xs
xsm
sm
md
lg

มติ “ประชาธิปัตย์” เอกฉันท์ ลาออก ส.ส.ยกพรรค! “อภิสิทธิ์” ย้ำ “ปู” จุดไฟเผาบ้าน ต้องดับไฟไล่ขโมย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลาออกจากการเป็น ส.ส.ทั้งพรรค เคลื่อนไหวร่วมกับ กปปส. “อภิสิทธิ์” แถลง ชี้นายกฯ-รัฐบาลไร้สำนึกผิด กระสันครองอำนาจ เอารัฐสภามาเป็นตัวประกัน เปรียบคนที่ได้รับมอบหมายดูแลบ้านกำลังจุดไฟเผา-ลักขโมย ต้องดับไฟไล่ขโมยก่อน ยันไม่รับตำแหน่งการเมือง หากมีความเปลี่ยนแปลงนอกรัฐธรรมนูญ และระบบรัฐสภา เดินหน้าหนุนปฏิรูปประเทศ



วันนี้ (8 ธ.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกประชุม ส.ส.เป็นวาระพิเศษ ทั้งนี้ เพื่อรับฟังความเห็นทางออกของประเทศ และสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน โดยมีกระแสข่าวความเป็นไปได้ที่จะให้ ส.ส.ของพรรคลาออกทั้งหมด เพื่อกดดันรัฐบาลก่อนการเคลื่อนไหวใหญ่ของในวันพรุ่งนี้ จากนั้นในช่วงบ่ายได้มีการลงมติ

เมื่อเวลา 15.35 น. ทวิตเตอร์ @Apirak_DP ของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และเฟซบุ๊ก Sirichok Sopha ของนายศิริโชค โสภา เปิดเผยว่า ในการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ มีมติให้ลาออกจาก ส.ส.ยกพรรค เพื่อเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ

ต่อมาเมื่อเวลา 15.52 น. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำ กปปส.ได้ประกาศต่อผู้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ท่ามกลางเสียงโห่ร้องดีใจของผู้ชุมนุม โดยกล่าวว่า นี่คือสัญญาณแห่งชัยชนะของประชาชน วันนี้ขบวนประชาชนอันไพศาลของเราได้มีกลุ่ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมการต่อสู้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าชัยชนะเป็นของประชาชน กปปส.พร้อมที่จะรับแนวร่วมมวลมหาชนเพิ่มเติมเพื่อร่วมกันสร้างอนาคตของประเทศนี้ และ กปปส.ยินดีต้อนรับมวลชนจากทุกที่ร่วมกันล้มระบอบทักษิณในวันพรุ่งนี้

