xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ขุดรากเหง้า ปชต. ชี้ชอบธรรมขัดขืนปฏิวัติปราบ รบ.ขี้ฉ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล (แฟ้มภาพ)
“ส.ว.รสนา” กะเทาะแก่นระบอบ ปชต. ยกวาทะ “จอห์น ล็อค-ลินคอล์น” ชู ปชช.เป็นเจ้าของอำนาจการปกครอง รบ.หมดสิทธิ์อ้างเสียงข้างมากหากใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนเอง ถือว่าหมดความชอบธรรมโดยปริยาย ปชช.ย่อมได้สิทธิขัดขืนหรือปฏิวัติ ถือเป็นต้นแบบนำไปสู่ ปชต.ที่พัฒนาแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 ธ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 02.10 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวรสนา โตสิตระกูล ภายใต้หัวข้อ “สิทธิการขัดขืนอำนาจรัฐของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย” โดยยกความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติในพระบามสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ที่ว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” และคำปราศรัยของอับราฮัม ลินคอล์น ในวันเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ปี พ.ศ. 2404

“This country, which its institutions, belongs to the people who inhabit it. Whenever they shall grow weary of existing government they can exercise their constitutional right of amending it, or their revolutionary right to dismember or overthrow it.” แปลเป็นไทย “ประเทศนี้, กับทั้งสถาบันทั้งปวงของประเทศ, เป็นของราษฎร ผู้ซึ่งครอบครองอยู่ เมื่อใดราษฎรรู้สึกไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่บริหารอยู่ เมื่อนั้นราษฎรย่อมใช้สิทธิของตนตามรัฐธรรมนูญทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือใช้สิทธิแห่งการปฏิวัติ เพื่อปลดหรือขับไล่รัฐบาลนั้นเสียได้” ว่า

รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยของประเทศที่กำลังพัฒนา มักเข้าใจผิดว่ารัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งเสียงข้างมากสามารถที่จะดำเนินนโยบายบริหารบ้านเมือง หรือใช้อิทธิพลผลักดันรัฐสภาเสียงข้างมากของตนในการออกกฎหมาย หรือแก้รัฐธรามนูญเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนอย่างไรก็ได้ และรัฐบาลเสียงข้างมากในลักษณะนี้มักทำลายกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลในระบบจนไม่มีประสิทธิภาพ

เมื่อกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลในระบบไม่ทำงาน จนกลายเป็นสภาตรายาง หรือองค์กรอิสระตรายาง ก็จะเป็นเหตุให้ประชาชนออกมาชุมนุม เดินขบวนประท้วง หรือแม้กระทั่งขับไล่รัฐบาล ทางฝ่ายรัฐบาลเองก็มักจะมองว่าประชาชนเหล่านั้นเป็นพวกก่อความวุ่นวายหรือโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งตั้งข้อกล่าวหาว่ากลุ่มผู้ประท้วงต้องการทำลายระบอบประชาธิปไตย

ด้วยทัศนคติเช่นนี้เองจึงทำให้รัฐบาลประชาธิปไตยในประเทศที่กำลังพัฒนาเห็นว่าตัวเองมีความชอบธรรม และอาจใช้กำลังอาวุธปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมโดยสันติวิธีปราศจากอาวุธจนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย กลายเป็นสงครามกลางเมืองดังปรากฎมาแล้วในประวัติศาสตร์ของหลายประเทศ จึงต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าในระบอบเสรีประชาธิปไตยของอารยประเทศทั้งหลาย รัฐบาลย่อมเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิในการขัดขืนอำนาจรัฐ (civil disobedience) หรือแม้กระทั่งมีสิทธิในการปฏิวัติ (right to rebel)

ดังเช่นสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นแบบของเสรีประชาธิปไตยแบบตัวแทน ถึงกับกำหนดให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจการปกครอง มีสิทธิในการล้มรัฐบาลที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประชาคม สิทธิดังกล่าวนี้ระบุไว้อย่างชัดเจนใน “คำประกาศแห่งอิสรภาพ” (The Declaration of Independence , July 4, 1776)

หลักการให้สิทธิประชาชนขัดขืนอำนาจรัฐดังกล่าวถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพอันสำคัญในระบอบเสรีประชาธิปไตยตามแนวปรัชญาของจอห์น ล็อค ที่กล่าวว่า “ประชาชนมีสิทธิทำการปฏิวัติต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในเมื่อรัฐบาลนั้นใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง การที่ประชาชนมีสิทธิเช่นนี้จะเป็นเครื่องค้ำประกันว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่กล้าใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยไม่ฟังเสียงประชาชน”

