xs
xsm
sm
md
lg

แผนอำมหิต รัฐบาลหักหลังเมินประกันราคาแยกสลายชาวสวนยางใต้ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ทำเอามึน งงไปไม่เป็นหันรีหันขวางกันอยู่พักใหญ่สำหรับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคใต้ หลังจากมีผลมติของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.)ออกมาว่าจะเพิ่มการช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย จากเดิมที่เคยให้ไร่ละ 1,620 บาท เป็น 2,520 บาท และเพิ่มจำนวนไม่เกินรายละ 25 ไร่ จากเดิมกำหนดแค่ 10 ไร่ โดยอ้างว่าเมื่อรวมกับราคายางในตลาดวันนี้ที่อยู่ราวๆกิโลกรัมละ 68-70บาท เมื่อรวมกับค่าปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นก็จะได้เป็นกิโลกรัมละ 90 บาท ตามที่ตกลงกันไว้

เอากับพ่อศรีธนญชัย ซี !!

ยังประเภทถามม้าตอบช้างเช่นเดิม เพราะวิธีการแบบนี้มันไม่ได้ตรงกับความต้องการของพี่น้องเกษตรชาวสวนยางพาราที่เคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงก่อนหน้านี้ ที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงด้วยการ “ประกันราคา” ในราคากิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 120 บาท แต่ก็ได้ยอมลดลงมาเหลือ 100 บาท และล่าสุดก็ยอมถูกหักคอเหลือแค่กิโลกรัมละ 90 บาท แม้จะไม่พอใจ แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องกัดฟันยอม

หากจำกันได้คราวนั้น รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานการแก้ปัญหาราคายาง ได้นำทีมคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เช่น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยุคล ลิ้มแหลมทอง เป็นต้น ลงไปเจรจากับบรรดาแกนนำเกษตรกรที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการเจรจาต่อรองกันอย่างเคร่งเครียดหลายชั่วโมง โดยฝ่ายรัฐบาลยืนยันได้เต็มที่แค่การประกันราคาที่กิโลกรัมละ 90 บาท ซึ่งแน่นอนว่าในความหมายก็คือรัฐบาลจะแทรกแซงราคารับซื้อนำตลาดที่กิโลกรัมละ 90 บาท ไม่ใช่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องค่าปุ๋ยเป็นหลัก เพราะก่อนหน้านี้ชาวสวนยางได้ย้ำว่าการช่วยเหลือดังกล่าวมีแต่เจ้าของสวนยางเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ขณะที่ระบบการผลิตในสวนยางทางภาคใต้ส่วนใหญ่จะเป็นแบบแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของสวนกับคนรับจ้างกรีดยางตามอัตราส่วนแบ่ง 40/60 หรือ 50/50 ซึ่งถ้าช่วยเรื่องปัจจัยการผลิตหรือปุ๋ย คนรับจ้างกรีดยางก็จะไม่ได้อะไร

ที่ผ่านมาในการเคลื่อนไหวของเกษตรกรก้ได้ยืนยันว่าต้องให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงราคาด้วยการประกันราคาในกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 100 บาท แต่ในที่สุดก็ต่อรองลดลงมาเหลือ กิโลกรัมละ 90 บาท ซึ่งก็มีการรับปากยืนยันว่าจะนำมาพิจารณาทบทวนที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) แต่แล้วผลที่ออกมากลับกลายเป็นการเพิ่มเรื่องปัจจัยการผลิตจากเดิมไร่ละ 1,620 บาท เป็น 2,520 บาท และเพิ่มจำนวนไร่จาก 10 ไร่เป็น 25 ไร่

ท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวของรัฐบาล หากพิจารณาจากความเป็นจริงมันก็ไม่ต่างจากการ “หักหลัง” เกษตรกร ใช้เล่ห์เหลี่ยมแพราวพราว อ้างว่าเมื่อรวมกับราคายางในตลาดบวกราคาปุ๋ยโดยเฉลี่ยรวมกันจะอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 90 บาท ตามที่ตกลงกันไว้

ขณะที่ฝ่ายเกษตรกรเวลานี้ถึงกับใบ้กิน ไปไม่เป็น หลายคนก็ยังงงกับคำพูดของทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่อ้างว่าชาวสวนพอใจเพราะได้ราคารวมกันแล้วกิโลกรัมละ 90 บาท และจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

