สำหรับการชุมนุมของกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ที่ยืดเยื้อมานานกว่าหลายสัปดาห์ ตอนนี้คงเรียกว่าสุดทางตัน ไร้ทางดันแล้วจริงๆ หากไม่กระทำการทุบหม้อข้าว อาจกลายเป็นว่าเสียแผ่นดินให้พวกรัฐบาลโกงเมืองเป็นแน่แท้ การกวักมือเรียกมวลชนในวันที่ 9 ธันวาคม จึงถือเป็นไพ่ใบสุดท้าย ชี้ชะตาว่าประเทศเราจะหลุดจากระบอบทักษิณได้หรือไม่!?
ประชาชนไม่หวัง ส่อยืดเยื้อ
เหตุการณ์การชุมนุมที่ยืดเยื้อมาหลายสัปดาห์ ยิ่งนานไปยิ่งสร้างความไม่เข้าใจจนเกิดปรากฏการณ์ไทยงงขึ้นมาแล้ว เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยเฉพาะหลายฝ่ายยังมองไม่เห็นหนทางว่าการเรียกร้องของ กปปส. ครั้งนี้ จะหาทางลงได้อย่างไร ในแง่ของเป้าหมายในการชุมนุมก็ยังไม่แจ่มชัดนักในความคิดเห็นของใครหลายคน ตั้งแต่อารยะขัดขืน มาจนถึงการปลุกระดมให้คนเข้ามาร่วมในวันชี้ชะตา ทั้งนี้ ทางทีมงาน ASTV ผู้จัดการ Live ในลงไปสำรวจพื้นที่การชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน เมื่อได้สัมภาษณ์ผู้ชุมนุมบางส่วนถึงวันดีเดย์ 9 ธันวาคม ต่างก็มีท่าทีไม่แน่ใจ และคาดหวังให้สถานการณ์ไม่บานปลายและรุนแรง
“ตอนนี้ผมมองไม่ออกนะ ไม่เชื่อมั่นว่าเรื่องจะยุติลงได้ภายในวันสองวันนี้ เพราะยังไงดูท่าแล้วรัฐบาลต้องไม่ยอมแน่นอน และอาจจะจบลงด้วยความรุนแรง” ปัญญพัฒน์ เข็มราช ช่างภาพอิสระ ผู้ตามติดเวทีชุมนุม เก็บภาพสถานการณ์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทุกคืนกล่าว
“พรุ่งนี้จะจบหรือไม่จบ คงตอบยาก เพราะไม่มีใครหยั่งรู้อนาคต แต่พอจะคาดเดาได้จากการติดตามข่าวสารเชื่อได้ว่า ถ้ารัฐบาลยังแสดงท่าทีในลักษณะเชิญชวนเรียกแขก หวงอำนาจ และพยายามซื้อเวลาแบบนี้ต่อไป คงไม่จบง่ายๆ
รัฐบาลนี้หมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศมานานแล้ว ตั้งแต่เรื่องออกกฏหมายล้างผิดให้ทักษิณ ไม่ยอมรับอำนาจศาล สนับสนุนเสื้อแดงออกมาชุมนุมที่ราชมังคลาฯ จนเกิดเรื่องกับนักศึกษารามคำแหง และเลือกปราบประชาชนที่เดินไปทำเนียบและบชน.ด้วยแก๊สน้ำตา2วัน แทนที่จะถอย ถ้าเป็นคนปกติมีสำนึก เขาจะถอยโดยการยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนไปแล้ว แต่เรามีรัฐบาลอย่างนี้
คนไทยที่รักความถูกต้องคงต้องช่วยกันออกมาทำหน้าที่กดดัน ให้รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชนและคิดว่าคงต้องเหนื่อยกันอีกหลายรอบ เพราะคนที่อยู่ต่างประเทศซึ่งเป็นคนชักใยจริงๆ คงไม่ยอมง่ายๆ” ชาติณรงค์ วิสุตกุล นักเขียนรางวัลสุภาว์ เทวกุล และอาจารย์ประจำภาควิชาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมชุมนุม
