xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเฮ! ปปง.เผย มติ FATF ถอนชื่อพ้นบัญชีดำชาติเสี่ยงฟอกเงินหนุนก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เลขาฯ ปปง.เผยมติที่ประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน ถอนชื่อไทยออกจากบัญชีดำประเทศเสี่ยงร้ายแรงหนุนฟอกเงินเพื่อก่อการร้าย หลังไทยแก้กฎหมาย รอตรวจ พ.ค. ก่อนชงถอนชื่อเป็นทางการ มิ.ย.นี้

วันนี้ (27 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.45 น. พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แถลงว่า จากกรณีที่คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือ Financial Action Task Force (FATF) มีมติขึ้นบัญชีรายชื่อประเทศไทยไว้ในคำประกาศสาธารณะ หรือ Black List ว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงอย่างร้ายแรงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เมื่อเดือน ก.พ. 2555 ที่ผ่านมา โดยทาง FATF ได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เฝ้าระวังความเสี่ยงในการทำธุรกรรมกับประเทศไทย ทำให้ไทยได้รับผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ในการประชุม FATF เมื่อวันที่ 18-22 ก.พ. 56 ได้มีมติว่า ประเทศไทยมีความคืบหน้าอย่างมากมีการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย จึงมีมติให้ถอนชื่อประเทศไทยออกจาก แบล็กลิสต์ของ FATF

พล.ต.อ.สีหนาทกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่ FATF จะถอนไทยออกจากแบ็คลิสได้อย่างสมบูรณ์นั้นทาง FATF จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบเพื่อยืนยันว่าประเทศไทยดำเนินการใช้กฎหมายและดำเนินการอื่นๆ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องอย่างเป็นรูปธรรม โดยประเทศไทยจะต้องดำเนินการต่อไปนี้ 1. ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าฉบับใหม่ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล 2. ตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5) เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในสาระสำคัญให้มีความคืบหน้า 3. บังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ และ4. เสริมสร้างการกำกับดูแลสถาบันการเงินและภาคการเงินให้ปฏิบัติตามกฎหมายทั้งสองฉบับ และอนุบัญญัติอย่างจริงจังแลมีประสิทธิภาพ โดยผู้เชี่ยวชาญจาก FATF จะเดินทางมาประเทศไทยในเดือน พ.ค.นี้ และหากตรวจสอบแล้วพบว่าประเทศไทยสามารถดำเนินได้ตามขั้นตอนดังกล่าว ก็จะเสนอเพื่อถอดชื่อประเทศไทยออกจากแบล็กลิสต์ได้อย่างสมบูรณ์ในการประชุม FATF เดือน มิ.ย.


กำลังโหลดความคิดเห็น