xs
xsm
sm
md
lg

ปปง.เผย FATF ปลดแบล็กลิสต์ไทยบกพร่องปราบปรามฟอกเงิน-นายกฯ มอบ “โต้ง” แจงเอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ป.ป.ง. (ภาพจากแฟ้ม)
ปปง.เผยคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงิน ถอดชื่อประเทศไทย หลังดัน กม.ฟอกเงินผ่านสภาฯ แล้ว แนะให้ความรู้ประชาชน เข้มมาตรการลงโทษ นายกฯ ขอบคุณ “ประชา-เฉลิม” รับผิดชอบ มอบหมาย “กิตติรัตน์” นัดแจงภาคเอกชน

วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ภายหลังจากคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงิน (FATF) ถอดชื่อประเทศไทยออกจากการเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายตามมาตรฐานสากลนั้น หลังจากไทยได้มีการเร่งรัดโดยยกร่างพระราชบัญญัติการปราบปรามการฟอกเงินฉบับที่ 4 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสูญทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการตรวจสอบและทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ค้าและการแสดงตน ซึ่งเป็นข้อบกพร่องสำคัญและได้มีการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว โดยมีกฎหมาย 2 ฉบับ และกฎกระทรวงออกมาครบถ้วน

พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า ที่ประชุม FATF มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า 1.ประเทศไทยควรที่จะมีการให้ความรู้กับประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบที่มีผลบังคับใช้แล้ว 2.แม้ว่ามีมาตรการลงโทษทางอาญากับผู้ที่มีหน้าที่ในการระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย แต่สำนักงาน ปปง.ยังไม่มีมาตรการทางการปกครองในการลงโทษที่เป็นโทษปรับในกรณีเดียวกันกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ 3.มาตรการให้บุคคลที่ถูกกำหนดเข้าถึงทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการบังคับใช้กับผู้ถูกกำหนดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (บุคคลที่ถูกกำหนดรายชื่อโดยศาลไทย) โดยไม่รวมถึงบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน (บุคคลที่ถูกกำหนดโดยคณะรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ)

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสำนักโฆษกฯ และ ปปง.ชี้แจงต่อสื่อทั้งในและต่างประเทศ เพื่อทำความเข้าใจว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่ในบัญชีดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ เรื่องร่างกฎกระทรวงที่จะมีการประกาศในที่ประชุม ครม.ได้เสนอให้ครอบคลุมถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้ร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการแสดงตนของลูกค้า 2 ร่างประกาศที่จะออกมานั้นไม่ได้ระบุถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งว่า สำหรับการพิจารณาในวาระดังกล่าว พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ได้รายงานต่อ ครม.ถึงสาเหตุที่ไทยจำเป็นจะต้องออกกฎกระทรวงดังกล่าว เนื่องจากทางที่ประชุมเต็มคณะของ FATF ระบุว่า หากไม่มีการออกกฎกระทรวงดังกล่าวจะไม่สามารถถอดรายชื่อไทยออกจากประเทศที่มีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายตามมาตรฐานสากล ได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ แสดงความเห็นด้วย โดยระบุว่า ที่ผ่านมากรอบหมายดังกล่าวไม่ครอบคลุมทุกหน่วยงาน แต่ครั้งนี้ได้มีการแก้ไขโดยเพิ่มเติมในส่วนของ “องค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ” เข้าไป จึงทำให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการพิจารณาวาระดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงได้ขอบคุณ พล.ต.อ.ประชา และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ พร้อมทั้งมอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ไปนัดภาคเอกชนมาทำความเข้าใจว่าขณะนี้ไทยมีสถานภาพในเรื่องดังกล่าวดีขึ้นแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น