“ประชาชนจะกำชัยหรือปราชัย ผมคิดว่าสองวันนี้คงรู้ผล ว่าจะรบต่อหรือพอแค่นี้ ถามว่าพรุ่งนี้จะชนะไหม ชนะด้วยอะไร ผมในฐานะมวลชนคงไม่มีคำตอบ ให้มันเป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ แต่สิ่งที่จะหาญหักทำให้สำเร็จได้ ประกอบด้วย 2 สิ่ง คือ
1. มวลมหาประชาชน ทุกภาคส่วน ทุกองคาพยพที่จะร่วมกันออกมาก้าวเดินแสดงพลังอันบริสุทธิ์ด้วยสองมือเปล่า สองเท้าสวมผ้าใบกับหัวใจที่กล้าหาญ วันนี้พี่น้องต่างจังหวัดหลั่งไหลกันเข้ามาไม่ขาดสาย ไม่ย่อท้อต่อตะปูเรือใบ ด่านตรวจ และอุทกภัย มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่นัดรวมตัวอย่างคับคั่ง หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชนที่ประกาศร่วมสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ประชาชน จะมากี่ล้านบอกไม่ได้วัดใจประชาชน ถ้ามาน้อย แกนนำก็มอบตัวสู้คดีข้อหากบฏ ประชาชนก็แยกย้ายกลับบ้าน คนที่พ่ายแพ้ไม่ใช่เพียงสุเทพ แต่หมายถึงชาติบ้านเมือง
2. สามัญสำนึกของผู้นำประเทศ วันนี้ไม่ใช่เรื่องความเห็นต่าง สีเสื้อ แต่เป็นเรื่องความถูกต้อง ซึ่งรัฐบาลนี้ได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรง จนเกิดภาวะล้มละลายทางความเชื่อถือ เป็นวิกฤตของความเชื่อมั่นที่จะวางใจให้บริหารประเทศ กลุ่มผู้ชุมนุมถึงต้องออกมาต่อต้านโดยสันติ อหิงสา หวังสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยกองทัพประชาชน ปฏิเสธเสียงแข็งว่าเราไม่ต้องการการปฏิวัติ
วันที่ 24 พ.ย. เราพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การชุมนุมภาคประชาชน ทุบทุกสถิติว่ามีผู้มาชุมนุมมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เต็มถนนราชดำเนินล้นสนามหลวง ปิดสะพานพระปิ่นเกล้า ล้นหลามถึงโรงพยาบาลมิชชั่นนั้นคือพลังของมวลมหาประชาชน วันที่9 เราจะก้าวมาด้วยใจไปด้วยกัน ถนนทุกเส้นมุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล เส้นทางจราจรในกทม.ทุกเส้นจะเป็นอัมพาต
ถ้ามวลมหาประชาชนออกมามาก เพื่อแสดงการปฏิเสธการทำงานของรัฐบาลชุดนี้หวังว่าต่อมสามัญสำนึกของท่านนายกฯ คงจะทำงานก้าวลงจากอำนาจ สร้างประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงโดยประชาชนเพื่อประชาชน โดยปราศจากการสูญเสีย ผมไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร หนทางข้างหน้าจะมีแก๊สน้ำตาหรือกระสุนปืน แต่ผมจะออกไปเป็นหนึ่งในล้านอย่างมีสติ” ศุภฤกษ์ เอมโอช หนึ่งในผู้ชุมนุม
อีกมุมองหนึ่งจากผู้เคยเข้าร่วมชุมนุมและเคยร่วมปราศรัยบนเวทีการชุมนุมครั้งนี้อย่าง สุหฤท สยามวาลา อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2556 และผู้บริหารบริษัท ดีเอชเอ สยามวาลา ถึงแม้ในวันพรุ่งนี้ จะไม่สามารถเข้าร่วมชุมนุม เนื่องจากติดภารกิจเดินทางไปยังต่างประเทศ แต่ยังได้ฝากความคิดเห็นผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยตัวเขาเองคาดว่า ในวันที่ 9 ธันวาคม นั้นเหตุการณ์ไม่น่าจะม้วนเดียวจบเช่นกัน
