290&colorscheme=light&show_faces=true&border_color&stream=false&header=true&appId=278873645476113" scrolling="no" frameborder="0" style="border:none; overflow:hidden; width:292px; height:290px;" allowTransparency="true">