xs
xsm
sm
md
lg

“ทรู” (2) รุกโปะหนี้ หลังกองทุนเสร็จ ขาย non-core อีก 5 พันล. การเงินคล่องคุยพันธมิตร ลุย AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่จบแค่ตั้งกองทุนอินฟราฯ 7 หมื่นล้าน เปิดเกมลบโปะหนี้ “ทรู คอร์ป” ตั้งเป้า Net Debt to EBITDA Ratio เหลือ 2 เท่า จากปัจจุบัน 5 เท่า (กว่า 1 แสนล้าน) ชี้ทำได้อนาคตสดใส สภาพคล่องพุ่ง ผู้ถือหุ้นหายห่วง แย้มหลังกองทุนแล้วเสร็จ เตรียมเข็นยูนิต  Non Core Business ออกขายทอดตลาดต่อทั้งเรียลเอสเตต และธุรกิจกิจรถเช่ารายใหญ่ของประเทศ มูลค่ากว่า 5 พันล้าน พร้อมเปิดทางพันธมิตรต่างแดนเข้าร่วมมือ หลังขอเวลาจัดการองค์กรมาร่วม 2 ปี ยืนยันมีแผนบุก AEC เวียดนาม พม่า มาเลย์ อินโดฯ

นพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการเงิน ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กล่าวถึงเป้าหมาย TRUE ในอนาคตว่า แผนการลดหนี้ของบริษัทนอกเหนือจากจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 7 หมื่นล้านบาทแล้ว บริษัทยังมีแผนนำบริษัทในเครือที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกมาขาย เพื่อนำเงินไปลดหนี้เพิ่มเติม

“ปัจจุบันเขาวัดว่าเรามีหนี้เยอะเขาก็วัดจากตัวที่เรียกว่า Net Debt to EBITDA Ratio รวมถึง กระแสเงินสดที่ได้จากการทำธุรกิจ ซึ่งถ้าอยู่ในระดับประมาณ 2 เท่า จะถือกันว่ามั่นคง และอยู่ได้ โดยที่ทุกคนไม่ต้องมากังวลว่าหนี้เยอะ แต่ตอนนี้เรามี 5 เท่า ตรงนั้นคือที่เราตั้งเป้าหมายอยู่ เราทำหลายมาตรการ เรื่องกองทุนเป็นหนึ่งในมาตรการเหล่านี้  นอกจากนี้ เรายังจะขายบริษัทที่ไม่ได้เป็นธุรกิจหลักออกไป แต่มันเป็นบริษัทที่ดี และรุ่งเรือง เราก็จะขายให้แก่คนอื่นที่เห็นมูลค่าของมัน เพื่อทำกำไร และเอาเงินเข้ามาใช้หนี้เช่นกัน เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ทำพวกโทรคมนาคมโดยตรง เป็นเพียงส่วนสนับสนุนการทำงาน (support function)”

    ทั้งนี้ บริษัทเตรียมจะขาย คือ บริษัท  ทรู ลิซซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทให้เช่ารถใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งมีรถที่วิ่ง และให้เช่าอยู่ในปัจจุบันประมาณ 7,000-8,000 คัน, บริษัท ทรู พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งเป็นเจ้าของตึก TRUE Tower ที่ทำธุรกิจเรียลเอสเตตออกไป

    “บริษัทเหล่านี้กำไรดีแต่ไม่มีผู้ถือหุ้นมาถามสักคนเลย อยู่อย่างนี้มา 10 กว่าปี ไม่มีใครให้มูลค่าอะไร ซึ่งจริงๆ ถ้าไปอยู่กับคนอื่นเอาไปทำมูลค่าอะไรได้เยอะ และเราเองก็อยากจะให้ความสำคัญกับการเอาทรัพยากรของเรามาทำธุรกิจหลักมากกว่า บริษัทพวกนี้เราก็จะขายขาดออกไปเลย และเราจะไม่ถือหุ้นในนี้อีกแล้ว เพราะเราเองก็จะได้เอาเงินกลับมา ถ้าเราขายกองทุน และขายกิจการที่เป็น non-core ออกไปแล้ว ผมก็หวังว่าหนี้ของทรูก็น่าจะลดลงจาก 5 เท่า มาใกล้ระดับ 2 เท่า หรืออาจจะต่ำกว่า เพราะยังมีแผนอื่นๆ อีก”