“ไม่ครับ ผมว่ามันยังไม่ให้จุดสรุป แต่มันอาจจะเป็นการกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผมก็หวังว่าจะไม่มีอะไรไปจุดชนวนให้มันแย่ไปมากกว่านี้ แต่ตามปกติแล้ว มันก็คงจบไม่ได้ภายในวันเดียวหรอกครับ
ส่วนเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์ลาออก ในฐานะที่เค้าเป็นนักการเมืองอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เห็นคนมากมายออกมาร่วมชุมนุมข้างนอก แล้วถ้าเค้าจะต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ณ วันนี้ ผมคิดว่าทางออกนี้ เป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ใจจริงผม คิดว่าถ้าจะให้ดีกว่านี้ ผมว่าควรปฏิรูปพรรคให้เฟี้ยวไปเลยดีกว่า เพราะตอนนี้ทุกคนกำลังต้องการทางเลือกใหม่ ทางเลือกที่จะสดใส ซึ่งจะเป็นใครก็ได้นะครับ”
นอกจากนั้น สุหฤทยังทิ้งท้ายด้วยว่า นักการเมืองเฟี้ยวในแบบฉบับของเขานั้นเพียงแค่มีจริยธรรม นำประเทศไปในหลักเหตุผลที่ถูกต้องก็เพียงพอแล้ว
“ผมว่าแค่มีจริยธรรมครับ ไม่ต้องถึงขนาดดีเลิศเลอประเสริฐศรี อย่างตอนนี้ทำอะไรทีก็รู้สึก โอ้ย ตายละ คือแค่อยากได้ใครที่ขึ้นมาแล้วมีจริยธรรม นำประเทศไปในหลักเหตุผลที่ถูกต้อง ซึ่งผมว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนมุ่งหวังอยู่ และผมเชื่อว่าประเทศไทยเนี่ยจะพุ่งไปไหนต่อไหนเลยครับ เสียดายที่เราต้องมาจมอยู่แบบนี้
อีกอย่าง ตอนนี้ผมมุ่งอย่างเดียวเลยครับว่าให้เรายิ้มกันบนความแตกต่างได้ คือเราไม่ต้องด่ากัน ไม่ต้องเกลียดกัน จนถึงขั้นอยากจะแยกประเทศ คือแตกต่างกันได้ ยิ้มให้กัน เอ็งก็รักพรรคการเมืองนั้นไป ข้าก็รักพรรคการเมืองนี้ไป เวลามันมีความคิด ความเชื่อทางการเมืองที่ออกมา ต่างคนก็ต่างมีสิทธิในการแสดงออก แต่ผมอยากจะเห็นจริงๆ ก็คือ กลับมาอยู่ด้วยกันบนความแตกต่าง ที่ไหนๆ ก็มีความแตกต่าง มันไม่จำเป็นต้องไปทะเลาะเบาะแว้งกัน”
โหรฟันธง!! วันนี้ต้องเปลี่ยน
ในด้านของโหราศาสตร์ที่มักมีการปล่อยคำทำนายออกมาต่างๆ นานา ว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรง หรือจะมีการผลัดเปลี่ยนของรัฐบาล ไปจนถึงการได้รับประชาธิปไตยเต็มใบ ถูกส่งต่อผ่านปากต่อปาก ซึ่งจุดพลิกผันของประเทศในเรื่องของการเมืองถูกทำนายมาตั้งแต่ต้นปี ดังคำทำนายของ ฟองสนาน จามรจันทร์ โหรสมัครเล่น และอดีตสื่อมวลชนอาวุโส ซึ่งเคยเปิดเผยกับสำนักข่าวทีนิวส์ ผ่านรายการเจาะข่าวร้อนล้วงข่าวลึกว่า ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน เวลา 18.26 น. เป็นต้นไปอาจมีเรื่องร้ายที่มีลักษณะเหตุการณ์คล้ายกับ 14 ตุลา 2516 ซึ่งดูตามหลักโหราศาสตร์ดวงเมืองไม่ดี ส่วนถามว่าช่วงไหนที่ดวงประเทศจะดีขึ้น โหรฟองสนานกล่าวว่า ช่วงวันที่ 6-11 ธันวาคม 2556 ดวงเมืองจะดีขึ้น และวันที่ 9 ธันวาคมจะมีการเปลี่ยนแปลง
