xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.เร่งกระชับพื้นที่BFKT

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บอร์ดกทค.เตรียมพิจารณา 2 ร่างหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะและประเภทของกิจการโทรคมนาคมที่ต้องขอรับใบอนุญาต หลัง BFKT สร้างปัญหาอาศัยช่องว่างกฎหมายในเรื่องเช่าอุปกรณ์โทรคมนาคม ‘เศรษฐพงค์’ ย้ำต้องเอา BFKT เข้าระบบและสร้างกรอบเพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมเอาอย่างเลียนแบบทำให้อุตสาหกรรมป่วน ด้าน ‘ศุภชัย’ ถามเลือกปฎิบัติกับ BFKT รายเดียวหรือไม่

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช.และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่าคณะทำงานได้ดำเนินการร่างกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการกำหนดลักษณะและประเภทของกิจการโทรคมนาคมที่จะต้องมาขอรับใบอนุญาตจากกสทช. เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าบอร์ดกทค.จะพิจารณาในเดือนมิ.ย.นี้

‘กสทช.จะต้องนำ BFKT เข้ามาในระบบภายใต้การกำกับดูแลของกสทช. รวมทั้งบริษัทอื่นที่ต้องการทำธุรกิจในลักษณะเช่นเดียวกัน ซึ่งน่าจะเป็นใบอนุญาตประเภท 2 ที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 2% และ ค่า USO 2.75%’

การดำเนินการครั้งนี้ของกสทช. เกิดขึ้นเพราะสัญญาการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ HSPA ความถี่ 850 MHz ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม กับกลุ่มทรู ถูกตรวจสอบวงกว้างว่าดำเนินการไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากไม่ได้มีการทำสัญญาอย่างตรงไปตรงมาแต่อาศัยช่องว่างของกฎหมาย ยืนยันตามที่เลขาธิการกสทช.ได้ระบุก่อนหน้านี้ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายแต่ไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากอาศัยบริษัท BFKT เป็นคนสร้างโครงข่ายให้กสทเช่า เพื่อนำมาขายส่งบริการให้บริษัท เรียลมูฟ ขายต่อบริการอีกทอดหนึ่ง โดยบอร์ดกทค.มีมติ 4 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า BFKT เป็นแค่บริษัททำธุรกิจโทรคมนาคม ไม่ใช่ประกอบกิจการโทรคมนาคม จึงไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาต

ความยุ่งยากที่ตามมาหลังจากนั้น คือ ถึงแม้ไม่สามารถเอาผิดตามกฎหมายที่มีอยู่ได้ แต่เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมเอาอย่างจนทำให้เกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งให้พวกหัวหมอที่เห็นประโยชน์ประเทศชาติสำคัญเพียงน้อยนิดอาศัยช่องว่างของกฎหมายมาสร้างแต้มต่อ กสทช.จำเป็นต้องร่างกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อกำกับดูแล จัดระบบให้เข้าที่เข้าทาง

ด้านน.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่าหลังจากบอร์ดกทค.มีมติ 4 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2556 ว่า BFKT ไม่เข้าข่ายขัดกฎหมายมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 จึงไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตในการประกอบกิจการโทรคมนาคม แต่ได้สั่งให้สำนักงานกสทช.กลับไปเร่งดำเนินการยกร่างหลักเกณฑ์ที่จะกำกับดูแลในกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้การดำเนินกิจการให้เช่าเครื่อง และอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือในลักษณะดังกล่าวของบุคคลใดๆ เข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.

ทั้งนี้ล่าสุดร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวสำนักงานกสทช.ได้ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วซึ่งในเบื้องต้นสำนักงานได้ส่งให้บอร์ดกทค.ตรวจสอบ และพิจารณาก่อนนำเข้าบอร์ดเพื่อมีมติเห็นชอบ และนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

สำหรับสาระสำคัญในร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้นระบุว่าแม้ผู้ประกอบการให้เช่าเครื่องโทรคมนาคม และอุปกรณ์โทรคมนาคมหรือสื่อนำสัญญาณแก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อนำไปให้บริการโทรคมนาคม จะต้องขอรับใบอนุญาตประเภทที่ 2 จากกสทช.

‘อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเชื่อว่า BFKT คงฉลาดพอที่จะไม่เข้ามาขอใบอนุญาตประเภทที่ 2 แน่นอน เนื่องจากปัญหาซ่อนอยู่ตรงคำวินิจฉัยของบอร์ดกทค.ที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า BFKT ไม่เข้าข่ายผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากเป็นการให้เช่าเฉพาะเพียงรายเดียว ดังนั้นจะเข้ามาขอใบอนุญาตเพื่ออะไร’

น.พ.ประวิทย์ กล่าวว่า ถึงแม้ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ขึ้นมาแต่ก็เชื่อว่าไม่สามารถช่วยอะไรได้เลยจากกรณีที่เกิดขึ้นไปแล้วเพราะคงไม่มีเอกชนรายใดจะยอมให้ตัวเองต้องเสียรายได้เพิ่มถึง 5% จากการเข้ามาขอใบอนุญาตประเภทที่ 2 แน่นอนเพราะหากถือใบอนุญาตประเภทที่ 2 ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมประกอบกิจการรายปี 2% และค่าธรรมเนียมกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) อีก2.75% ทั้งที่มติก็ระบุว่าไม่เข้าข่ายเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม

อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวผู้ประกอบการที่จะโดนหางเลขหรือลูกหลงไปด้วยคือบริษัทที่มีการเปิดให้เช่าเครื่องโทรคมนาคม และอุปกรณ์โทรคมนาคมมากกว่าหนึ่งราย (เวนเดอร์) เพราะต้องเข้ามารายงานตัวเพื่อขอรับใบอนุญาตประเภทที่2 โดยไม่มีทางเลือกทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ไม่ต้องมีใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด

ส่วนกรณีบอร์ดกทค.จะโดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้นส่วนตัวมองว่าตอบยากเพราะกฏหมายระบุว่าการประกอบกิจการโทรคมนาคมหมายถึง การประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นผู้ให้บริการด้านกิจการโทรคมนาคมแก่บุคคลอื่นทั่วไป ขณะที่กรณี BFKT เป็นเพียงกิจการโทรคมนาคม และเป็นเพียงผู้ดำเนินการตามสัญญาเช่าระหว่าง BFKT และบริษัท กสท โทรคมนาคม เท่านั้นซึ่งถือว่าเป็นการให้เช่าเพียงรายเดียวจึงไม่ขัดต่อกฏหมาย ดังนั้น BFKT อาจจะไม่เข้ามาขอใบอนุญาตประเภทที่ 2 ก็เป็นได้

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทข้ามชาติจำนวนไม่น้อยล้วนดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมโดยให้บริการเฉพาะอุปกรณ์เครือข่ายและบริการบำรุงรักษาแก่โอเปอเรเตอร์ จึงไม่เห็นด้วยหาก BFKT เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ถูกบังคับให้ปฏิบัติตามกฏใหม่

‘ อย่างหัวเหว่ย เป็นเวนเดอร์รายหนึ่งที่ทำธุรกิจลักษณะเดียวกับ BFKT ด้วยการให้บริการอุปกรณ์และดูแลรักษาระบบให้เฉพาะคู่สัญญาแบบเฉพาะเจาะจง ถามว่าบริษัทเหล่านี้ต้องขอรับใบอนุญาตหรือไม่’

อย่างไรก็ตามศุภชัยยอมรับว่า การขอใบอนุญาตหรือไลเซนส์จะทำให้ BFKT มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่เหตุผลนี้ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ไม่เห็นด้วยกับร่างหลักเกณฑ์ใหม่นี้

อนึ่งร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 2 ฉบับที่สำนักงาน กสทช.เสนอให้บอร์ดกทค.พิจารณาเพื่อมาปิดรูรั่วของกฏหมายภายหลังกรณี BFKT ใช้ช่องโหว่ดังกล่าวในการประกอบกิจการที่ผ่านมาโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบ ด้วย 1.ร่างประกาศกสทช.เรื่อง กำหนดลักษณะและประเภทของกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ...โดยจะยกเลิกประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่องกำหนดลักษณะและประเภทของกิจการโทรคมนาคมเดิม

เนื่องจากประกาศฉบับเก่าไม่มีข้อกฏหมายที่ระบุว่า ‘การให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโทรคมนาคม (Telecommunications Facility) หรือการให้บริการเช่าใช้เครื่องโทรคมนาคม อุปกรณ์โทรคมนาคม หรือสื่อนำสัญญาณ แก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อนำไปให้บริการโทรคมนาคม ถือเป็นลักษณะของกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายโทรคมนาคม’

ขณะที่ร่างประกาศที่ 2 คือร่างประกาศกสทช. เรื่อง ลักษณะและประเภทของกิจการโทรคมนาคมที่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... และให้ยกเลิกประกาศกทช.เดิมเรื่องลักษณะและประเภทของกิจการโทรคมนาคมที่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม

เพราะร่างประกาศฉบับใหม่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่าย หรือไม่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเองเพื่อให้เช่าใช้ที่มีลักษณะการให้บริการ คือ “การให้บริการโทรคมนาคมโดยการให้เช่าใช้เครื่องโทรคมนาคม อุปกรณ์โทรคมนาคม หรือสื่อนำสัญญาณ แก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อนำไปให้บริการโทรคมนาคม” ถือเป็นการประกอบกิจการลักษณะและประเภทของกิจการโทรคมนาคมที่ต้องขอรับใบอนุญาตแบบที่ 2 จากกสทช.เพื่อการประกอบกิจการดังกล่าว

โดยในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโทรคมนาคม หรือการให้เช่าใช้เครื่องโทรคมนาคม อุปกรณ์โทรคมนาคม หรือสื่อนำสัญญาณ แก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อนำไปให้บริการโทรคมนาคม อาทิ โครงสร้างพื้นฐานเช่นอาคาร เสา ระบบสายและท่อ,ศูนย์ข้อมูล (DATA CENTER) ,การให้บริการเช่าใช้เครื่องโทรคมนาคม อุปกรณ์โทรคมนาคม เช่นเครื่องหรืออุปกรณ์ควบคุมสถานีฐาน,เครื่องหรืออุปกรณ์ชุมสาย,เครื่องหรืออุปกรณ์ในการควบคุมการใช้งานของผู้ใช้บริการหรือสื่อนำสัญญาณเช่นสายทองแดง ,สายเคเบิลใยแก้วนำแสง

โดยผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เข้าข่ายลักษณะข้างต้นจะต้องเข้ามาขอรับใบอนุญาตประเภทที่ 2 ภายใน 60 วันนับแต่ประกาศมีผลบังคับใช้ ซึ่งระหว่างนั้นสามารถดำเนินการกิจการได้ตามปกติ ในขณะที่ผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมอยู่แล้วให้สามารถใช้สิทธิเดิมไปจนกว่าใบอนุญาตดังกล่าวจะสิ้นสุดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น