xs
xsm
sm
md
lg

“หมอวรงค์” กระชากหน้ากากขบวนการโกงข้าว แหกตาทำข้าวถุงก่อนเวียนขายคืนโรงสี งาบ 1.2 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หมอวรงค์” สาวไส้ขบวนการงาบข้าว เปิดโปรงขบวนการม็อบมอดข้าวถุง 2.5 ล้านตัน จัดทำ 4 ครั้งไม่มี จนท.คนใดกล้าลงนามกลัวติดคุกเพราะทุจริตอื้อ แฉ อคส.ทำข้าวถุง 90% แต่ไม่มีออกขาย เหตุ 3 บริษัทล้วนลิ่วล้อนายใหญ่ จับมือ อคส.แหกตาขายคืนโรงสี พร้อมเปิดตัวละครใหม่ “เสี่ยหรั่ง” มี รมต. “ว.” สายตรง “เจ๊ ด.” เป็นแบ็ก กวาดโควตาทำข้าวถุงถึง 1.5 แสนตัน โวย กก.สอบแบนคลิปหลักฐานสารภาพ “สารวัตรเหยิน” กลาง กมธ.ก่อนโดนเขี่ยจาก ผอ.อคส. เตรียมลงยูทิวบ์แฉซ้ำ ด้าน รมต.ดาหน้าแจงแทน “ปู” ปัดข้อหา “วราเทพ” ร้อนตัวยันไม่รู้เห็น ท้าพิสูจน์ความจริง อัดกลับเก่งแต่กล่าวหา “นิวัฒน์ธำรง” อ้างสารวัตรเหยินถูกไล่ออกจากตำแหน่งเพราะทุจริต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (27 พ.ย.) เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 เริ่มจาก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายเรื่องการทุจริตโครงการจำนำข้าวพร้อมตั้งชื่อการอภิปรายครั้งนี้ว่า “จุดจบจำนำข้าวสู่อวสานรัฐบาลยิ่งลักษณ์” โดยพุ่งเป้าไปที่การระบายข้าวผ่านโครงการข้าวถุงถูกใจ ธงฟ้า และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่ผ่านมาคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติจัดทำข้าวถุง 4 ครั้ง คือ

(1. เดือน ต.ค. 54 จำนวน 1 แสนตัน 20 ล้านถุง (2. เดือน มี.ค. 54 จำนวน 1 แสนตัน (3. เดือน พ.ค.5 5 จำนวน 5 แสนตัน (4. เดือน ธ.ค. 55 จำนวน 1.8 ล้านตัน แยกเป็นเดือนละ 3 แสนตัน 6 ครั้ง เหตุใดมีการจัดทำข้าวถุงพร่ำเพรื่อ ทั้งที่การจัดทำข้าวถุงตั้งแต่ครั้งที่ 1 ยังไม่เสร็จ ก็ยังเดินหน้ามีมติในครั้งต่อๆ มา

นอกจากนี้ การทำสัญญาแต่ละครั้งยังเป็นสัญญาปลายเปิด ไม่มีการระบุว่าจะต้องทำให้เสร็จภายในเมื่อใด ซึ่งการจัดทำข้าวถุงครั้งที่ 4 พบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐมาลงนามในสัญญา เพราะผู้ลงนามพบว่า การระบายข้าวมีปัญหามากจึงไม่กล้าลงนาม จากการได้คุย พ.ต.ต.ศราวุฒิ สกุลมีฤทธิ์ หรือสารวัตรเหยิน อดีต ผอ.อคส. ยอมรับว่ามีการทุจริตมาก หากเกิดอะไรขึ้นจะต้องรับผิดชอบคนเดียว ฝ่ายการเมืองเอาตัวรอด จึงไม่กล้าลงนาม จากนั้นไม่กี่วัน พ.ต.ต.ศราวุฒิก็ถูกพักงาน และอีกไม่นานก็เสียชีวิต

นพ.วรงค์กล่าวว่า จากตรวจสอบพบว่าการระบายข้าวด้วยวิธีการทำข้าวถุงมีข้าวธงฟ้า 0.3 เปอร์เซ็นต์ ข้าวถูกใจ 8 เปอร์เซ็นต์ และข้าว อคส. 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการระบายข้าวส่วนใหญ่อยู่ที่ข้าว อคส.ที่มีเจตนาทุจริตชัดเจน เพราะไม่เคยพบว่ามีข้าว อคส.ในตลาดเลย เนื่องจากไม่มีการทำข้าวถุง อคส.จริง แต่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง 3 ฝ่าย คือ 1. อคส. 2. โรงสีที่รับปรับปรุงข้าว 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท เจียเม้ง จ.นครราชสีมา, บริษัท โชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ จ.ลพบุรี และบริษัท สิงโตทองไรซ์ จ.กำแพงเพชร

และ 3. บริษัทตัวแทนจำหน่ายข้าวถุง 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท สยามรักษ์, บริษัท คอนไซน์เทรดดิ้ง และบริษัท ร่มทอง โดยพบว่า ปริมาณข้าวถุง อคส. 120,176,000 ถุงที่ อคส.ส่งให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายข้าวถุง 3 แห่ง ราคาถุงละ 65.70 บาท เพื่อไปขายให้ประชาชนถุงละ 70 บาท แต่ปรากฏว่าทั้ง 3 บริษัทไม่ได้นำข้าวไปขายให้ประชาชนตามเจตนารมณ์ของโครงการ แต่กลับไปจำหน่ายคืนให้โรงสีที่รับปรับปรุงข้าว โดยทำกันที่ อคส.แล้วออกใบส่งมอบข้าว และจ่ายเงินผ่านเช็คธนาคาร โดยไม่มีการแปรเป็นข้าวถุงจริง ถือเป็นการโกหกแบบหน้าด้านๆ เรื่องนี้มีหลักฐานชัดเจน

นพ.วรงค์ได้ขออนุญาตเปิดคลิปสนทนาที่มีเนื้อหาการชี้แจงของตัวแทนของบริษัท คอนไซน์เทรดดิ้ง กับบริษัท ร่มทอง ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร โดยยอมรับว่าไม่มีประสบการณ์ขายข้าวถุง จึงขายคืนให้โรงสีที่รับปรับปรุงข้าวทั้ง 3 แห่ง แต่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานการประชุม ไม่อนุญาตให้เปิดคลิป เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาเอกสารหลักฐานประกอบการอภิปรายไม่อนุญาต เพราะคลิปดังกล่าวยังไม่ได้รับการยินยอมจากบุคคลภายนอกให้นำมาเปิดเผยได้ ทำให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์หลายคนไม่พอใจรุมประท้วง แต่นายวิสุทธิ์ยืนยันว่าไม่สามารถเปิดคลิปได้ และให้ดำเนินการอภิปรายต่อไป

ทั้งนี้ นพ.วรงค์อภิปรายต่อว่า เมื่อไม่สามารถเปิดคลิปได้ แต่มีหลักฐานเป็นคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัท สยามรักษ์ บริษัท คอนไซน์เทรดดิ้ง และบริษัท ร่มทอง ว่ามีการขายข้าวคืนให้โรงสีที่รับปรับปรุงข้าวทั้ง 3 แห่งจริง โดยในส่วนของบอร์ด อคส.จะมี พ.ต.ท.ไพโรจน์ เป็นประธานบอร์ด อคส. ซึ่งคนในวงการรู้ดีว่าเป็นเด็กนายใหญ่ มี นพ.เกรียงชัย ประสงค์สุกาญจน์ เป็นรองประธาน อคส.ที่เป็นเพื่อนนักเรียนแพทย์รุ่นเดียวกับ นพ.วีรวุฒิ วัจนะพุกกะ หรือหมอโด่ง อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ที่เคยพูดถึงในการอภิปรายครั้งที่แล้วว่าเป็นจอมรับงานโครงการจำนำข้าว

ที่ผ่านมา บริษัท โชควรลักษณ์ ที่มี “เสี่ยเปี๋ยง” ผู้ใกล้ชิดนายใหญ่ ที่เป็นนอมินีมาหาประโยชน์ให้คนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี แต่ขณะนี้มีตัวละครใหม่ คือ บริษัท สิงโตทองไรซ์ จ.กำแพงเพชร มี “เสี่ยหรั่ง” หรือนายมนต์ชัย ที่คนในวงการรู้ดีว่า มีรัฐมนตรี “ว.” สายตรง “เจ๊ ด.” เป็นแบ็กให้ แม้จะเป็นบริษัทที่เพิ่งเข้ามาใหม่ แต่ได้รับโควตาทำข้าวถุงถึง 1.5 แสนตัน สมัยนี้ฝ่ายการเมืองเขาไม่กินเอง แต่จะมีบริษัทรับงานจัดการให้ ขณะที่บริษัท เจียเม้ง แม้จะไม่มีนักการเมืองเป็นแบ็ค แต่ใจถึง ตอบสนองความต้องการฝ่ายการเมืองได้ เพราะรู้กลไกการทำข้าวถูกใจก่อน มีการสั่งทำถุงข้าวรอไว้ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. ก่อนวันที่ ครม.จะอนุมัติโครงการข้าวถุงในวันที่ 20 มี.ค. แต่ระยะหลังพอเริ่มรู้ตัว ก็เริ่มผันตัวออกจากโครงการ โดยมีบริษัท สิงโตทองไรซ์ และบริษัท โชควรลักษณ์ เข้ามาแทนที่

นพ.วรงค์อภิปรายว่า จากการตรวจสอบยังพบว่า บริษัท คอนไซน์เทรดดิ้ง และบริษัท ร่มทอง ต่างทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เหมือนกัน และผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง 2 ปี เช่นกัน เมื่อมารับทำโครงการนี้แต่ขายไม่เป็นเลยต้องขายคืนให้ 3 โรงสี ดังนั้น 2 บริษัทนี้จึงเป็นแค่พระอันดับ ขณะที่บริษัท สยามรักษ์ เป็นบริษัททำดอกไม้แห้ง สมุนไพรส่งออก เข้ามาเป็นบริษัททำข้าวถุงตั้งแต่เริ่มโครงการ ซึ่งข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 54 พบว่า มีนายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ เป็นกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นพี่น้องกับ นพ.เกรียงชัย และยังมี นพ.วีรวุฒิ วัจนะพุกกะ เป็นกรรมการบริษัทฯ ด้วย แต่หลังจากนั้น นพ.วีรวุฒิได้ลาออกมาเป็นเลขานุการ รมว.พาณิชย์

“หมอโด่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญาติของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แล้วนายกฯ จะไม่รับผิดชอบได้อย่างไร ขอถามใจนายกฯ ว่าทำอย่างไรปล่อยให้มีการโกงทุกขั้นตอน แล้วยังมาอ้างทำข้าวถุงขายให้คนจน แล้วยังโกงอีก วนไปเวียนมา อยู่กับคนที่ใกล้ชิดนายกฯ ดังนั้น นายกฯ ไม่ต้องไปไหน เรื่องนี้จะเป็นชนักติดตัวไปตลอด นายกฯ ควรชี้แจงเรื่องนี้ด้วยตัวเอง เพราะคนใกล้ชิดนายกฯได้รับประโยชน์ ทีแรกคิดว่านายกฯ ไม่รู้ อยู่ในฐานะนั่งเรือที่โจรพาย แต่ตอนหลังมีการโกงทั้งจีทูจี ทั้งข้าวถุง น่าจะเป็นการพายเรือร่วมกับโจร รัฐบาลนี้ไม่ได้ช่วยคนจน แต่เอาคนจนมาทำมาหากิน”

นพ.วรงค์อภิปรายกล่าวว่า การปรับปรุงข้าวของโรงสีซึ่งรับซื้อข้าวจาก อคส.ในราคาถุงละ 65.60 บาท ดังนั้น 1 ตัน 200 ถุงจะเท่ากับมีต้นทุน 13,120 บาท และได้ค่าปรับปรุง 24 บาทต่อถุง รวม 1 ตัน โรงสีจะได้เงิน 4,800 บาท สรุปแล้วต้นทุนของโรงสีจะเหลือตันละ 8,320 บาท ทำให้มีการนำข้าวนี้กลับไปเวียนเทียนข้าวอีกรอบในราคาตันละ 14,000 บาท เท่ากับโรงสีจะได้กำไรเพิ่มอีก 5,680 บาทต่อตัน