อีกทั้งคำทำนายของ หมอนิด-กิจจา ทวีกุล เจ้าของฉายา หมอทำนายญาณวิเศษ ก็เคยได้ทำนายจากดวงของนายกฯ หญิงว่า ในปี พ.ศ. 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเจอปัญหาต่างๆ เข้ามาเยอะมาก ประชาชนจะทนไม่ไหว จะเกิดการชุมนุมเกิดขึ้นรุนแรงบานปลาย ถึงขั้นนำคนออกมาปะทะกัน เสื้อแดงออกมาชนกับเสื้อเหลือง การชุมนุมต่อเนื่องระยะยาว มีการเกณฑ์คนเสื้อแดงมาเป็นจำนวนมาก เพื่อปะทะกับฝ่ายตรงข้ามที่จงรักภักดี จนเกิดเป็นสงครามประชาชน
รวมไปถึงคำทำนายที่คล้ายคลึงกันจากโหรชื่อดัง ภิญโญ พงศ์เจริญ นายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ ก็ระบุว่า
“ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ดาวราหูและดาวเสาร์โคจรมาเจอกันที่ราศีตุลย์เป็นครั้งที่ 3 น่าจะนำมาซึ่งเหตุการณ์สำคัญประมาณ 4 เรื่อง คือ 1.การสูญเสียบุคคลสำคัญซึ่งเกิดไปแล้ว และอาจจะเกิดขึ้นอีก 2.เรื่องการสูญเสียดินแดน อันนี้น่าจะเป็นเรื่องคดีเขาพระวิหาร แต่ยังไงก็อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความวุ่นวายทางภาคใต้ด้วย 3.เรื่องอุบัติภัย ทั้งน้ำ ไฟไหม้ และพายุ และ 4.เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งจากการศึกษาจะเห็นว่ามีทั้งการเปลี่ยนแปลงโดยเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย เช่น ยุบสภา และบางรอบก็มีการชุมนุมและเกิดการจลาจลเกิดขึ้น เกิดความวุ่นวายจนคนไทยต้องฆ่ากันเอง นำมาซึ่งการยึดอำนาจ”
โดยเมื่อย้อนหลังไปตามวัฏฏะ (18 ปี 6 เดือน) จะพบว่า เมื่อ 18 ปีที่แล้ว หรือปี พ.ศ. 2538 มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงบ้านเมืองนั่นคือ การยุบสภาของ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย และเลือกตั้งใหม่ พรรคชาติไทยได้เสียงข้างมากทำให้อำนาจเปลี่ยนมือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตกเป็นของนายบรรหาร ศิลปอาชา และถ้าย้อนไปอีกหนึ่งวัฏฏะหรือช่วงปี พ.ศ. 2519 ในปีนั้นได้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มีการชุมนุม การปราบปรามนำมาซึ่งการสูญเสีย
ทั้งนี้ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ส่วนของฤกษ์ 09.39 นั้น อ.ภิญโญ ได้แนะว่า การเคลื่อนขบวนควรเลื่อนออกไปอีก 6 นาที นั่นคือเวลา 09.45 น. จะเป็นฤกษ์ที่ดีกว่า อีกทั้งยังฝากเพิ่มเติมด้วยว่า ในการชุมนุมครั้งนี้ ต้องดูเรื่องของ “น้ำ” เนื่องจากคนที่หลั่งไหลมาประดุจสายน้ำ ดังนั้นก็ต้องเตรียมการเรื่องของน้ำให้ดี อีกทั้งดาวฤกษ์ยังอยู่ตรงกับราศีธาตุดิน ดินจะมีประโยชน์หรือทำการให้เกิดความสำเร็จต้องอาศัยน้ำ เพราะฉะนั้น ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจึงต้องไปผูกพันกับสายน้ำ น้ำจึงต้องไม่ควรให้ขาด
