xs
xsm
sm
md
lg

“กิตติรัตน์” ดรามา! โอดเจรจาม็อบยางกดดันที่สุดในชีวิต เผยจ่อไขก๊อกหากต้องให้โลละ 95

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกฯ-รมว.คลัง รับเจรจาม็อบยาง กดดันสุดในชีวิต แต่ต้องยึดรักษาวินัยการเงิน การคลัง ลั่นยอมลาออกจาก รมต.ถ้าต้องให้ 95 บาทตามที่ม็อบขอ พร้อมกระทุ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจ่ายเงินชดเชย หวั่นถูกหารัฐเบี้ยว เร่งตั้ง 4 อนุ กก.แก้ปัญหายางครบวงจร

วันนี้ (10 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า การประชุม ครม.วันนี้ มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ รักษาการนายกรัฐมนตรี โดยที่ประชุมได้พิจารณาถึงการแก้ไขปัญหาราคายางพารากว่า 1 ชั่วโมง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม ครม.ว่าไม่ต้องเป็นห่วงถึงการแก้ไขปัญหานี้ เพราะคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ได้คำนวณต้นทุนที่แท้จริงแล้ว สามารถชี้แจงต่อสังคมได้ การที่เกษตรกรสวนยางขอมาในราคา 95 และ 100 บาทต่อกิโลกรัมนั้น มันไม่สะท้อนความเป็นจริง ซึ่งรัฐบาลให้ที่ราคา 90 บาทต่อกิโลกรัม ไม่ถือว่าให้มากหรือน้อยเกินไป แต่ถือเป็นการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ

ด้าน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ กล่าวเสริมว่า ยอมรับการเจรจากับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางที่ จ.นครศรีธรรมราช กดดันที่สุดในชีวิต การแก้ปัญหานี้ต้องยอมรับนายกิตติรัตน์ที่เป็นคนมีหลักการว่าต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง

“คุณกิตติรัตน์ บอกกับผมว่า ถ้าต้องให้ 100 บาทต่อกิโลกรัม คงทำไม่ได้ เพราะมันไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และหากต้องการได้ราคาเท่านั้น ให้ผมออกจากรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ดีกว่า เพราะการให้ที่ราคา 90 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการรักษาผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย” พล.ต.อ.ประชา กล่าว

พล.ต.อ.ประชา กล่าวด้วยว่า นายกฯ ได้ขอให้เร่งรัดการจ่ายเงินให้ถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางโดยเร็ว เพราะไม่อยากให้มองว่ารัฐเบี้ยว ซึ่งทางสำนักงบประมาณรับปากจะใช้เวลา 2-3 วัน เร่งรัดการจ่ายเงิน โดยจะมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงไปตรวจสอบร่วมกัน เพื่อลดขั้นตอนการตรวจสอบใบลงทะเบียนสิทธิเพื่อเกษตรกร เพื่อรับเงินจาก ธ.ก.ส.ได้เลย

ขณะที่ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าเรื่องนี้ต้องชี้แจงให้เคลียร์ว่าเป็นมาตรการชดเชยเป็นเงินก้อน ไม่ใช่เป็นกลไกแทรกแซงหรือประกันราคา เพราะหากใช้วิธีนั้นจะส่งผลทำให้ราคายางพาราในตลาดโลกลดลง

ส่วน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ควรจะมีการป้องกันไม่ให้มีการเลียนแบบและมาเดินขบวนกันอีก ต้องหาวิธีกันว่าจะทำอย่างไร เพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม นายกิตติรัตน์ จึงกล่าวเสริมว่า อยากให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันหาทางแก้ปัญหาราคายางก่อนที่จะมีการชุมนุมประท้วง ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาราคายางเท่านั้น หมายถึงผลผลิตพืชชนิดอื่นด้วย เช่น ข้าวโพด หรือมันสำปะหลัง

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดที่ประชุม ครม.ได้รับทราบถึงการตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการเร่งรัดการจ่ายเงินเกษตรกร คณะอนุกรรมการดูแลเอกสารสิทธิชาวสวนยาง คณะอนุกรรมการดูแลคดีความฟ้องร้องต่างๆ ของเกษตรกร และคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับยางพารา ซึ่งทั้งหมดเป็นคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ เมื่อเสร็จภารกิจแล้วนายกฯ สามารถมีคำสั่งยกเลิกได้


กำลังโหลดความคิดเห็น