เสร็จสิ้นไปแล้ว สำหรับปฏิบัติการ “ดาวกระจาย” กว่า 20 จุดของเครือข่ายแนวร่วมต่อตัานรัฐบาลที่ถือว่ามีการตระเตรียมสอดรับกันเป็นอย่างดีจนฝ่ายรัฐบาลพลิกตำรารับมือไม่ทัน
ปฏิบัติการ “ดาวกระจาย” กดดันสถานที่เชิงสัญลักษณ์ ได้ผลทางจิตวิทยาและยังได้ใจมวลชนที่ยังไม่ออกมาชุมนุมเพิ่มมากขึ้น ภาพของคนเกลียดตระกูล “ชินวัตร” สะท้อนได้จากคนที่ออกมาให้กำลังใจในทุกเส้นทางที่ผู้ชุมนุมเดินผ่าน
งานนี้ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เดินแล้วมีได้มีเสียแน่
โดย “สุเทพ” มีเป้าหมายจริงอยู่ที่การยึด “กระทรวงการคลัง-สำนักงบประมาณ” มาได้ถือเป็นกำไรจากปฏิบัติการ “ดาวกระจาย” เพราะเป็นการปิดตายช่องทางการนำงบประมาณมาใช้
แถมด้วยกำไรต่อที่สอง โดยฝีมือของม็อบรองเท้าผ้าใบกับใจถึงๆ เครือข่ายนักศีกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่สับขาหลอกไปมา จนท้ายที่สุดเข้าครองพื้นที่กระทรวงการต่างประเทศได้อย่างง่ายดาย
เป็นแผนอันแยบยลในการบีบให้รัฐบาลต้องขยับหลังจากที่ชอบแก้ปัญหาด้วยการนิ่งมาตลอด จนต้องออกแอ็กชันให้เห็น
จนออกอาการลุกลี้ลุกลนนัดประชุม “ครม.ชุดเล็ก” ประกาศขยายพื้นที่ “พ.ร.บ.ความมั่นคง” จากเดิมที่มีแค่ 3 เขตใน กทม.ขยายจนเลยขอบเขตครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของ กทม.และปริมณฑลในจุดสำคัญ ที่พ่วงพื้นที่ “นนทบุรี-ปทุมธานี-สมุทรปราการ” ก็เพราะหวังป้องกันสถานที่สำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งศูนย์ราชการที่เมืองนนท์ สถานีดาวเทียมไทยคมที่ อ.ลาดหลุมแก้ว ที่ขาดไม่ได้สนามบินสุวรรณภูมิที่เมืองปากน้ำนั่นเอง
วงประชุม ครม.ชุดเล็กทราบดีว่า ในแง่ของกฎหมายแล้ว พ.ร.บ.ความมั่นคงให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐแค่ควบคุมพื้นที่เท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจควบคุมถึงการสลายการชุมนุม
การประกาศครั้งนี้ก็เท่ากับว่ารัฐบาลยังเลือกที่จะตั้งรับใจไม่ถึงที่จะตอบโต้รุกกลับ เพราะหากต้องการรุกไล่ผุ้ชุมนุมแล้วก็มีทางเลือกในการประกาศภาวะฉุกเฉินงัด “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” มานวดผู้ชุมนุมได้ ซึ่ง “สุเทพ” รู้ดีการขยายพื้นที่ “พ.ร.บ.ความมั่นคง” ของรัฐบาลเพียงเพื่อต้องการบีบให้ผู้ชุมนุมถอยและไม่ให้ถูกยึดพื้นที่เพิ่มเติมอีก เกมหลังจากนี้รัฐบาลจะนำประเด็นการยึดสถานที่ราชการไปฟ้องร้องต่อ “ศาลปกครอง” พร้อมขอให้เปิดการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อลดความชอบธรรมของการชุมนุมลง
และสามารถนำคำสั่ง “ศาลปกครอง” ไปกล่าวอ้างไม่ให้ “ประชาชน” ออกมาร่วมชุมนุมได้เป็นสงครามเชิงจิตวิทยาที่ “รัฐบาล” คิดอ่านเอาไว้ อีกขาหนึ่งก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความดำเนินคดีต่อ “สุเทพ” เพื่อค้ำคอเอาเอง แบบว่าเผลอเมื่อไรจับกุมทันที
