xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ซัด ตร.ระดมยิงแก๊สน้ำตาขัดหลักสากล “รสนา” โต้รัฐบาล แก้ตัวฟังไม่ขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต (แฟ้มภาพ)
โฆษก ปชป.ประณามตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมสนุกมือ ผิดหลักสากล ขณะที่ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ไร้ภาวะผู้นำ สถานการณ์วุ่นวายแต่ตัวเองหายหัว จ้างนักรบเขมรสวมชุดดำยิงนักศึกษา ม.รามคำแหง ฉะ “ปึ้ง” ร่อนจดหมายเชิญทูตให้ประณามมวลชนเป็นการใส่ร้ายประชาชน ด้าน “รสนา” โต้ “ประชา” อ้างการไม่รับอำนาจศาล รธน. และการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา ไม่เกี่ยวรัฐบาลฟังไม่ขึ้น เหตุรัฐบาลได้รับการค้ำจุนจากสมาชิกสภาฯ แถม “นายกฯ ปู” ยังโหวตเองทั้ง 2 เรื่องจึงหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวประณามการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติการต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ว่าไม่ได้ดำเนินการตามระบบสากลโดยมีการใช้แก๊สน้ำตาก่อนมีการแจ้งเตือนตามลำดับ และไม่เป็นไปตามแบบวิธีที่ถูกต้อง คือ ยิงพุ่งตรงมายังกลุ่มผู้ชุมนุมแทนที่จะยิงแนววิถีโค้ง โชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต หากปล่อยให้เป็นไปในลักษณะนี้ตนเกรงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะกลายเป็นนายกฯ ที่สั่งฆ่าประชาชนตัวจริง

“สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่านายกฯ ไม่ได้มีความจริงใจและจริงจังที่จะตอบรับข้อเสนอเรื่องการพูดคุยเจรจา เพราะเมื่อวานมีเหตุการณ์ตึงเครียดหลายจุด แต่ไม่มีใครทราบว่านายกฯ ไปไหน ไม่โผล่ออกมาเลยแม้แต่วินาทีเดียว ไม่ว่าจะหน้าจอโทรทัศน์ หรือวิทยุ หรือช่องทางการสื่อสารต่างๆสะท้อนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ขาดวุฒิภาวะการเป็นนายกฯ โดยเฉพาะที่ประเทศอยู่ในสภาวะวิกฤตเช่นนี้”

นายชวนนท์ยังกล่าวตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อวันวานนี้ (1 ธ.ค.) ว่า ตนอยากถาม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่ายังเป็นตำรวจของคนไทยทั้งประเทศหรือไม่ เพราะน่าละอายที่ปล่อยให้กองกำลังชุดดำกลับมาอีกครั้ง เรียกว่าเป็นกองกำลังชุดดำภาคสอง ตามรายงานที่ได้รับพบว่าส่วนหนึ่งไม่ใช่คนไทย แต่เป็นทหารรับจ้างจากประเทศเพื่อนบ้านที่แกนนำคนเสื้อแดงนำเข้ามาโดยเฉพาะ เพื่อสั่งฆ่าประชาชน ชุดเดียวกับที่ปฏิบัติการกลางสี่แยกราชประสงค์ และสี่แยกคอกวัวในปี 53 น่าเสียใจที่ตำรวจไทยไม่สามารถป้องกันทหารรับจ้างจากต่างประเทศได้

“โชคดีที่ยังมีทหารของพระราชาออกมาคุ้มครองดูแลความปลอดภัยให้คนไทย สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ปรารถนาจะเป็นนายกฯ ของประเทศนี้ต่อไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งการเสียชีวิตของนักศึกษา และการบาดเจ็บของประชาชน น.ส.ยิ่งลักษณ์จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เลย”

