xs
xsm
sm
md
lg

“แรมบ้า” ซวยแล้ว กองทัพเอาเรื่อง กุข่าวทหารขนอาวุธซุกม็อบราชดำเนิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.วินธัย  สุวารี (แฟ้มภาพ)
กองทัพบกยืนยันไม่มีทหารพรานชื่อ “เต้ย จักราช” ตามที่ “สุภรณ์” แอบอ้าง ด้านกลาโหมซัดเป็นการเล่นการเมือง แล้วส่งผลกระทบสร้างความเสียหายกองทัพ รอกาตรวจสอบให้เสร็จ ก่อนเช็กบิล “แรมบ้า-เต้ย” เชื่อม็อบ 24 พ.ย.ไม่รุนแรง ตั้ง 19 จุดตรวจสกัดมือที่ 3 ป่วน ขณะเดียวกัน เฉ่งปมการเมืองทำลายความความมั่นคงชาติ เตือนไทยแตกสามัคคีทำชาติพัง ชี้คำตัดสินศาล รธน.ยิ่งเพิ่มปัญหา อัดสื่อแบ่งข้าง อคติเพิ่มความขัดแย้ง เรียกร้องหันหน้าคุยกัน คืนความสุขให้แผ่นดิน รับคุยสันติภาพใต้ไร้ผล โจรก่อเหตุต่อเนื่อง กอ.รมน.ปลุกคนใต้ต้านความรุนแรง

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก แถลงถึงกรณีที่นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้นำตัวนายเต้ย จักราช อายุ 23 ปี อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) สังกัดกรมทหารพรานที่ 42 อ.เทพา จ.สงขลา ร่วมแถลงข่าวการขนอาวุธเข้ามาในพื้นที่ชุมนุมที่ถนนราชดำเนินว่า เป็นไปตามที่แม่ทัพภาคที่ 4 ว่ากรมทหารพรานที่ 42 ไม่มีบุคคลดังกล่าว แต่เราก็ศึกษารายละเอียดอยู่ ทั้งนี้ ทีมงานประชาสัมพันธ์ของกองทัพบกได้ประสานไปยังทีมงานประชาสัมพันธ์ทำเนียบฯ ว่า จากการตรวจสอบไม่ปรากฏว่ามีทหารพรานคนดังกล่าว ทั้งนี้เป็นการประสานทางวาจา ไม่ได้มีการทำเอกสาร จึงยังไม่สามารถดำเนินคดีได้ ส่วนจะมีการดำเนินคดีต่อนายสุภรณ์ และนายเต้ยหรือไม่นั้น ต้องกลับไปปรึกษาส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายกฎหมายของกองทัพบกก่อน ซึ่งพฤติกรรมการขนย้ายอาวุธนั้นทางกองทัพมีมาตรการในการควบคุมการจ่ายอาวุธอย่างเข้มงวด จึงอยากแจ้งให้สังคมได้รับทราบ เพื่อคลายความสงสัย

ด้าน พล.ต.สุรชาติ จิตต์แจ้ง หัวหน้าประชาสัมพันธ์ส่วนประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ สำนักรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องการเมือง และอยู่ในบริบทการเมือง แต่ส่งผลกระทบในการสร้างความสับสน ถ้าไม่จริงก็เกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีวิธีการดำเนินการ แต่ต้องรอผลการตรวจสอบให้เสร็จสิ้น

พ.อ.จรูญ อำภา ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะรองโฆษกศูนย์อำนวยการร่วม สมช.กล่าวว่า เรื่องนี้ตนได้สอบถามไปยัง เลขาธิการ สมช. ซึ่งท่านก็ระบุว่าได้รับทราบในเรื่องดังกล่าว โดยเป็นกระบวนการต้องหาข้อมูลในเชิงลึกว่ามีการแอบอ้างหรือไม่ พร้อมกับประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางเลขาธิการ สมช.ระบุว่าไม่ได้รับรู้ว่าจะมีการแถลงข่าวที่ทำเนียบฯ เพิ่งมารู้จากสื่อในภายหลัง

พ.ต.ท.เนติ วงษ์กุหลาบ ตัวแทน สตช.ระบุว่า ทุกอย่างเป็นไปตามที่แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ชี้แจง ซึ่งในส่วนของ สตช.เราก็ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในทุกประเด็น ไม่เฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียว ทุกเรื่องที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เพราะเรามีจุดมุ่งหมายในการสกัดกั้นและป้องกันการก่อเหตุ ส่วนจะเป็นการแอบอ้างว่าเป็นทหารหรือไม่นั้น ต้องรอการสอบสวน อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ในฐานะ ผอ.ศอ.รส.ยังได้ติดตามการข่าว พร้อมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลการชุมนุมในวันที่ 24 พ.ย.นี้ พร้อมทั้งวางแผนในการดำเนินการ และเชื่อมั่นว่าประชาชนที่มาชุมนุมส่วนใหญ่ไม่นิยมความรุนแรง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งจุดตรวจในพื้นที่ กทม.เป็นด่านความมั่นคงจำนวน 19 จุด ซึ่งจะมีด่านทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กับ กทม.มีเจ้าหน้าที่ 12 นาย เจ้าหน้าที่ กทม.5 นายในพื้นที่ต่างจังหวัดก็ได้ดำเนินการตามปกติ การตั้งด่านก็เพื่อป้องกันมือที่ 3 ในการก่อเหตุ และหากผู้ใดเห็นพฤติกรรมที่น่าสงสัย และพบวัตถุที่ต้องสงสัยให้แจ้ง 191 และ 1195

พล.ต.สุรชาติ จิตต์แจ้ง ยังกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองว่า สัปดาห์นี้สถานการณ์การเมืองมีความเข้มข้นมากขึ้น หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินในประเด็นการแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทำให้เกิดประเด็นปัญหาทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น สร้างความยุ่งยากและความลำบากในการที่จะก้าวข้าม หรือผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ นี้ไปได้

ทั้งนี้ สถานการณ์การเมืองเกิดความแตกแยกและซึมลึกไปทั่วทุกองค์กร เกิดการแบ่งฝ่าย สื่อมวลชนก็แบ่งข้าง ข่าวแถลงเรื่องเดียวกันแต่เสนอไปกันคนละด้าน โดยปรุงแต่งด้วยการใช้ความเชื่อ และความอคติของตนเองไม่ยอมรับความเห็นของกันและกัน เอาชนะคะคานทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มและพวกพ้องมีแนวโน้มที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่าห่วงใยต่อบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง บรรยากาศความแตกแยกได้เกิดขึ้นและพัฒนามาตามลำดับมาเป็นเวลา 9 ปีแล้ว ควรพอกันได้หรือยัง ควรยุติกันดีหรือไม่ ควรจะมีการพูดคุยกันดีกว่า เพราะทุกคนต่างรักและหวังดีต่อประเทศไทย

“ประวัติศาสตร์ชาติไทยได้บันทึกไว้ว่าเมื่อยามใดที่คนไทยแตกความสามัคคีและเกิดการช่วงชิงอำนาจ ความพินาศย่อยยับจะเกิดขึ้นกับชาติบ้านเมือง และคนไทยทุกคนเมื่อนั้น ประเทศไทยได้รับการขนานนามจากชาติตะวันตกว่าเป็นสยามเมืองยิ้ม ได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีรอยยิ้มมีมิตรไมตรีมีน้ำใจที่ดีงาม ซึ่งเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมไทยที่คนทั้งโลกชื่นชม แต่ถามว่าขณะนี้ความดีงามเหล่านี้ยังคงมีอยู่ให้กันในฐานะคนไทยด้วยกันหรือไม่สถานการณ์การเมืองปัจจุบันทำให้เกิดการกัดเซาะ ผุกร่อนความมั่นคงของชาติ เพราะความมั่นคงของชาติคือการอยู่รอดปลอดภัยประชาชนกินดีอยู่ดี ประเทศชาติมีความปลอดภัยและพัฒนาอย่างยั่งยืนผมจึงอยากเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกคนร่วมมือช่วยกันเป็นพลังที่มีประสิทธิภาพและเป็นกระบอกเสียงให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันพูดคุยด้วยเหตุและผล ยึดถือประโยชน์ของชาติเป็นเป้าหมาย โดยระวางประโยชน์แห่งตน และพวกพ้อง”