นอกจากนี้ มติการจัดทำข้าวถุงครั้งที่ 4 จำนวน 1.8 ล้านตัน นักวิชาการคำนวณว่าจะมีกำไร 8,520 ล้านบาท แต่ตนทราบมาว่าฝ่ายการเมืองขอแบ่งไป 5,000 ล้านบาท ที่เหลือให้โรงสีไปแบ่งกันเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อการจับทุจริตการทำข้าวถุงได้ก่อน ทำให้ ครม. มีมติวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้ชะลอการทำข้าวถุงออกไป ทำให้ความเสียหายเหลือเพียง 1.2 หมื่นล้านบาท แต่หากจับไม่ได้จะเกิดความเสียหายถึง 5 หมื่นล้านบาท

โดยในช่วงท้ายการอภิปราย นพ.วรงค์กล่าวปิดท้ายพร้อมชูป้ายเขียนข้อความระบุว่า “ลำยองกินเหล้า ยิ่งลักษณ์กินเมือง” จึงไม่สามารถไว้วางใจให้บริหารงานต่อได้ แต่ถูก ส.ส.พรรคเพื่อไทยรุมประท้วง นพ.วรงค์จึงยอมถอนคำพูดดังกล่าว

จากนั้น นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ ขอใช้สิทธิ์ถูกพาดพิงทันทีว่ายืนยันว่า นพ.วรงค์มีเจตนาที่จะกล่าวถึงตนอย่างชัดแจ้ง และพยายามเน้นชื่อบริษัทและจังหวัดกำแพงเพชรตลอด และรัฐมนตรียิ้มลงท้ายว่ารัฐมนตรีอักษรย่อ “ว.” เป็นแบ็ก ทำให้ตนเสียหายและขอใช้สิทธิ์พาดพิง ตนไม่ทราบว่า นพ.วรงค์นำเรื่องที่ไหนมาอภิปราย แต่สิ่งที่ นพ.วรงค์กล่าวเท็จคือพยายามผูกเรื่องให้ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ โดยนำประเด็นว่ามีผู้ประกอบการโรงสีสิงโตทองไรซ์ ที่กำแพงเพชร และมีรัฐมนตรีอักษรย่อ “ว.” เป็นแบ็กอัพ ตนไม่ทราบว่าที่ นพ.วรงค์อ้างทั้งเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร จะจริงหรือไม่ไม่รู้ แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็น หรือทราบเรื่องใดๆ ทั้งสิ้นกับเหตุการณ์ที่นพ.วรงค์เอามาพูดในสภา ถ้า นพ.วรงค์มีหลักฐานว่าตนเข้าไปเกี่ยวข้องหรือรับรู้รับทราบ หรือลักษณะการสนับสนุน ตนยินดีจะไปพิสูจน์ทุกรูปแบบ และคนเชื่อมั่นว่าการกล่าวหานักการเมืองที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตเป็นเรื่องสำคัญ

“ผมเล่นการเมืองมา 20 ปี เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องรักษาไว้ในอาชีพนักการเมือง เพราะฉะนั้นการจะกล่าวหาใครควรจะกล่าวหาที่มีหลักฐาน การกล่าวหาลักษณะนี้เป็นการกล่าวหาลอยๆ ว่าบริษัทหนึ่งซึ่งอยู่ในจังหวัดของนักการเมืองคนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนจะต้องรู้จักกันเป็นธรรมดา แต่การรู้จักไม่ได้หมายความว่ารับรู้รับเห็นการกระทำ จะถูกหรือผิดก็ยังไม่ทราบ ผมไม่เรียกร้องให้ถอน ยืนยันเป็นการกล่าวความเท็จทั้งสิ้น”