ต่อมาเวลา 16.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย ส.ส.พรรค แถลงหลังการประชุม ส.ส.พรรค เพื่อประเมินสถานการณ์บ้านเมือง ที่อยู่ในขั้นวิกฤตต้องหาทางออกให้แก่ประเทศ และแสดงจุดยืนของพรรคว่า พรรคจะทำหน้าที่ทั้งในและนอกสภาผู้แทนราษฎรในการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ความเป็นธรรม รักษานิติรัฐ นิติธรรม ปกป้องระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ การทำหน้าที่ในสภาทำอย่างเต็มความสามารถใช้สิทธิในฐานะเสียงข้างน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่รัฐบาลผลักดันกฎหมาย หรือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม ทำลายระบบ การต่อสู้ของ ส.ส.ในการตรวจสอบมั่นใจว่าประชาชนได้เห็นการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ในหลายกรณีแม้ว่าในที่สุดรัฐบาลจะอาศัยเสียงข้างมากในการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมที่คนต่อต้านทั้งประเทศเพราะมีเป้าหมายล้างผิดคนโกง ก่อคดีรุนแรง การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการฉ้อฉลในการใช้อำนาจ ที่สุดการยับยั้งกฎหมายหรือนำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถระงับความเสียหายได้ส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รัฐบาล และพรรคเพื่อไทย กลับไม่เคยแสดงความรับผิดชอบ หรือสำนึกต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากไม่สำนึกแล้ว กลับประกาศท้าทายไม่ยอมรับอำนาจศาล และมีความพยายามอย่างต่อเนื่องใช้กลไกสภาทำผิดเพิ่มเติม หรือแสดงออกไม่ยอมรับในบทบาทศาลและองค์กรตรวจสอบ นอกจากแถลงไม่ยอมรับอำนาจศาลแล้วนายกก็ไม่ดำเนินการใดๆ กับร่างรัฐธรรมนูญที่นำขึ้นทูลเกล้า มีประธานสภาฯ และสมาชิกรัฐสภาไปแจ้งความกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดีกับตุลาการเสียงข้างมากด้วย ดังนั้นบทบาทของพรรคในระบบของสภาได้ทำเต็มความสามารถ โดยงานชิ้นสุดท้ายที่ทำอย่างสมบูรณ์คือการถอดถอน ส.ส.และ ส.ว.314 คน ทำผิดรัฐธรรมนูญในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ ซึ่งคำร้องเพิ่งจะสมบูรณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ธ.ค. เวลา 15.00 น. และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ ป.ป.ช. แล้ว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคแสดงจุดยืนมาตลอดว่าการแก้ปัญหาต้องเริ่มต้นจากการแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมแล้ว โดยเรียกร้องมาระยะเวลาหนึ่งแต่ไม่มีการตอบสนอง รัฐบาลสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากยังพยายามทำทุกวิถีทางบิดเบือนสถานการณ์ความเป็นจริง อาศัยกลไกต่างๆ ยื้อเวลาไม่แสดงความรับผิดชอบเพื่อครองอำนาจต่อไป แม้กระทั่งคำแถลงของนายกรัฐมนตรีล่าสุด ก็ยังพยายามที่จะดำรงตนอยู่ในอำนาจ อ้างกระบวนการที่ทราบดีอยู่แล้วว่ามีความคลุมเครือที่จะเกิดการยืดเยื้อของปัญหา เช่น การเสนอทำประชามติ โดยไม่รู้ว่าจะถามอะไรกับประชาชน ในขณะที่รัฐบาลไม่มีความชอบธรรมที่จะดำเนินการเรื่องนี้แล้ว แต่นายกฯ ยังพยายามเบี่ยงเบนประเด็นโดยอ้างว่าผู้ชุมนุมหรือแกนนำผู้ชุมนุมจะไม่ยอมรับ ทั้งที่ตนเคยแสดงความเห็นแล้วว่านายกฯที่รู้ว่ารัฐบาลทำผิด หมดความชอบธรรม ต้องแสดงความรับผิดชอบโดยไม่ต้องอ้างแกนนำผู้ชุมนุมว่าจะคิดอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่พึงกระทำ จากนั้นสังคมจะเป็นผู้หาคำตอบต่อไป แต่นายกฯ ใช้วิธีการตั้งเงื่อนไขกับคนอื่น และบิดเบือนข้อเท็จจริงในปี 2549 ด้วย เช่น อ้างว่าถ้ามีการยุบสภาแล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองใหญ่ไม่ร่วมมือจนนำไปสู่การรัฐประหารนั้น ความจริงทุกพรรคไม่ลงสมัคร ไม่ใช่เฉพาะพรรคใดพรรคหนึ่ง จากนั้นมีการจัดเลือกตั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ประกาศชัดเจนว่าลงสมัครเลือกตั้ง แต่เหตุการณ์ที่นำไปสู่การรัฐประหารคือรัฐบาลระดมผู้สนับสนุนตัวเองออกมาเสี่ยงต่อการปะทะของประชาชน นายกฯจึงไม่มีข้ออ้างที่จะแก้ปัญหาให้ประเทศโดยการแสดงความรับผิดชอบ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ที่ประชุม ส.ส.ของพรรคเห็นพ้องต้องกันว่าหมดเวลาที่จะรอคอยรัฐบาลแสดงความรับผิดชอบแล้วหลังจากที่รอคอยมานาน พรรคจึงต้องยืนยันความไม่ชอบธรรมของสภาชุดปัจจุบัน ของหัวหน้ารัฐบาลที่ไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออกมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อยืนยันถึงความไม่ชอบธรรมของสภาชุดปัจจุบัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาถือว่าได้พรรคทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย และเสียใจที่สภาเสียงข้างมากทรยศต่อความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้ แต่อ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้งไม่รับผิดชอบใดๆ พร้อมกับยืนยันว่าพรรคไม่ประสงค์เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ยังยึดมั่นระบบรัฐสภา แต่ระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลกมาพร้อมสำนึกความรับผิดชอบ เมื่อมีการสูญเสียความไว้วางใจในวงกว้าง ทำผิดกฎหมาย รัฐธรรมนูญ ทั่วโลกในระบบรัฐสภาต้องแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่เอาระบบรัฐสภามาเป็นตัวประกันความประสงค์ที่จะอยู่ในอำนาจอีกต่อไป