ส่วนที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เข้าไปคุมศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยจะชี้แจงกับตัวแทนทูตต่างๆ ที่ประจำประเทศไทย และองค์กรระหว่างประเทศนั้น นายชวนนท์กล่าวว่า ตนเชื่อว่าจะมีการให้ร้ายประชาชนอย่างเป็นระบบ และจะบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้ดูว่าการชุมนุมไม่เป็นไปตามระบบประชาธิปไตย เพราะจากจดหมายที่นายสุรพงษ์ส่งไปยังสถานทูตต่างๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาประณามประเทศตัวเอง นอกจากจะบิดเบือนทำนองมีการบุกรุกยึดสถานที่ราชการและไม่ให้เจ้าหน้าที่ทำงานซึ่งเป็นความเท็จ ตรงกันข้าม นายสุเทพพูดชัดว่าสถานที่เปิดบริการตามปกติ

“นายสุรพงษ์ยังเรียกร้องให้ประชาคมโลกประณามการประทำของประชาชนคนไทย ไม่มีที่อยู่ๆ ไทยเที่ยวร้องแลกแหกกระเชอขอให้ต่างชาติมารุมประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทย เพราะเป็นเรื่องผิดมารยาทการทูตที่ไม่ทำกัน และเป็นเรื่องภายในที่เราต้องจัดการเอง ไม่ใช่เอาเรื่องเท็จไปขายให้ต่างชาติ ยืนยันว่ายังไม่มีประเทศไทยออกมาประณามการกระทำครั้งนี้ ส่วนที่บอกว่ามีการเตือน 10 ประเทศนั้นเป็นแค่การเตือนนักท่องเที่ยวของเขาให้รับทราบถึงสถานการณืภายในประเทศไทยว่ามีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงที่ใดบ้าง ตามปกติ แต่แถลงการณ์ทุกฉบับไม่มีการประณามการเคลื่อนไหว มีแต่ขอร้องรัฐบาลให้ใช้ความอดทนและขอให้เจรจาอย่างสันติเท่านั้น มีแต่รัฐบาลไทยที่ยืมมือต่างชาติมาโจมตีกันเอง”

วันเดียวกัน น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “รสนา โตสิตระกูล” โดยระบุว่าเป็นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.ต.อ ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 4) เนื่องความระบุว่า จากการแถลงการณ์ของรัฐบาลโดยท่านรองนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรี ในค่ำวันที่ 1 ธันวาคมนี้ เพื่อชี้แจงถึงความชอบธรรมของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยเหตุผลที่สรุปได้ดังนี้

1) ข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลไม่เคารพศาลรัฐธรรมนูญ กรณีแก้ไขที่มาของ ส.ว นั้น ขอแจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลไม่เคยมีแถลงการณ์ใดๆ หรือมีการแสดงใดๆ ที่เป็นการไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่รัฐบาล

2) เรื่องร่าง พ.ร.บ นิรโทษกรรมที่เป็นประเด็นเริ่มต้นในการชุมนุมคัดค้านรัฐบาล และรัฐสภา นั้นไม่ใช่ร่างของคณะรัฐมนตรี แต่เป็นร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นอำนาจนิติบัญญัติ แยกออกจากอำนาจฝ่ายบริหาร และขณะนี้เมื่อสมาชิกวุฒิสภามีมติไม่รับหลักการอย่างเป็นเอกฉันท์แล้ว ทางสภาผู้แทนราษฎรก็จะไม่สนับสนุนร่างฯฉบับนี้ต่อไป ถือได้ว่าร่างฯฉบับนี้ตกไป ไม่มีโอกาสบังคับใช้แน่นอนแล้ว

ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการดังกล่าว ท่านรองนายกฯ ก็ทึกทักเอาว่าประชาชนไม่มีเงื่อนไขที่จะชุมนุมคัดค้านรัฐบาลอีกแล้ว การที่ประชาชนยังไม่ยุติการชุมนุมจึงเป็นการส่อนัยว่าประชาชนถูกชักจูง หรือใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