นักวิชาการแนะ ยืนหยัดในหลักการ
ทั้งนี้ ในส่วนของนักวิชาการอย่าง รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความคิดเห็นเสนอแนะว่า สำหรับในวันที่ 9 ธันวาคม หากการชี้ชะตาวันนี้อยากได้ชัยชนะ ต้องระบุให้ชัดเจนก่อนว่า ชัยชนะนั้นคืออะไร และยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิ่งนั้นจะดีกว่าการร่ำหาคำว่า ชัยชนะ ที่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจ
“คำว่าชัยชนะเนี่ย ต้องตีความออกมาก่อนว่าเป็นชัยชนะแบบไหน ถ้าเป็นชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเลย คล้ายๆ กับการปฏิวัติของประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ ตัวผมมองว่าคงยาก เพราะว่ารัฐบาลนี้เค้าคงต่อสู้และเตรียมรับอย่างเต็มที่ แต่ถ้าเป็นชัยชนะในเชิงของการผลักดันเงื่อนไขข้อเสนอในบางประเด็น อันนี้มีความเป็นไปได้สูง สมมุติว่า ข้อเสนอของกปปส. ที่คุณสุเทพประกาศมาทั้งหมดจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเกิดการปฏิวัติของประชาชน แต่ว่าในความเป็นจริงทางการเมือง คงเป็นไปไม่ได้ทั้งหมดหรอก มันขึ้นอยู่กับว่าเงื่อนไขการต่อรอง ซึ่งสำหรับคำว่าชัยชนะ อันนี้ต้องดูที่ประเด็นสำคัญเป็นหลักที่จะนำไปสู่เงื่อนไขนั้น แล้วประเด็นหลักที่เสนอมาเหล่านั้นมันสามารถต่อยอดเพิ่มไปในภายหลังได้หรือไม่
เพราะฉะนั้น ในประเด็นหลักเนี่ย ต้องไม่ใช่ประเด็นเรื่องการสมยอมในอำนาจซึ่งมันก็จะเป็นวัฏจักรแบบเดิม คือคุณไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง กลไกอำนาจแบบเดิมได้เลย มันลำบาก เพราะฉะนั้น ข้อเรียกร้องมันจึงต้องชัดเจนว่า จุดเด่นที่สุดคืออะไร คำว่า ระบอบทักษิณ มันมีอะไรที่เป็นประเด็นหลักที่สุด ต้องมีจุดยืนที่แข็งแกร่ง จะต้องแก้ไขปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์กติกากันใหม่ แต่ผมคิดว่าประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญ จากการเห็นการต่อสู้ของฝ่ายรัฐบาลก็คือเรื่องของมาตรา 7 มาตรา 10 อะไรทำนองนี้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการยืนหยัดต่อสู้
ถ้าเผื่อจะมีข้อตกลงร่วมกัน อาจจะต้องมีพรรคร่วมหรือตัวกลางที่ต้องมาหาข้อยุติร่วมกัน เพราะดูจากสถานการณ์การเผชิญหน้ากัน หากดูตามพละกำลังก็คงไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ ทั้งจากมวลชนจัดตั้งของรัฐ อีกฝ่ายหนึ่งคือประชาชนที่มาชุมนุม หากปล่อยให้เกิดการปะทะกันอย่างนี้ มันก็จะอาจจะนองเลือด ดังนั้น ต้องมาหาจุดร่วมที่ประเทศชาติจะได้ประโยชน์จริงๆ ซึ่งกปปส. ควรต้องยืนยันในจุดยืนนี้”
