Jasmine Revolution หรือ การปฏิวัติดอกมะลิ คือ การลุกขึ้นสู้ของประชาชนชาวตูนีเซีย ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553- เดือนมกราคม พ.ศ.2554 เพื่อโค่นล้มระบบการปกครองของประธานาธิบดีบิน อะลี ซึ่งปกครองประเทศมายาวนานถึง 23 ปี
ประธานาธิบดี บิน อะลี ได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 90 % ชนะการเลือกตั้ง 5 สมัย แต่ภายใต้รูปแบบการปกคองแบบประชาธิปไตย กลับมีเนื้อหาที่เป็นเผด็จการ ประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ เงินเฟ้อสูง คนว่างงานเป็นจำวนมาก
ที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาการคอร์รัปชั่นของคนในคณะรัฐบาล วงศาคณาญาติ และข้าราชการ สิ่งเหล่านี้ สั่งสมความคับแค้นใจ ให้กับชาวตูนีเซีย มานาน จนระเบิดขึ้นเมื่อ เกิดแหตุการณ์ พ่อค้าผลไม้วัย 26 ปี เผาตัวเองประท้วง ที่ถูกตำรวจหญิงยึดแผงลอยขายผลไม้ เพราะไม่มีใบอนุญาต และถูกตบหน้า ถ่มน้ำลายใส่ เมื่อไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากทางการก็ไม่ได่รับความสนใจ จึงเผาตัวตายประท้วง
ความตายของพ่อค้าผลไม้รายนี้ เป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่จุดชนวนให้ ความคับแค้นของชาวตูนิเซียทั่วประเทศ ระเบิดออกมา มีการเดินขบวน ขับไล่รัฐบาลไปตามท้องถนน ในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ทางการส่งกำลังตำรวจเข้าปราบปราบ จนเกิดการปะทะกัน มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่อาจเอาชนะพลังประชาชนได้ สุดท้าย ประธานาธิบดีบิน อาลี ต้องยอมลาออกและลี้ภัยไปอยู่ที่ซาอุดิอาระเบีย
ดอกมะลิเป็นสัญญลักษณ์ประจำชาติของตูนีเซีย สื่อมวลชนจึงขนานนามการลุกขึ้นสู้ครั้งนี้ว่าการปฏิวัติดอกมะลิ ซึ่งได้สร้างกระแส ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกอาหรับ ในตะวันออกกลาง และทวีปอาฟริกาเหนือ ทำให้เกิด Arab Spring หรือ การลุกขึ้นสู้ของประชาชนในโลกอาหรับ จากอียิปต์ จอร์แดน ไปถึงอัลจีเรีย หลายไประเทศมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอียิปต์ ที่ประธานาธิบดีมูบารัค ต้องลาออกจากตำแหน่ง ส่วนประเทศที่ผู้นำยังรักษาอำนาจไว้ได้ ต้องสัญญากับประชาชนว่า จะปฏิรูปการปกครอง
คงมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่แอบตั้งความหวังว่า ปรากฏการณ์แบบการปฏิวัติดอกมะลิ การลุกขึ้นสู้ในโลกอาหรับ จะเกิดขึ้นในประเทศไทยบ้าง แม้จะยอมรับกับตัวเองว่า ความเป็นไปได้แทบจะไม่มีเลย เพราะบริบททางสังคม วัฒนธรรม การเมืองนั้นแตกต่างกัน และคนไทยส่วนใหญ่เป็นไทยเฉย ยอมจำนนต่ออำนาจที่ฉ้อฉล
แต่แล้ววันหนึ่ง คนไทยก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ได้เป็นไทยเฉย แต่เป็นไทยอดทน คนไทยมากกว่าหนึ่งล้านคน ก็พร้อมใจกันเดินเข้าสู่ถนนราชดำเนิน เพื่อสู้กับระบอบทักษิณ เผด็จการในคราบประชาธิปไตย ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในทุกๆ ด้าน การชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อเนื่องไปถึงสะพานผ่านฟ้า สะพานมัฆวาน แยกนางเลิ้ง ยืดเยื้อมากว่าหนึ่งเดือนแล้ว แต่ยิ่งนานวัน กระแสการต่อต้านระบอบทักษิณ กลับยิ่งแรงกล้าขึ้น โดยมีเสียงนกหวีด เป็นสัญญลักษณ์ของการต่อสู้
ไม่เฉพาะที่ถนนราชดำเนิน ในกรุงเทพเท่านั้น ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคใต้ ประชาชนต่างตั้งเวที อภิปราย ต่อต้านระบอบทักษิณ เสียงนกหวีดดังแสบแก้วหูไม่แพ้กัน
แปดปีที่ประชาชนชาวไทยต่อสู้กับระบอบทักษิณ การเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบทักษิณของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นแสงสว่างที่ส่องให้คนเห็นความชั่วร้ายของระบอบทักษิณ เป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการต่อสู้ลงในจิตใจของผู้รักความเป็นธรรม เพื่อรอเวลาที่จะงอกงาม เบ่งบาน
สองปีกว่า ของรัฐบาลหุ่นเชิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถือว่า ประชาชนให้โอกาสกับรัฐบาลที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ยอมรับในกติกา อดทน อดกลั้นกับพฤติกรรมของนักการเมืองในซีกรัฐบาล ทำใจกับวุฒิภาวะ สติปัญญา คุณธรรม จริยธรรม ของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ
ความอดทนนี้มาถึงขุดสิ้นสุด เมื่อฟางเส้นสุดท้าย ถูกวางลงบนหลังลา คือ การผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อลบล้างความผิดคดีคอร์รัปชั่นให้พี่ชาย ด้วยวิธีการที่รวบรัด ปิดกั้น การตรวจสอบ ปิดปากผู้ที่ไม่เห็นด้วย
คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สร้างความกระจ่างชัดให้กับประชาชนว่า เสียงข้างมาก ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงที่ประชาชนต้องยอมสยบให้ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นเสียงที่ไม่ชอบธรรม เสมอไป
การประกาศไม่ยอมรับคำวินิจฉัยนี้ของประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ส.ส.พรรคเพือ่ไทย และพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้ประชาชนได้เห็นว่า คนเหล่านี้จะยอมรับกติกาบ้านเมืองก็ต่อเมื่อเป็นคุณกับพวกตนเท่านั้น แต่พร้อมจะฉีกกติกาทิ้ง ถ้ากติกานั้นตัดสินว่าตนผิด
เสียงนกหวีดที่ดังแสบหูที่ถนนราชดำเนิน และทุกหนทุกแห่งทั่วประเทศไทย คือเสียงที่ปลุกประชาชนให้ตาสว่าง ให้ออกจากบ้าน เดินสู่ท้องถนน เพื่อต่อสู้กับระบอบทักษิณ ไม่มีใครรู้หรอกว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะจบลงอย่างไร ที่แน่นอนคือ วันเวลาของ ระบอบทักษิณหมดแล้ว