“พรรคฯ ได้แสดงจุดยืนว่าสนับสนุนการคืนอำนาจให้กับประชาชนและการปฏิรูปประเทศ แต่รูปแบบวิธีการที่จะดำเนินการยังมีความหลากหลายอยู่ ซึ่งนักวิชาการบางคนเปรียบเทียบว่า ถ้าบ้านเมืองหรือระบบสภาเหมือนบ้าน เมื่อปี 2544 เจ้าของบ้านคือประชาชนมอบให้เสียงข้างมากปัจจุบันเป็นผู้ดูแลบ้าน ส่งพวกตนไปช่วยตรวจสอบ คนที่ได้รับมอบให้ดูแลบ้านจุดไฟเผาบ้านและลักขโมยถูกจับได้ประชาชนบอกไม่มีความชอบธรรมที่จะดูแลบ้านอีกต่อไป คนที่เป็นขโมยและจุดไฟเผาบอกไม่รู้ว่าจะสร้างบ้านอย่างไร วันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของท่านแล้วแต่ต้องดับไฟไล่ขโมยก่อนแล้วสังคมไทยจะบอกเองว่าจะสร้างบ้านอย่างไร พวกผมตัดสินใจเพื่อรักษามาตรฐานความรับผิดชอบของสภา มองประโยชน์ประเทศไม่มีประโยชน์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง แม้จะออกจาก ส.ส. ผมและเพื่อนที่ลาออกยืนยันว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามกลไกปกติตามรัฐธรรมนูญและระบบรัฐสภาจะไม่รับตำแหน่ง ไม่มีส่วนแย่งชิงอำนาจ เพื่อไม่ให้เกิดการใส่ร้ายป้ายสีพรรค ในขณะนี้จึงเหลือแต่รัฐบาลที่ยังไม่สำนึก ซึ่งผมก็ไม่กล้าประเมินสำนึกของรัฐบาล เพราะถ้าเป็นคนอื่นจบไปนานแล้ว แต่ขอบอกว่าวันหนึ่งรัฐบาลก็จะถึงจุดจบยิ่งจบช้าก็ยิ่งจบไม่สวย” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า การตัดสินใจของพรรคไม่ได้ตัดสินใจด้วยอารมณ์ ความรู้สึกหรือกระแสแต่ตัดสินใจด้วยสำนึกยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง จึงลาออกและเรียกร้องว่านายกและรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการคืนอำนาจให้กับประชาชน โดยยุบสภาเป็นทางหนึ่งของการคืนอำนาจจากนั้นต้องมีกระบวนการทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าประเทศจะนำไปสู่การปฏิรูป แต่พรรคก็ไม่สามารถบังคับรัฐบาลให้รัฐบาลมีความละอายได้ และไม่สามารถรอความละอายจากรัฐบาลได้ จึงต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องด้วยการสละตำแหน่ง ส.ส.เพื่อยืนยันว่าสภาหมดความชอบธรรม พวกตนเป็นประชาชนคนไทยพร้อมต่อสู้เพื่อให้ประเทศเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ให้เกิดการปฏิรูปประเทศ ยึดมั่นว่าทำทุกอย่างภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และพรุ่งนี้จะใช้สิทธิในฐานะประชาชนเพื่อแสดงออกในทางการเมือง