ทำให้ นพ.วรงค์ลุกขึ้นประท้วงว่า ไม่คิดว่ารัฐมนตรีจะกินปูนร้อนท้องขนาดนี้ เพียงแต่จะเผยว่าไม่ใช่ท่าน ซึ่งสามารถชี้แจงได้ แต่ยืนยันว่าข้อมูลที่ตรวจสอบว่าเป็นบารมีของรัฐมนตรี “ว.” คนหนึ่งในสายเจ๊ ด. ไม่ได้กล่าวหาใคร ขณะที่นายวราเทพชี้แจงว่า ตนคิดไม่ผิดว่าจะต้องพูดว่ากินปูร้อนท้อง และใช้ลักษณะของการล่อ ใช้ชื่อมาก่อนและลุกขึ้นมาพูด ตนยืนยันว่าเป็นลักษณะการใช้เกมฉ้อฉลเพื่อจะให้ผูกเรื่องนี้ให้มีความน่าเชื่อถือ

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชี้แจงว่า ขออนุญาตเรียนท่านสมาชิกที่เคารพว่า ในส่วนนี้การทำงานของนโยบายของรัฐบาลเรื่องการรับจำนำข้าว นั้น ท่านสมาชิกได้มีการกล่าวถึงในหลายๆ ระดับด้วยกัน ขอเรียนเพื่อทำความเข้าใจที่ตรงกันว่า วิธีการทำงานนั้น มีหลายๆ ขั้นตอนในการปฏิบัติงาน ตั้งแต่ขั้นแรก ในฐานะที่เป็นประธาน กขช. โดยตำแหน่ง ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น กขช.คือเป็นคณะกรรมการในระดับของนโยบายซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ในการทำงานดิฉันได้มอบหมายให้กับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานทุกครั้ง และจากคณะกรรมการของ กขช.นี้ คณะกรรมการ กขช.จะเป็นผู้ที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการทำงาน กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการรั่วไหลและการทุจรติคอร์รัปชัน เพื่อให้กับคณะอนุกรรมการ ซึ่งคณะอนุกรรมการในที่นี้ มีทั้ง 12 คณะ ก็จะมีรายละเอียดต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ในเรื่องของคณะอนุกรรมการด้านการผลิต การตลาด การดูแลรับจำนำ การระบายข้าว ซึ่งมีระดับรัฐมนตรี หรือระดับปลัดกระทรวง อธิบดี เป็นประธานอนุในแต่ละคณะอนุกรรมการ ซึ่งมี 12 คณะ และต่อมาก็คือระดับปฏิบัติการ ซึ่งระดับปฏิบัติการก็จะปฏิบัติการภายใต้การทำงานของคณะอนุกรรมการ

อนุกรรมการฯ แต่ละคณะอนุกรรมการก็จะมีแต่ละเรื่อง ดังนั้นการทำงานในเรื่องของนโยบายรับจำนำข้าวนั้น จะทำในรูปแบบของคณะทำงานในรูปแบบของคณะบุคคล จากคณะปฏิบัติก็จะมาถึงหน่วยปฏิบัติ ก็มีหลายหน่วยเช่นกัน หน่วยแรกคือ กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งกำกับโดยท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการค้าภายใน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แล้วก็ยังมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งกำกับโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และมีองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์การคลังสินค้า (อคส.) นี่คือระดับการทำงาน 3 ระดับ การตรวจสอบหรือการจ่ายเงินก็มาจากกระทรวงการคลัง จ่ายโดยผ่านสำนักงบประมาณเข้ามายังหน่วยงานสามหน่วยงาน โดยเฉพาะเงินที่เป็นเงินของพี่น้องเกษตรกรจ่ายผ่าน ธ.ก.ส.ทุกบาททุกสตางค์ อันนี้ขออนุญาตเรียนให้ทราบในเรื่องของแนวทางการดำเนินการซึ่งเรามีการพูดถึงกันอยู่ในหลายระดับ