ทั้งนี้ ยังมีเรื่องน่ายินดี หลังพรรคประชาธิปัตย์ได้พร้อมใจลาออกยกพรรค โดยชี้แจงว่าเพื่อรับผิดชอบในระบบรัฐสภา โดยยืนยันไม่เข้ารับตำแหน่งเพื่อชิงอำนาจ และยังขอให้นายกฯใช้ดุลยพินิจยุบสภา อย่างไรก็ตาม รศ. ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การลาออกยกพรรคครั้งนี้อาจไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการชุมนุม แต่อาจทำให้ส่งผลต่อสภาได้
“การชุมนุมก็ใช้เวลามาสักพักหนึ่งแล้วนะครับ ผมเลยมองว่า การลาออกของพรรคประชาธิปัตย์อาจไม่ได้ไปเพิ่มจำนวนหรือว่าเปลี่ยนแปลงประเด็นบนเวทีอะไร แล้วก็ที่สำคัญก็คือ ไม่ได้ไปเปลี่ยนจุดยืนของกปปส. แต่ในแง่ของความเข้มข้น อันนี้ผมว่าแน่นอน เพราะส.ส. ที่ลาออกไปแล้วก็มีอิสระในการเข้าไปร่วมชุมนุม แล้วก็การที่ส.ส.เป็นร้อยคนเข้ามาร่วมชุมนุมเนี่ย เค้าก็จะมีมวลชนของเค้าเองอยู่ ถึงแม้จะไม่ได้มา แต่ก็คิดว่าน่าจะมีความเป็นปึกแผ่นและเข้มข้นในการชุมนุมมากขึ้น
อย่างแรก คือการมีพลังขึ้นมา ในแง่ของการสนับสนุน การมีส่วนร่วมต่างๆ ส่วนการจะไปขนคนมาเพิ่มอันนี้คงไม่ทันแล้วมั้ง หรือถ้าจะเพิ่มเป็น 19 แกนนำ 29 แกนนำ อันนี้คุณสุเทพคงบอก อย่าเพิ่งก่อนล่ะมั้งครับ เพียงแต่ว่ามันคงจะมีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะมีคนมาสมทบที่เป็นแกนนำมวลชน ซึ่งก็อาจจะมีแนวร่วมเพิ่มมากขึ้นไปอีก คนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะมา พรุ่งนี้เห็นประชาธิปัตย์มากันทั้งพรรค ก็อาจจะมาร่วมกันอีก แต่ทั้งนี้ก็เป็นแค่ผลระยะสั้นนะครับ
ผลระยะกลางคือการมีปัญหาในเชิงกฎหมายในสภาขึ้นมาทันที ฝ่ายบริหาร รัฐบาลก็แน่นอนแหละครับ ก็ต้องเผชิญกับพลังมวลชนที่อาจจะเข้มข้นขึ้น แล้วก็อาจจะทำให้เกิดความยากลำบากในการตัดสินใจมากขึ้น ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ หากจบการชุมนุมไปแล้ว คงมีปัญหาให้ต้องคิดอีกมากว่า จะมีการเลือกตั้งซ่อมมั้ย ถ้าเลือกตั้งแล้วพรรคการเมืองใหญ่ไม่ส่งผู้สมัครจะทำยังไง ดังนั้น ผลระยะกลาง หากยังไม่มีการยุบสภา หรือยังไม่ลาออก ผลของการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติมันมีแน่ๆ แล้วประชาธิปัตย์เนี่ยคงไม่ส่งแน่ๆ เพราะเค้าเพิ่งลาออก เพราะฉะนั้น ก็จะมีปัญหาระยะกลางแน่นอนเลย ถ้าเกิดรัฐบาลยื้อเวลาไม่ได้ขนาดนั้น ส่วนผลระยะยาว ก็อาจกระทบไปถึงวุฒิสภา ซึ่งตอนนี้ระบบมันรวนมาก อันนี้ก็ต้องดูในระยะยาวครับ”
สำหรับความขัดแย้งครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ผลจะออกมาเป็นเช่นไร จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงซ้ำรอยหรือไม่ คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ทุกคนในสังคมต้องมีสติ และร่วมกันหาทางออกให้แก่ประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาสงบสุขดังเดิม
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live