    ปัจจุบัน เรียกได้ว่าเงินของกลุ่มทรู คอร์ป แบ่งเป็น  2 ส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนปกติคือ ส่วนที่เป็นการลงทุนเพื่อขยายบอร์ดแบรนด์ในต่างจังหวัด และลงทุนในธุรกิจหลักของบริษัท ส่วนการใช้เงินอีกทางหนึ่งคือ การใช้หนี้เงินต้นที่มีอยู่ ที่ผ่านมาในฝั่งการลงทุนเพิ่มทางบริษัทได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสถาบันการเงิน และจากคู่ค่าที่ให้เครดิตในการชำระคืน

“สิ่งที่ทรูกำลังทำคือ ใช้เงินต้นเดิมลดภาวะเงินกู้ลง ซึ่งจะทำให้ทรูมีความยืดหยุ่นสูงมากที่จะลงทุนตรงนี้ และหลังจากที่ลดหนี้ลงได้แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาโดยปริยายนั่นคือ ความเสี่ยงทางการเงินลดลง และดอกเบี้ยเงินกู้ของทรูก็จะลดต่ำลงมาอย่างมีนัยสำคัญทั้งในแง่เปอร์เซ็นต์ และจำนวนเงินที่ต้องจ่าย มันจะมีแต่ผลบวก เพราะ non-core ซึ่งโดยรวมแล้วมันจะประมาณ 5,000 กว่าล้านบาท”

ส่วนในแง่การลงทุนหลังการลดหนี้จบแล้วบริษัทจะมีการพัฒนาให้บริการของทรู คอร์ป ต่อไป ซึ่งตรงนี้บริษัทมีผู้ให้กู้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสถาบบันการเงิน และบริษัทที่ขายอุปกรณ์ เพราะเชื่อมั่นด้านเครดิตก็จะให้เอามาใช้ก่อนแล้วค่อยมาทยอยจ่ายคืน ทีหลังตามกำหนดที่ตกลงกัน เป็นต้น

“หากเราลดตรงนี้ลงได้ทุกคนจะสบายใจขึ้น เจ้าหนี้เขาก็จะลดอัตราดอกเบี้ยลง ทรูก็ยังคงกู้ได้อีกมหาศาล หรือจะกู้กลับมาอีกก็ได้ แต่จริงๆ เราจะไม่กู้กลับมาแล้ว เพราะเราจะพยายามรักษาให้หนี้มันอยู่ในระดับที่ทุกคนสบายใจอย่างนี้ดีกว่า”

แผนพันธมิตรทางธุรกิจ

ผู้บริหาร TRUE กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทเคยทำ strategic partner มาก่อน เพราะตอนนั้นอยากจะ raise fund ผ่านการขายหุ้นให้แก่กลุ่มธุรกิจที่เห็นมูลค่าบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นโทรคมนาคมต่างประเทศที่เป็นเจ้าใหญ่ๆ เพราะมองว่าประเทศไทยยังมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่อีกมาก

“มีหลายรายสนใจ แต่เราคิดว่าเราโชคดีที่เราไม่ได้ขายหุ้นไปวันนั้น ราคาหุ้นวันนั้นก็แค่ 2-3 บาทเอง เพราะถ้าขายหุ้นไปผลกระทบคือ เป็นการไปลดสัดส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัททุกราย โดยผู้ถือหุ้นรายใหม่มาซื้อหุ้นได้ถูกกว่าเขา ณ วันนั้นก็โชคดีที่เราไม่ได้ตัดสินใจ และดำเนินธุรกิจมาเรื่อยๆ แต่พอเราทำตรงนี้เสร็จมูลค่าหุ้นมันก็จะกลับไปที่ผู้ถือหุ้นเดิม ราคาหุ้นก็จะดีขึ้น แล้วหลังจากนั้นเราจะได้กลับไปคุยกับ strategic partner บนอนาคต ไม่ใช่บนอดีตที่คุยกัน ที่ผ่านมา เราขอเขาพักไปก่อน นี่ก็ตั้งแต่ต้นปีที่ผมมาโฟกัสเรื่องกองทุน เราไม่อยากจะให้เขามาเสียเวลาที่เราต้องการโฟกัสเรื่องนี้ แต่พอเรื่องนี้จบ รูปที่มัน fit and firm หลังจาก exercise มานี่ เขาก็มาคุยกันอีกทีได้ถ้ายังสนใจอยู่ เราก็เคยคุยกับหลายคน เราเคยทำกันถึงขั้นให้เขาเสนอราคามาเลย แต่ก็นานมาแล้วน่าจะประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา”

