xs
xsm
sm
md
lg

“หมอชูชัย” ไขปม ครม.เมินรายงานสิทธิพลเมือง-สิทธิการเมือง ชี้ต่างประเทศก็มีศาลพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ (ภาพจากแฟ้ม)
อดีตรอง ปธ.กมธ.ยกร่าง รธน.ชี้ ครม.ไม่รับรายงานสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่จะเสนอต่อยูเอ็น ตามที่กระทรวงยุติธรรมร่าง เหตุไม่พอใจอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองมีปัญหา ยันต่างประเทศก็มีศาลพิเศษเป็นเรื่องปกติ วอน ขรก.ยุติธรรมอย่ายอมตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง

วันนี้ (22 พ.ค.) นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่า คณะรัฐมนตรียังไม่มีมติรับทราบ คือไม่รับรายงานการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยจะเสนอต่อสหประชาชาติ เพราะฝ่ายการเมืองมีความไม่พอใจต่อกรณีอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และจะใช้เป็นเวทีนี้ไปแจ้งกับสหประชาชาติว่าประเทศไทยมีปัญหา

โดยตนขอตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ไว้ 3 ประเด็นคือ ประการแรก โดยธรรมเนียมปฏิบัติ รายงานของรัฐบาลประเทศต่างๆ จะต้องพยายามแสดงให้เห็นว่า ได้พยายามที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน หากมีข้อจำกัด ก็จะต้องชี้แจงให้เห็นว่า รัฐใช้ความพยายามที่จะแก้ไขข้อจำกัดเหล่านั้นและมีความก้าวหน้าอย่างไร คณะผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติที่อ่านรายงานจะเป็นผู้ตั้งคำถามเองหากมีข้อสงสัย ไม่ใช่เป็นการที่รัฐบาลจะยกเรื่องภายในประเทศที่ตัวเองคิดว่ามีปัญหาไปถามเพื่อประโยชน์ทางการเมืองภายในของกลุ่มตน

ประการที่สอง การจัดตั้งศาลพิเศษพิจารณาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีในประเทศต่างๆ ถือเป็นเรื่องปกติ แต่อาจแตกต่างกันได้ทั้งเขตอำนาจ รูปแบบและวิธีการ รัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์กำหนดให้ศาลฎีกาพิจารณาคดีผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองและเป็นศาลเดียว หรือในเนปาล ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน บังกลาเทศ โรมานีย ตุรกี โมร็อกโก ไนจีเรีย เคนยา ก็มีการจัดตั้งศาลพิจารณาคดีคอร์รัปชัน ในระดับสากล ก็มีศาลพิเศษหลังความขัดแย้งพิจารณาเรื่องอาชญากรรมสงครามเช่นกรณีอดีตยูโกสลาเวีย เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญของเยอรมนีก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ประธานาธิบดีพ้นตำแหน่งได้ เหตุผลที่มีการจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นก็เพื่อแก้ไขปัญหาการอำนวยความยุติธรรมที่ให้ความเป็นธรรมได้อย่างรวดเร็ว ทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าว ซึ่งการพิจารณาคดีโดยไม่ล่าช้าก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งของสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตาม ICCPR (ข้อ 14) เช่นกัน

ประการที่สาม องค์คณะผู้พิพากษาในศาลฎีกาเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ล้วนเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และเลือกกันเองด้วยวิธีการลงคะแนนลับและเป็นรายคดี จึงสามารถประกันความเป็นอิสระ ความเป็นธรรม และปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองได้

ทั้งนี้ ขอให้กำลังใจข้าราชการกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานอื่นๆ ที่ยกร่างรายงานฉบับนี้ขึ้นมา และขอให้ยืนยันหลักการว่า การเขียนรายงานจะต้องอยู่บนข้อเท็จจริง สุจริต มุ่งมั่นที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นการทั่วไป อย่ายอมตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองเพราะมีมิจฉาทิฏฐิและผลประโยชน์แอบแฝง


กำลังโหลดความคิดเห็น