พล.ต.สุรชาติกล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองมาถึงจุดที่ประชาชนต้องร่วมกันแสดงออกเป็นเสียงเดียวกัน เป็นพลังที่บริสุทธิ์ด้วยการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดสร้างความเกลียดชัง หยุดทำร้ายประเทศไทย ถึงเวลาคืนความสุขให้กับสังคมไทย ถึงเวลาหันหน้าเข้าหากัน เราต่างรักสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ขอให้ทุกคนลงมือทำทันทีก่อนที่จะสายเกินไป หากเราทำเมื่อไหร่ความเป็นปกติสุขก็จะเกิดขึ้นกับคนไทยและสังคมไทย แผ่นดินไทยก็จะร่มเย็น

พล.ต.สุรชาติ จิตต์แจ้ง ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์และการแถลงข่าวภายใต้คณะกรรมการประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมผู้แทนจากหน่วยที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเกิดความรุนแรงต่อเนื่อง และสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะอยู่ในช่วงการพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เห็นต่าง เพราะกลุ่มผู้เห็นต่างมีความต้องการสิทธิกำหนดชะตาตนเอง แม้จะมีการพูดคุยสันติภาพ 3 ครั้งไปแล้วก็ตาม แต่ความรุนแรงก็เกิดขึ้นเหมือนเดิม เรียกว่าคุยกันไปฆ่ากันไป ซึ่งสร้างความหงุดหงิดใจและคับข้องใจต่อคนไทย แต่เราก็อดทนมุ่งหวังเพื่อสร้างสันติภาพกลับคืนสู่คนไทย

ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ยังมีการลอบทำร้ายผู้นำท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่นหลายครั้ง ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ปัจจุบันเรามีการจัดตั้งคุ้มครองตำบลเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และรองรับกรณีที่กำลังทหารจะถอยออกไปจากพื้นที่ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งแนวคิดนี้มีแนวคิดมาตั้งแต่ปี 2544 แล้ว

พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่เกิดกระแสต่อต้านเบื่อหน่ายปฏิเสธความรุนแรง โดยเราได้มีการจัดกิจกรรมเช่นการร่วมพลังต่อต้านความรุนแรงการพบปะระหว่างผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน การประชาสัมพันธ์ การติดป้ายปฏิเสธความรุนแรง และมีหมู่บ้านปฏิเสธความรุนแรงเครือข่ายประชาชนรักสันติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในห้วงเวลานี้จะมีแนวโน้มเหตุการณ์ลดลง

นายวชิระ อัลภาชน์ ปลัด จ.ยะลา กล่าวว่า ทาง จ.ยะลา ได้ใช้กลยุทธ์ “รวมพลังสร้างสุข รุกการพัฒนา ปวงประชาปลอดภัย” เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ โดยมีประเด็นสำคัญคือการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ฝ่ายพลเรือน และกำลังประชาชน โดยนำกำลังที่ได้รับการฝึกมาใช้ในภารกิจเชิงรับในรูปของชุดคุ้มครองหมู่บ้าน (ชคบ.) และชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) เพื่อจะได้นำทหารไปใช้ในภารกิจเชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปัจจุบัน จ.ยะลาได้จัดตั้งชุด ชคต.จำนวน 22 ตำบล จากทั้งหมด 56 ตำบล ซึ่งในปีงบประมาณ 2557 ผู้ว่าฯ จังหวัดยะลา มีนโยบายให้อำเภอจัดตั้ง ชคต.เพิ่มอีก 10 ชุด เพื่อเข้ามาเสริมเพิ่มเติมในรักษาความปลอดภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น