แน่นอนว่าเมื่อผลออกมาเบี่ยงเบนกลายเป็นอีกเรื่อง ไม่ใช่ความต้องการเดิมของเกษตรกรชาวสวนยางทางภาคใต้ อาจทำให้เกิดปัญหาความไม่พอใจและลุกฮือประท้วงขึ้นมาอีกรอบก็เป็นได้ เพราะพฤติกรรมของรัฐบาลดังกล่าวไม่ต่างจาก “การหักหลัง” และแยกสลายชาวสวนยางภาคใต้ออกมาจากภาคอื่น ไม่ว่าจะเป็นภาคอีสาน และภาคเหนือที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล

อย่างไรก็ดีหากพิจารณาตามรูปการณ์แล้วมองว่า นี่คือแผนแยกสลายชาวสวนยาง โดยคัดแยกเอาเฉพาะชาวสวนยางในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานที่เป็นฐานเสียงของตัวเอง เพราะที่ผ่านมาท่าทีของชาวสวนยางดังกล่าวล้วนพอใจกับความช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตในเรื่องปุ๋ยที่ราคาไร่ละ 1,620 บาท จำนวนไม่เกิน 10 ไร่อยู่แล้ว และยิ่งรัฐบาลมาเพิ่มราคาในอีกเป็นไร่ละ 2,520 บาท และเพิ่มเป็น25 ไร่ แบบนี้ก็ยิ่งเฮ เพราะลักษณะวิถีชีวิตในสวนยางแต่ละภูมิภาคต่างกัน ขณะเดียวกันนี่คือการ “ลอยแพ” ชาวสวนยางทางภาคใต้ เพราะที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ยังไม่เอา” พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลอีกทั้งด้วยวิธีการช่วยเหลือดังกล่าวยังทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างเจ้าของสวนยางกับคนรับจ้างกรีดยางอีกด้วย เพราะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะเจ้าของสวนเท่านั้น และที่สำคัญการประกันราคาเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นของแสลงทางการเมือง ซึ่งยอมเสียเหลี่ยมไม่ได้เป็นอันขาด

การยืนกรานแบบไม่ยอมเปลี่ยนแปลงท่าทีที่จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ของรัฐบาลในคราวนี้ถือว่าน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เหมือนกับว่าเป็น “ใบสั่ง” ว่าห้ามโอนอ่อนผ่อนตามแรงกดดันของเกษตรกรเป็นอันขาด ไม่ว่าจะมีการยกระดับขึ้นไปแบบไหนก็ตาม ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้กำลังตำรวจพร้อมจะสลายการชุมนุมอยู่ตลอดเวลา คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน หลังจากที่ใช้วิธีเจรจาแบบยื้อเวลาจนทำให้ม็อบยอมสลาย ยอมเปิดถนน เปิดทางรถไฟไปแล้ว แต่หากจะกลับมารวมตัวกันใหม่มันก็ไม่ง่าย เพราะฝ่ายรัฐบาลได้ใช้ยุทธวิธี “แยกสลายแบ่งแยกแล้วปกครอง” ซึมลึกในพื้นที่เป้าหมายไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันหากสังเกตให้ดีมีการข่มขู่ดำเนินคดีกับแกนนำ หากมีการปิดถนน โดยยกเอาข้อหา “ก่อการร้าย” เน้นย้ำให้ได้ยินอยู่เรื่อยๆ

แต่ถึงอย่างไรในความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือแบบไหนโดยเฉพาะการช่วยเหลือแบบปัจจัยการผลิต ตามระบบราชการต้องใช้เวลา ต้องผ่านการรับรองตรวจสอบหลายขั้นตอน ซึงไม่รู้ว่าภายในสามเดือนข้างหน้าจะมีเงินถึงมือเกษตรกรหรือไม่ และยิ่งรัฐบาลอยู่ในภาวะถังแตกแบบนี้ น่าจะเป็นความเคลื่อนไหวที่ “ต้มตุ๋น” ซื้อเวลากันมากกว่า

ดังนั้นก็ต้องรอดูปฏิกิริยาของเกษตรกรว่าจะมีท่าทีตอบกลับไปอย่างไร เพราะนี่คือรายการ “หักหลัง” ลอยแพและยุแยงให้เกิดการแตกแยกกันเองระหว่างชาวสวนยางภาคใต้ ทำราวกับว่าในเมื่อไม่ใช่ฐานเสียงของตัวเองแล้วก็ไม่ต้องไปสนใจ แถมก่อนจากขอ “ถีบ” อีกสักทีหนึ่งเป็นการส่งท้าย ความหมายมันออกมาในลักษณะนี้จริงๆ !!

กำลังโหลดความคิดเห็น