ตามหลักการของจอห์น ล็อค ที่ยึดถือปฏิบัติกันโดยทั่วไปในประเทศเสรีประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว รัฐบาลเป็นเสมือนผู้ดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของผลประโยชน์ และเจ้าของอำนาจการปกครองซี่งได้มอบอำนาจให้รัฐบาลผู้เป็นตัวแทนจากการเลือกตั้ง เป็นผู้ใช้อำนาจนั้นแทนประชาชนในการปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน ความมั่นคงปลอดภัย และสิทธิเสรีภาพของปวงชน แต่เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลทำหน้าที่ดังกล่าวบกพร่อง หรือทำเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ประชาชนมอบให้ตามสัญญาประชาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลนั้นใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนเอง และทำให้ประชาชนเสียผลประโยชน์ เมื่อนั้นก็ถือได้ว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจบริหารบ้านเมืองไปโดยปริยาย อำนาจการปกครองก็จะกลับคืนมาเป็นของประชาชน นั่นหมายความว่ารัฐบาลที่ทุจริตจะต้องสลายตัวไปก่อนที่ประชาชนจะได้รับความเสียหาย

ล็อคเน้นย้ำว่า สังคมหรือชุมชนไม่ใช่สิ่งเดียวกับรัฐบาล เมื่อรัฐบาลสลายตัวไป สังคมก็ยังคงมีอยู่ ถึงไม่มีรัฐบาล มนุษย์ก็อยู่ร่วมกันเป็นสังคมหรือชุมชนอยู่แล้วตามสภวะธรรมชาติที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขตามอัตภาพก่อนที่จะมีรัฐบาลเสียอีก ยิ่งไปกว่านั้นสังคมหรือชุมชนยังสามารถมีการกระทำร่วมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ที่ตอบสนองเจตจำนงของประชาชนได้ดีกว่า

แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลที่ฉ้อฉลมักไม่ยอมสลายตนเอง และดึงดันละเมิดขอบเขตของอำนาจที่ประชาชนมอบให้ ทำลายผลประโยชน์ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามอำเภอใจ จนก่อให้เกิดสภาวะสงครามกับประชาชน ดังนั้น ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจการปกครองที่แท้จริงจึงมีสิทธิในการป้องกันตนเองจากการประทุษร้ายของผู้ดูแลผลประโยชน์ (รัฐบาล )ที่ทรยศต่อประชาชน นั่นก็คือประชาชนมีสิทธิที่จะขัดขืนหรือปฏิวัติรัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งมากับมือนั่นเอง

มีผู้คัดค้านว่าการให้สิทธิประชาชนทำการขัดขืนปฏิวัติได้ จะทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ ล็อคให้เหตุผลโต้แย้งว่า โดยปกติวิสัยแล้ว ประชาชนไม่นิยมการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือต่อสู้กับอำนาจรัฐที่มีกำลังอาวุธ ยกเว้นรัฐบาลนั้นกระทำผิดอย่างใหญ่หลวงเท่านั้น

มีผู้คัดค้านอีกว่า สิทธิการปฏิวัติของประชาชนดังกล่าวจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง และกลียุคนั้น ล็อคโต้แย้งว่าคนบริสุทธิ์ที่ถูกโจรปล้นไม่ควรต่อสู้ขัดขวาง เพียงเพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวาย หรือการนองเลือดกระนั้นหรือ ล็อคยืนยันว่าถ้าเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น จะต้องโทษว่าต้นเหตุคือฝ่ายรัฐบาลอธรรมที่คุกคามสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชนก่อน อีกประการหนึ่งล็อคให้เหตุผลว่า การอยู่ภายใต้การใช้อำนาจเผด็จการของรัฐบาลเสียงข้างมากนั้นเลวร้ายเสียยิ่งกว่าการอยู่ในสภาวะธรรมชาติที่ไม่มีรัฐบาล การกลับคืนสู่สภาวะธรรมชาติ หรือชุมชนดั้งเดิมที่ไม่มีรัฐบาล

ดังนั้น สิทธิปฏิวัติของประชาชนจึงเป็นทางเลือกที่ชอบด้วยเหตุผลและเป็นสิ่งที่ชอบธรรมอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ล็อคเห็นว่าการให้สิทธิแก่ประชาชนที่จะทำการขัดขืนปฏิวัติ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้รัฐบาลลุแก่อำนาจปราบปรามประชาชน กล่าวคือ ถ้ารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยรู้ว่าประชาชนมีสิทธิที่จะทำการปฏิวัติได้ รัฐบาลก็จะระมัดระวังการใช้อำนาจให้อยู่ในกรอบของสัญญาประชาคม (รัฐธรรมนูญ) การปฏิวัติของประชาชนก็จะไม่เกิดขึ้น

ทัศนะดังกล่าวนี้ เป็นแก่นความคิดแบบเสรีประชาธิปไตยที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวิวัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในอารยประเทศที่มีการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่ก้าวหน้า ประเทศเหล่านี้เห็นการชุมนุมประท้วงของประชาชนเป็นสิ่งที่ชอบธรรม และยอมรับได้ รัฐบาลยอมลาออกหรือยุบสภาบ่อยครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะรุนแรงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจการปกครองที่แท้จริง สังคมประเทศที่มีประเพณี ที่รัฐบาลยอมลาออกหรือยุบสภาเป็นเรื่องปกติ ยิ่งทำให้ประเทศเหล่านี้มีเสถียรภาพทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการดำรงอยู่ร่วมกันของประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างสงบสุขและยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น