ข้ออ้างในแถลงการณ์ของรัฐบาลในสายตาประชาชนขาดน้ำหนัก และฟังไม่ขึ้น เพราะ

1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากก็เป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย ท่านนายกรัฐมนตรีก็เป็นสมาชิกอันดับหนึ่งของพรรคเพื่อไทย และในการลงมติวาระ 3 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยที่มาของ ส.ว นายกรัฐมนตรีก็ได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขดังกล่าว ท่านนายกรัฐมนตรีจึงเป็นทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้ารัฐบาล ดังนั้นข้อกล่าวอ้างของท่านที่ว่าการไม่ยอมรับอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่รัฐบาลจึงไม่อาจรับฟังได้

2) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรองนายกฯ เป็นลูกพรรคได้เปิดแถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทยพร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรคประกาศไม่รับอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การที่ท่านนายกรัฐมนตรี และตัวท่านเองก็เป็นผู้ใหญ่ในพรรค และเป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล คำแถลงของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารจึงผูกพันสมาชิกพรรคทุกคน

3) ข้อกล่าวอ้างของท่านที่ว่า รัฐบาลไม่เคยมีแถลงการณ์ หรือมีการแสดงใดๆ ที่เป็นการไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น แต่ก็ไม่เคยมีคำแถลงจากปากของท่านนายกรัฐมนตรี ว่ายอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน ดังเมื่อนักข่าวถามท่านนายกฯถึงเรื่องนี้ ท่านตอบว่ากำลังให้กฤษฎีกาพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่คำวินิจฉัยของศาลชัดเจนอยู่แล้ว หรือว่าท่านนายกฯเห็นว่าคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาเหนือกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อไหร่จึงจะได้คำตอบจากกฤษฎีกาที่จะทำให้ท่านนายกฯมั่นใจว่าจะทำตาม หรือไม่ทำตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่พฤติกรรมที่เป็นเครื่องแสดงว่าท่านนายกฯยังไม่ยอมรับอำนาจการวินิจฉัยของศาล ก็คือการไม่ขอพระราชทานคืนร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยที่มาของ ส.ว ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ

การที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยอ้างว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมอยู่ในพระบรมวินิจฉัยแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัย ซึ่งถือได้ว่าเป็นความเข้าใจผิด (หากไม่ใช่ความจงใจ) ที่ประชาชนไม่อาจให้อภัยได้ เพราะในความเป็นจริงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สุด

ในเมื่อคำกล่าวอ้างของท่านไม่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาของประชาชนว่ารัฐบาลของท่านเป็นกบฎต่อรัฐธรรมนูญ ประชาชนจึงใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงในการต่อต้านการกระทำอันเป็นกบฎของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า หลังจากที่ท่านแถลงการณ์ ประชาชนกลับจะรวมตัวกันต่อต้านท่านมากขึ้น ไม่ใช่เพราะถูกชักจูงโดยแกนนำหรือพรรคการเมืองใด แต่เป็นเพราะหมดความไว้วางใจรัฐบาลที่ขาดความสำนึกขั้นพื้นฐานที่ต้องเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดดังเช่นวิญญูชนทั่วไปพึงกระทำ แม้แต่สื่อมวลชนยักษ์ใหญ่อย่าง นสพ.ไทยรัฐ ที่คนทั่วไปเห็นว่าเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล ก็ยังมีบทบรรณาธิการเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ชื่อ “ทรราชข้างมาก” เนื้อความตอนหนึ่งว่า

“ระบบพรรคการเมืองของไทยยังไม่เป็น “พรรค” การเมืองที่แท้จริงเหมือนกับนานาอารยประชาธิปไตย ไม่ใช่พรรคของมวลชน บางพรรคไม่ได้เป็นแม้แต่พรรคของสมาชิกหรือ ส.ส แต่เป็นพรรคของนายทุน ส.ส เป็นคล้ายกับพนักงานบริษัทต้องออกเสียงลงประชามติตามคำสั่งเจ้าของพรรค จึงไม่อาจตรวจสอบรัฐมนตรีที่เป็นระดับผู้ใหญ่ของพรรค “ดังนั้น ตราบใดที่รัฐบาล “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เชื่อฟังศาลรัฐธรรมนูญ ตราบนั้นก็อย่าหวังเรียกร้องการเชื่อฟังจากประชาชน”


กำลังโหลดความคิดเห็น