“หากนายกฯ ยุบสภาผมก็พอใจมากกว่านายกฯ ไม่ทำอะไร และขอร้องว่าอย่าตั้งคำถามอื่นล่วงหน้าเพราะจะกลายเป็นเครื่องมือยื้อเวลาให้รัฐบาลสะสมวิกฤตให้กับประเทศเพิ่มขึ้น ขอให้รัฐบาลยุบสภาก่อน เพราะก่อนหน้านี้พวกผมเป็นรัฐบาลบอกว่าอยู่ไปก็ขัดขวางความเจริญ ทำไมวันนี้พวกผมไม่อยู่จะมาเห็นคุณค่าพวกผมขึ้นมา ขณะนี้รัฐบาลหมดสภาพ หมดความชอบธรรมในการเป็นเจ้าภาพใดๆ ทั้งสิ้น ต้องเริ่มต้นจากการแสดงความรับผิดชอบก่อน และอยากให้องค์กรต่างๆ ที่ถูกดึงมาเป็นคนกลาง พิจารณาเรื่องนี้ด้วย หลังจากนี้ไปถ้าเกิดความรุนแรงก็เป็นความรับผิดชอบรัฐบาล เพราะหากนายกยังไม่ปลดสลักความขัดแย้งก็จะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ การชุมนุมประชาชนหมุนเวียนเป็นล้านมาเป็นเดือนไม่เคยมีความรุนแรง จนกระทั่งรัฐบาลเอาผู้สนับสนุนของตัวเองมาก็เริ่มมีความรุนแรง และมีวิธีการใช้ความรุนแรงของคนที่อ้างว่าไม่เกี่ยวกับใครแต่มองออกว่าไม่ใช่มือที่สามแต่เป็นมือที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเป็นใคร” นายอภิสิทธิ์กล่าว

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับว่า ในขณะนี้แนวทางการปฏิรูปประเทศยังไม่ตรงกันในเรื่องรูปแบบและวิธีการ ซึ่งในส่วนข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ก็ยืนยันว่าอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ เพียงแต่การตีความรัฐธรรมนูญจะตรงกันหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในขณะที่กองทัพทำหน้าที่หลักในการคุ้มครองดูแลความปลอดภัยประชาขน ซึ่งตนเห็นว่าเป็นบทบาทที่เหมาะสม อีกทั้งสถานการณ์ในปัจจุบันไม่เหมือนปี 48-49 คือ ในปี 48-49 มีการต่อต้านความไม่ชอบธรรมหลายอย่างแต่หลายเรื่องกระบวนการไม่ยุติ ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะองค์กรอิสระ ป.ป.ช. ศาล ถูกวิจารณ์ว่าถูกแทรกแซงคดีไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่วันนี้องค์กรเหล่านี้ยังทำงานไม่ว่าจะเป็น ปปช. หรือศาลรัฐธรรมนูญมีคดีต้องพิจารณา แต่รัฐบาลไปปฏิเสธอำนาจศาลจนบ้าานเมืองติดกับความขัดแย้ง นี่คือต้นตอวิกฤตรอบล่าสุด จะหยุดยั้งได้ต่อเมื่อรัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ

“ไม่น่าเชื่อว่าขนาดในการเลือกตั้งซ่อมสามเขตไม่มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงเลย รัฐบาลยังไม่สำนึกว่ารัฐสภาไม่มีความชอบธรรม ผมคิดว่าถ้ายุบสภาแล้วทุกอย่างน่าจะง่ายขึ้นในการหารือเพื่อกำหนดแนวทางปฏิรูป แต่ที่กระบวนการหารือเกิดไม่ได้เพราะรัฐบาลยังยื้ออำนาจเพื่อใข้อำนาจตลอดเวลา ถ้าแสดงความรับผิดชอบก็จะเปิดช่องให้คนจำนวนมากพูดคุยหาทางออกได้ พรรคสนับสนุนการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ กปปส.มีความเป็นอิสระและข้อเรียกร้องของตัวเอง ส่วนพรรคยังดำรงอยู่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นพรรคการเมืองทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในการต่อสู่แข่งขันทางการเมืองต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว

หลังการแถลงข่าวเสร็จสิ้น นายอภิสิทธิ์ได้นำ ส.ส.ทั้งหมด 153 คนยื่นใบลาออกต่อรองผู้อำนวยการพรรคซึ่งมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (8 ธ.ค.) โดยนายอภิสิทธิ์ และ ส.ส.ต่างโชว์หนังสือแสดงเจตจำนงขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อสื่อมวลชนด้วย

อีกด้านหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า

พรรคประชาธิปัตย์ได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ที่ออกมาคัดค้านความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยอย่างใกล้ชิดตลอดช่วงเวลา 1 เดือนเศษที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มการคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ล้างผิดให้กับพวกพ้องที่ทุจริตคอร์รัปชั่นและละเมิดกฎหมายของบ้านเมือง ไปกระทั่งถึงการเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย แสดงความรับผิดชอบต่อการลุแก่อำนาจ ใช้เสียงข้างมากในรัฐสภา ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ และยังประกาศท้าทายไม่ยอมรับต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง

ตลอดเวลารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร กลับไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบ ต่อความผิดพลาดและความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งยังแสดงความดื้อรั้น ปฏิบัติการท้าทายต่อเสียงเรียกร้องของพี่น้องประชาชนด้วยการข่มขู่ คุกคาม และใช้ความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นอกจากนั้นยังซ้ำเติมสถานการณ์ให้นำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆด้วยการมีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ชุมนุมด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการใช้กลไกรัฐ ให้สกัดกั้นการออกมาชุมนุมของประชาชนอย่างแข็งกร้าว อันจะยิ่งทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายเกิดความเสียหายไม่มีที่สิ้นสุด

พรรคประชาธิปัตย์ได้ย้ำมาตลอดเวลาว่าจะต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ชอบธรรมเหล่านั้น ทั้งในและนอกรัฐสภา ซึ่งพรรคฯ ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวแล้วอย่างเต็มความสามารถ แม้ในรัฐสภาจะเป็นเสียงข้างน้อย แต่ก็ได้ทำงานอย่างเข้มแข็งจนสามารถระงับยับยั้งการกระทำของรัฐบาลและเสียงข้างมากจนสำเร็จในหลายกรณี ขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ และยังพยายามกลบเกลื่อน บิดเบือน และยื้อเวลาเพื่อรักษาอำนาจของตนเองแต่อย่างเดียว

พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ และสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้การควบคุมของเสียงข้างมากโดยพรรคเพื่อไทย ก็หมดสิ้นความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัตติอีกต่อไป จึงเห็นว่าเราไม่อาจร่วมสังฆกรรม กับระบบการเมืองภายใต้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ได้อีกต่อไป

ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ขอลาออกจากสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป

พรรคประชาธิปัตย์ขอยืนยันว่า พรรคฯไม่ประสงค์จะเห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และไม่ประสงค์จะเข้าไปมีตำแหน่งหรือรับผลประโยชน์ใดๆ จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นจากการต่อสู้ของพี่น้องประชาชน พรรคฯยังคงยึดมั่นในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองระบบรัฐสภา ภายใต้ระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อย่างมั่นคงตลอดไป

พรรคประชาธิปัตย์
8 ธันวาคม 2556


แหล่งข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ นายบัญญัติบรรทัดฐาน สภาที่ปรึกษาพรรค เป็นผู้เสนอว่า ให้มีการลาออกยกพรรค เพื่อทำหน้าร่วมกับประชาชน เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่เป็นโมฆะ

ซึ่งแม้มติในที่ประชุมจะเห็นด้วยเป็นเอกฉันท์ สนับสนุนการลาออก แต่ตลอดการหารือกว่า 4 ชัวโมง บรรดา ส.ส.บางส่วน ได้แสดงความกังวลว่า หาก ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ลาออกทั้งหมดแล้ว รัฐบาลกลับไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบ หรือแสดงสปิริตยุบสภาลาออก แต่กลับส่ง ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ลงสมัครเลือกตั้งซ่อมในทุกเขต โดยเฉพาะเขตที่พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ยังสูสีกันอยู่นั้น จะทำให้พรรคเสียฐานเสียงหรือไม่

สุดท้ายมีการวิเคราะห์ว่า เรื่องฐานเสียงก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่หาก ส.ส. ของพรรค ไม่ยอมแสดงจุดยืนด้วยการลาออกร่วมกับ มวลชนโดยเฉพาะ กปปส. แล้ว จะถูกประชาชนมองว่า ปากก็พูดว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรมและเป็นโมฆะ แต่ฝ่ายค้านกลับยังร่วมสังฆกรรมในระบบรัฐสภาที่เป็นโมฆะอีก

นอกจากนี้มีรายงานว่านายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เข้าประชุมในครั้งนี้ เนื่องจากติดภารกิจส่วนตัว
ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์โชว์ใบลาออก หลังจากพรรคมีมติ ส.ส.ลาออกยกพรรค










กำลังโหลดความคิดเห็น