นอกจากนี้ยังหวังกระทบชิ่งให้ “ขุนพลค่ายสีฟ้า” ที่ออกมาเดินร่วมชุมนุมบนถนน ทั้งในทางลับ-ทางแจ้งหันกลับมาเล่นเกมในสภา ลดดีกรีการชุมนุมลง แต่ชั่วโมงนี้ รัฐบาลก็หวังให้ “ขุนพล ปชป.” กลับเข้าเล่นเกมในสภา กับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มีคิวกันในสองวันนี้ 26-27 พ.ย.ก่อนลงมติกันวันที่ 28 พ.ย. และปิดสมัยประชุมไป โดยรัฐบาลหวังว่า 3-4 วันนี้จะใช้เวทีสภาแย่งซีนจากเกมนอกสภาที่ต้องถือว่าจุดติดและยึดพื้นที่สื่อไปแทบทั้งหมด
ที่สำคัญ “สุเทพ” ประกาศไปแล้วว่า “รัฐบาลปูแดง” ถือเป็น “โมฆะรัฐบาล” หมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศต่อไป
ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์หันกลับเข้ามาเล่นเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบเต็มเหนี่ยว ก็ถือเป็นการการันตีความชอบธรรมให้แก่ “รัฐบาล-เพื่อไทย” ไปโดยปริยาย แต่ขาหนึ่งของประชาธิปตย์ก็มองว่า การเดินเกมบนถนนต้องทำควบคู่กันไปกับเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจ เติมเชื้อ-ขยายแผลให้รัฐบาลเพื่อเพิ่มความไม่ชอบธรรมในการบริหารประเทศเป็นพอ
เมื่อเติมเชื้อ-ขยายแผล คนที่เดือดร้อนมากที่สุดหนีไม่พ้น “ปูแดง” เพราะการบริหารงานที่ผ่านมาเปิดช่องให้ทุจริตมากมาย ดีไม่ดี “ปชป.” อภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จจะได้ “มวลชน” มาเป็นพวกอีกมากโข
อีกทางหนึ่งวงใน “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” (สมช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้สั่งการให้ สมช.จัดเตรียมร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้แล้วเพื่อป้องกันเอาไว้ หากเกิดเหตุความจำเป็นที่จะต้องใช้จะได้ไม่เสียเวลานั่งร่างกัน แต่ติดปัญหาอยู่ที่ถ้า “รัฐบาล” ต้องการประกาศใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” จะใช้ “ทหาร” หรือ “ตำรวจ” ในการดูแลความสงบเรียบร้อย เพราะตามบทกฎหมายแล้ว “รัฐบาล” ต้องระบุหน่วยงานที่จะให้อำนาจสิทธิขาดในการดูแลสถานการณ์ ซึ่งสามารถใช้ “ตำรวจ” ได้ แต่ในเชิงสัญลักษณ์มันไม่ถือว่าเด็ดขาด
แต่หากเลือกให้ “ทหาร” รับผิดชอบ “รัฐบาล” ก็ไม่ไว้วางใจมากเท่าที่ควรเพราะมีตัวอย่างให้เห็นแล้วจากการดื้อแพ่งของ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” อดีต ผบ.ทบ. ที่รัฐบาล “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” มอบอำนาจให้จัดการม็อบพันธมิตรฯ แต่ “พล.อ.อนุพงษ์” ไม่ทำ
นาทีนี้ แม้ความสัมพันธ์ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ. กับ “ยิ่งลักษณ์” จะยังคงชื่นมื่นพอสมควร แต่ในใจลึกๆ แล้วคนเครือข่าย “ชินวัตร” ไม่เคยไว้ใจ “บิ๊กตู่” ได้สนิทใจ แม้แต่วินาทีเดียว
จังหวะก้าวเดินของคนเครือข่าย “ชินวัตร” จึงต้องระมัดระวังตลอดเวลา หากก้าวพลาดอาจตกอยู่ในภาวะตั้งรับจนต้องสูญเสียอำนาจรัฐก็เป็นได้
เกมหลังจากนี้จึงต้องจับตาว่า ใครเดินหมากได้สุขุมนุ่มลึกมากกว่ากัน เพราะต่างฝ่ายต่างอยู่ในสถานะที่เสี่ยงเหมือนกัน เดิมพันสูงเท่ากัน อยู่ที่ฝั่งใดจะมีความชอบธรรมมากกว่าเท่านั้นเอง