โครงสร้าง ทรู คอร์ป ในอนาคต

ผู้บริหาร กล่าวว่า ทรูฯ ที่ต่อสู้มาได้ถึงทุกวันนี้เพราะคอนเวอร์เจนท์ ทรัพย์สินที่มีไม่เหมือนคนอื่น จึงสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มันมีอินโนเวชันใหม่ๆ ออกมาได้ โดยหลักๆ ก็จะมี 3 ธุรกิจ และจะมีธุรกิจที่ 4 คือ การทำคอนเวอร์เจนท์ นั่นคือ  1.ธุรกิจออนไลน์ อันนี้เป็นธุรกิจดั้งเดิมของทรูที่เริ่มมาตั้งแต่โทรศัพท์พื้นฐานซึ่งตอนนี้เปลี่ยนไปเป็นบอร์ดแบรนด์ที่สามารถให้สปีดได้ถึง 600 Mb  ตามเทคโนโลยี แต่จริงๆ แล้วมันยังไม่มีใครใช้ถึง วันนี้ขายถึง 200 Mb เท่านั้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีผลดำเนินงานทดีมาโดยตลอด ทำกำไรมา 10 กว่าปีติดต่อกัน

2.Pay TV  หรือ ทรูวิชั่นส์ ซึ่งบริษัทซื้อมาทำคอนเวอร์เจนท์ร่วมกัน ตอนนี้ก็เจริญเติบโตได้ดี ช่วงนี้ก็มีโอกาสใหม่ๆ เช่น เรื่องดิจิตอลทีวี  และการที่สามารถเริ่มขายโฆษณาได้ตั้งแต่ 2 ปีก่อน อีกทั้งจะมีการเพิ่มช่อง HD เป็น 50 ช่องในเร็วๆ นี้ จากปัจจุบันที่มี 23 ช่อง และ 3.ที่ทำรายได้เยอะที่สุด และมีฐานลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดคือ ธุรกิจมือถือ TRUEMOVE แต่ยังไม่กำไรมากนัก และสัญญาสัมปทานของทรูมูฟจะหมดในวันที่ 15 กันยายนนี้ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีก

“ความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นได้จากธุรกิจแรกที่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทาน เราต้องขวนขวายที่สุด เราเข้าไปซื้อฮัทชิสันเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเขาก็ขายทุกคนนะ เราต้องซื้อเพราะสัญญาสัมปทานของเรากำลังจะหมด เราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น กสทช. วันนั้นก็ยังไม่ได้ตั้ง ยังเป็น กทช. อยู่ สถานการณ์บังคับเราก็เลยต้องไปซื้อ พอซื้อมาเสร็จก็ทำให้เราได้ร่วมกับ CAT ปัจจุบันเราก็กลายเป็นเบอร์ 1 ใน 3G อย่างชัดเจน นี่ก็ทำให้เราสามารถก้าวต่อไปเป็น 4G ได้ก่อนใครเพื่อน”

แผนขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน

    นพปฎล กล่าวเพิ่มเติมว่า ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง และเป็นโอกาสด้วย สำหรับ AEC ไม่เช่นนั้นอันตราย  เพราะหากโดนคู่แข่งจากต่างประเทศเข้ามาล้อม ตอนนี้มองเป็นภูมิภาคนี้ก่อน  เช่น เวียดนาม พม่า ฟิลิปปินส์ และยังกล้ามองกระทั่งลงไปถึงภาคใต้ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ที่ผ่านมา บริษัทก็เข้าไปร่วมประมูลคลื่นที่พม่าด้วยเลยแบบจริงจัง เพราะมองว่าเป็นตลาด long-term ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ถือว่าเป็นโอกาสให้สร้างตลาดได้ ส่วนเวียดนามบางเรื่องไปเร็วกว่าไทยแล้ว  

“สิ่งหนึ่งที่บอกได้เลยว่าเรามีความได้เปรียบ ก็คือ ประเทศเหล่านี้เขาดูทรูวิชั่นส์มา 5-10 ปีแล้ว ซึ่งมาจากเอเยนต์จากเรานี่ล่ะ เอาไปขายต่อเก็บค่าสมาชิกในเวียดนาม เราไม่รู้เรื่อง พวกเขาก็จะมีกล่องทรูวิชั่นส์อยู่ในบ้าน ผมไปเวียดนามกับคุณศุภชัย CEO ก็ยังโดนข้าราชการระดับสูงของเขาต่อว่า ว่า เรามาให้บริการทรูวิชั่นส์ในเวียดนาม ทำไมไม่ทำเป็นภาษาเวียดนามให้พวกเขาบ้าง จริงๆ แล้วเรายังไม่ได้ให้บริการเลยนะ แต่ในย่านนี้ทุกคนรู้จักทรูกันหมดแล้ว ดังนั้น การที่เราไปก็ไม่ใช่เริ่มจากศูนย์เราก็ถือว่าเราโชคดีตรงนี้ ขณะที่พม่า ผลคือทางรัฐบาลจะให้ license ต่างชาติ 2 ใบ เข้าใจว่า คือ เทเลนอร์ กับกาตาร์เทเลคอม ได้ไปแล้ว แต่เขายังมี license local จุดนี้เราก็สนใจจะเข้าไปเป็น partner ร่วมกัน”

โอกาสหนี้ทรูฯ เป็นศูนย์

“ผมเรียนอย่างนี้เลยนะหนี้ยังไงก็จะต้องไม่หมด บริษัทที่ไม่มีหนี้เพราะเขาไม่มี CFO แต่มันต้องมีหนี้อยู่ในระดับที่ดี เพราะหนี้ทำให้ผู้ถือหุ้นได้ผลตอบแทนต่อการลงทุนสูงกว่าเยอะ ผมยกตัวอย่างว่า ถ้าบริษัทไม่มีหนี้ก็มี return on investment 8% แต่ถ้ามีหนี้ก็เพิ่มไปเป็น 12% สำหรับผู้ถือหุ้นนะ แต่ถ้าบริษัทมีหนี้เยอะเกินไปทุกคนจะกลัวว่าเดี๋ยวบริษัทอาจจะมีปัญหา เพราะฉะนั้น การมีหนี้ดีแต่มันต้องอยู่ในระดับที่ทุกคนสบายใจ ผมจึงบอกว่าหนี้ 2 เท่า net debt to  EBITDA เราจะเก็บหนี้ไว้นะตอนนี้เราก็มีทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดก็คือ ลูกค้าเราที่กรุณาเรามาตลอด อันนี้คือ ทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของเรา เราไม่ต้องไปแตะมันเลย มันดีอยู่แล้วมันก็โตของมันไปเรื่อยๆ ที่ผ่านมา หนี้ก้อนใหญ่นี้เกิดจากการขยายการลงทุนในอดีต  แต่การลงทุนในระยะต่อๆ ไป บริษัทจะค่อยๆ ขยายไป ไม่ต้องรีบเหมือนในอดีตเมื่อ net debt เหลือ 2 เท่า เราก็กำไรอยู่แล้ว แต่จะได้เห็นเท่าไหร่ตรงนี้ผมขออนุญาตไม่พูดถึง พวกเราตั้งใจที่จะทำกันขนาดนี้ เราเห็นเส้นชัยแล้ว แต่หากตลาดมันไม่เอื้อเราก็อาจจะต้องรอ เลื่อนเวลาออกไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น