สำหรับประเด็นที่ท่านสมาชิกพูดถึง คือ ประเด็นเรื่องข้าวถุง เรียนยืนยันว่าไม่รู้จักชื่อบุคคล หรือบริษัทที่ได้เอ่ยนามมาเลย และไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง สอง ปัญหาเรื่องข้าวถุงที่ท่านกล่าวถึงนั้น อยู่ในขั้นตอนระดับปฏิบัติ แล้วแต่ละขั้นตอนต้องเรียนว่าถ้ามีปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการทุจริต การรั่วไหล ยินดีที่จะดำเนินการตามขั้นตอนไม่มีละเว้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า ชี้แจงข้อกล่าวหาของ นพ.วรงค์ ว่าแม้ตนจะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยตำแหน่ง แต่ได้มอบหมายให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุมทุกครั้ง ทั้งนี้ การทำงานของรัฐบาลโดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวได้มีการแบ่งการทำงานเป็นหลายระดับ หลายคณะ ทั้งนี้ คณะ กขช. เป็นผู้ที่กำหนดนโบบายและแนวทางการทำงาน รวมถึงกำหนดมาตรการต่างๆ โดยมี 12 คณะอนุกรรมการดำเนินการ ทั้งในการดูแลการผลิต การตลาด การจำนำ และการระบายข้าว นอกจากนั้นได้มีหน่วยปฏิบัติการภายใต้อนุกรรมการ โดยตนยืนยันว่าไม่รู้จักบุคคล หรือบริษัทที่ระบุในประเด็นการอภิปรายเรื่องทุจริตข้าวบรรจุถุง และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน ส่วนกรณีที่พบปัญหาของโครงการข้าวบรรจุถุง หากพบว่าในขั้นตอนใดที่มีปัญหาการทุจริตหรือรั่วไหลจะดำเนินการตามขั้นตอนไม่มีละเว้น

“ยืนยันด้วยว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นประโยชน์และสามารถช่วยชาวนาให้มีฐานะดีขึ้น ส่วนประเด็นการทุจริตที่มีการระบุถึงได้มีการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตั้งกรรมการตรวจสอบอย่างเข้มงวด”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการอภิปรายดำเนินไป บรรยากาศในที่ประชุมเริ่มระอุ เมื่อรัฐมนตรีหลายคนได้พยายามจะขอใช้สิทธิ์ชี้แจงแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยอ้างว่าถูกพาดพิงถึง อาทิ นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ประท้วงคัดค้านไม่ให้ชี้แจง เพราะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะที่นั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการ กขช.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้นทุกอย่าง แต่นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมได้วินิจฉัยว่า ผู้ถูกพาดพิงสามารถชี้แจงได้ ทำให้ถกเถียงกันไปมาจนมีคำสั่งให้เชิญตัวนายไชยวัฒน์ ไตยรสุนันท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ออกจากห้องประชุม ท่ามกลางเสียงตะโกนทักท้วงจากฝั่ง ส.ส.ประชาธิปัตย์ ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างวุ่นวายร่วม 10 นาที

เมื่อเหตุการณ์สงบ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมว.พาณิชย์ ชี้แจงว่า ยืนยันว่านายกฯ และตน ไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริต และที่ว่าการนำข้าว 2.5 ล้านตันไปทำข้าวถุงนั้น มีโครงการทำข้าวถุงจริง แต่เบิกไปทำเพียง 5.9 แสนตัน ที่เหลือคืนคลัง โดยตนสั่งการเอง ดังนั้น ตัวเลข 2.5 ล้านตันนั้นไม่เป็นความจริง ความเสียหายถ้ามีก็มีเพียงเท่านั้น ส่วนประเด็นสารวัตรเหยิน ถือว่ามีความผิดไล่ออกจาก อคส. และมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว เรื่องทุจริตทั้งหลายถ้ามีจริงก็จะอยู่ในระดับนั้น หากฝ่ายค้านมีข้อมูลขอให้ส่งมาเพื่อดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

ขณะที่ นพ.วรงค์ ได้นำคลิปที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดในห้องประชุมมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน โดยภาพในคลิปเป็นตัวแทนของบริษัท ร่มทอง และบริษัท คอนไซน์เทรดดิ้ง ที่เกี่ยวกับการขายข้าวถุงให้โรงสีทั้ง 3 แห่งจริง ความยาว 2 นาที โดยตนจะนำไปเผยแพร่ในยูทิวบ์ใช้ชื่อว่า “คำสารภาพขายข้าวถุง-ร่มทอง-คอนไซน์ฯ” และข้อมูลต่างๆ สามารถขอได้จากรัฐสภา เนื่องจากเป็นข้อมูลที่มาจากการประชุมคณะกรรมาธิการพัฒนาการเศรษฐกิจที่เปิดเผยให้ประชาชนรับทราบอยู่แล้ว























กำลังโหลดความคิดเห็น