ครม.ตีกลับ รายงาน “ICCPR” เหตุ “เหลิม” อยากประจานศาลฎีกาฯ ไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ส่งเรื่องให้ ยธ.ปรับเปลี่ยนเนื้อหาใหม่
รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งว่า สำหรับการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กระทรวงยุติธรรมได้เสนอรายงานผลการดำเนินการฉบับที่ 2 ที่จะต้องรายงานให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ที่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งคณะทำงานของกระทรวงยุติธรรมจัดทำรายงานเสร็จแล้วเพื่อให้ครม.รับทราบ เนื่องจากไทยเป็นภาคีสมาชิกตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ต.ค.39 และเคยส่งรายงานผลการดำเนินการฉบับที่ 1 มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2547
ทั้งนี้ ระหว่างที่มีการพิจารณาวาระดังกล่าว ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมว่า อยากให้ใช้เวทีนี้ในการที่จะสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในประเทศเรา ในเรื่องอำนาจในการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และการพิจารณาคดีเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมสากลหรือไม่ เนื่องจากกรณีที่ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงศาลเดียวจะเป็นการขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่ และอย่างไร รวมทั้งกระทรวงยุติธรรมควรจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับที่ประเทศไทยเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่ จึงอยากทราบว่าหาก ICCPR ได้รับทราบว่า มีสภาพปัญหาแบบนี้ในกระบวนยุติธรรมของไทย ทางเวทีต่างประเทศจะมีความเห็นอย่างไร
“ส่วนตัวผมเห็นว่าควรจะทำรายงานเปรียบเทียบว่าการที่ไทยมีศาลฎีกาฯ จะเหมือนหรือต่างกับนานาประเทศอย่างไรบ้าง และเป็นการละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่ เพราะการพิจารณาคดีในศาลฎีกาฯ เป็นแค่ศาลเดียว ไม่มีการอุทธรณ์ ไม่มีการฎีกา” แหล่งข่าวอ้างคำพูด ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ขณะที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.กระทรวงยุติธรรม ในฐานะเจ้าของเรื่องดูเหมือนจะไม่อยากให้มีการนำรายงานดังกล่าวกลับไปปรับเปลี่ยนเนื้อหาในรายงานใหม่ และพยายามอธิบายต่อที่ประชุม ครม.ว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้เพิ่มบทบัญญัติจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ให้ผู้ซึ่งถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินว่ามีความผิด สามารถยื่นหลักฐานใหม่อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ดังนั้น การที่บอกว่า ศาลฎีกาฯ เป็นแค่ศาลเดียวจึงไม่ถูกต้องนัก นอกจากนี้ การส่งรายงาน ICCPR ยังมีกำหนดระยะเวลาอยู่ด้วย เกรงว่าหากนำรายงานฉบับนี้ไปแก้ไขอาจไม่ทันกำหนดระยะเวลา
ร.ต.อ.เฉลิม จึงเสนอว่า อาจจะส่งรายงานฉบับนี้ไปก่อนเบื้องต้น และส่งรายงานฉบับที่เพิ่มเติมเรื่องข้อสังเกตศาลฎีกาฯ ตามไปภายหลัง โดยจะให้คณะทำงานของตัวเองที่มีอยู่ไปทำงานร่วมกับคณะทำงานของกระทรวงยุติธรรมเพื่อดูในเรื่องเนื้อหา โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน
ด้าน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะกำหนดให้อุทธรณ์คำตัดสินของศาลฎีกาฯ ได้ก็ตาม แต่การกำหนดเวลาให้ยื่นพยานหลักฐานใหม่ภายในระยะเวลา 30 วัน ก็ไม่น่าจะมีใครไปหาพยานหลักฐานใหม่ภายในเวลาเพียงเท่านั้นได้ ที่สำคัญยังกำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ได้แต่ข้อเท็จจริง ไม่รวมถึงข้อกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการในกระบวนการยุติธรรม
ท้ายสุดที่ประชุม ครม.จึงยังไม่มีมติรับทราบ และได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม และนายพงศ์เทพ กลับไปพิจารณาทำรายงานเพิ่มเติมรายงานที่กระทรวงยุติธรรมเสนอร่วมกับคณะทำงานของกระทรวงยุติธรรม ก่อนนำกลับมาให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ICCPR เป็นคณะกรรมการภายใต้องค์การสหประชาชาติ มีหน้าที่ตรวจสอบรายงานที่ประเทศสมาชิกส่งมารายงานเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในรายละเอียดมาตราต่างๆ ในกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยเมื่อประเทศหนึ่งประเทศใดได้ยอมรับเป็นรัฐภาคีต่อกติการะหว่างประเทศฉบับนั้น จึงมีภาระหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในการปฏิบัติตามมาตราต่างๆ ที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศนั้นๆ
ทั้งนี้ รัฐที่เป็นภาคีของ ICCPR จะต้องจัดทำการร่างรายงานฉบับริเริ่ม (Initial Report) และจัดส่งให้คณะกรรมการประจำสนธิสัญญา ICCPR กำหนดเป็นเวลา 1 ปีหลังจากลงสัตยาบัน โดยประเทศไทยจัดส่งรายงานล่าช้า และได้จัดส่งรายงานฉบับริเริ่มเป็นครั้งแรกต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ชุด ICCPR เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 47 นี้เอง ซึ่งคณะกรรมการสิทธิฯ ชุด ICCPR มีแนวโน้มที่จะตรวจสอบรายงานและสถานการณ์สิทธิฯ ของรัฐภาคีที่จัดส่งรายงานล่าช้าเป็นเวลานานโดยทันที เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งการจัดทำรายงานของรัฐบาลของประเทศที่เป็นภาคีไม่ใช่แต่เป็นการทำตามกฎระเบียบ แต่เป็นการดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติของรัฐเองต่อระบบกลไกสิทธิมนุษยชน กลไกระบบยุติธรรม และแนวทางการดำเนินการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของประเทศ