xs
xsm
sm
md
lg

แอมเนสตี้ฯ ร้องขอความยุติธรรมให้โรฮิงญา พบถูกข่มขืนขณะกักตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ความยุติธรรม และคุ้มครองผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญา หลังพบระหว่างถูกกักตัว ผู้หญิง และเด็กถูกล่อลวงข่มขืนกระทำชำเรา โดยมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง และมีล้มตายหลายคน

แถลงการณ์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ทางการไทยต้องรับประกันว่าจะมีการสอบสวนอย่างไม่ลำเอียง กรณีที่มีข้อกล่าวหาว่า มีการข่มขืนกระทำชำเราผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญา และให้นำตัวผู้เกี่ยวข้องทุกคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสู่การไต่สวนของศาลตามมาตรฐานสากล และประเทศไทยต้องประกันให้มีการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งแง่กฎหมาย และการปฏิบัติต่อผู้แสวงหาที่พักพิง และผู้เข้าเมืองที่เดินทางมาถึงชายฝั่ง หรือพยายามขึ้นฝั่งในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 หญิงสาวชาวโรฮิงญา 3 คน และเด็กหญิงอายุ 9 และ 12 ขวบ อีก 2 คน ได้ออกจากที่พักพิงในจังหวัดพังงาไปกับผู้ชาย 2 คน ที่สัญญาว่าจะพาทั้งหมดไปยังประเทศมาเลเซีย เพื่อไปพบกับสามี และญาติคนอื่นๆ โดยแลกกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ต่อมาพบว่า หนึ่งในชายทั้งสองคน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เขาหลัก จังหวัดพังงา ส่วนอีกคนเป็นชายชาวโรฮิงญาที่มาจากพม่า ระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน 2556 มีรายงานว่า ชายชาวโรฮิงญาคนดังกล่าว ได้กักขังผู้หญิงคนหนึ่งไว้ในสถานที่ห่างไกล และได้ข่มขืนกระทำชำเราเธอหลายครั้ง

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ลงพื้นที่ในจังหวัดพังงา และได้รับการยืนยันว่า ปัจจุบันชายชาวโรฮิงญาคนดังกล่าวได้ถูกควบคุมตัว และดำเนินคดีในข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา การค้ามนุษย์ และการอยู่ในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย เขาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และอ้างว่า มีเจ้านายเป็นตำรวจยศดาบตำรวจ ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 และถูกดำเนินคดีฐานเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และการเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หลังจากนั้นไม่นาน เขาได้รับการประกันตัวและถูกไล่ออกในที่สุด

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของผู้แสวงหาที่พักพิงในประเทศไทย ที่อาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์อันมาจากการขาดความคุ้มครองด้านกฎหมายในสถานะผู้ลี้ภัย เพราะประเทศไทยไม่กำหนดให้มีสถานะผู้ลี้ภัยตามกฎหมายในประเทศ และไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 (1951 UN Convention relating to the Status of Refugees) เมื่อขาดความคุ้มครองด้านกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้แสวงหาที่พักพิงเสี่ยงต่อการถูกจับกุม ควบคุมตัว และส่งกลับระหว่างอยู่ในเมืองไทย และเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกใช้ประโยชน์ และถูกกระทำอย่างมิชอบโดยเฉพาะจากบรรดาขบวนการค้ามนุษย์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ผู้แสวงหาที่พักพิงที่ถูกกระทำอย่างมิชอบ หรือถูกใช้ประโยชน์ในไทย รวมทั้งผู้หญิงเหล่านี้ต้องมีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างเต็มที่ และเท่าเทียม รวมทั้งต้องมีทนายความ และล่ามที่เป็นอิสระ และจำเลยในคดีนี้ก็ควรได้รับการคุ้มครองเพื่อรักษาสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามข้อบท 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี

นอกจากนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังเรียกร้องทางการไทยให้มีการสอบสวนอย่างถี่ถ้วน และอย่างรอบด้านต่อรายงานการค้ามนุษย์ทั้งหมด รวมทั้งข้อกล่าวหาที่ว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายการค้ามนุษย์ ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรกที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เมื่อปลายเดือนมกราคม 2556 กองทัพบก มีคำสั่งให้นายทหาร 2 นาย คือ นายทหารยศพันตรี และนายทหารยศร้อยโท ออกจากราชการไว้ก่อน หลังมีข้อกล่าวหาว่า เข้าไปพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ในภาคใต้ ต่อมา ได้มีการบรรจุเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ให้ย้ายไปปฏิบัติราชการในหน่วยอื่นแทน และไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาแก่พวกเขา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุ หากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนสนับสนุนการค้ามนุษย์ควรถูกสั่งพักราชการโดยทันที และให้ดำเนินคดีตามกระบวนการไต่สวนที่เป็นธรรม

สำหรับกรณีผู้หญิง 3 คนและเด็กหญิง 2 คนที่เป็นเหยื่อในกรณีจังหวัดพังงา พวกเธอได้เข้ามาอยู่ในที่พักพิงที่รัฐจัดให้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 พร้อมกับผู้หญิง และเด็กอีกกว่า 55 คน พวกเธอเป็นส่วนหนึ่งของชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นชาวมุสลิมกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ของพม่าหลายพันคน ที่หลบหนีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรงในพม่า และเดินทางมายังประเทศไทยด้วยเรือขนาดเล็กในช่วงปลายปี 2555 และต้นปี 2556 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2556 ทางการไทยประกาศให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับชาวโรฮิงญาในไทย ซึ่งประกาศดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2556

นอกจากจะมีผู้หญิง และเด็กชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในที่พักพิงแล้ว ยังมีการควบคุมตัวชายชาวโรฮิงญาอีกกว่า 1,500 คน ในสถานกักตัวคนต่างด้าวที่แออัด และขาดแคลนความสะดวก ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ต่างๆ ในจังหวัดภาคใต้ของไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 เมื่อเร็วๆ นี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ในศูนย์กักตัวเหล่านี้ โดยทำเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทยลงวันที่ 10 มิถุนายน 2556 และยังเน้นประเด็นการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 มีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอีก 2 รายที่ศูนย์กักตัวในจังหวัดสงขลา เป็นเหตุให้จำนวนชายชาวโรฮิงญาที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวเพิ่มจำนวนเป็น 7 คน นับแต่เดือนมกราคม 2556

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้ว่า การควบคุมตัวผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญา และผู้เข้าเมืองตามสถานกักตัวคนต่างด้าวและที่พักพิงต่อไป เป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีอิสรภาพซึ่งได้รับการรับรองตามกติกา ICCPR โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาพการควบคุมตัวชายชาวโรฮิงญาไม่สอดคล้องกับมาตรฐานหลักเกณฑ์ขั้นต่ำว่าด้วยการปฏิบัติต่อนักโทษแห่งสหประชาชาติ (UN Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners)

จึงเรียกร้องรัฐบาลไทยควรปล่อยตัวผู้แสวงหาที่พักพิง และผู้เข้าเมืองที่ถูกควบคุมตัวอยู่ เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และประกันว่า สภาพการควบคุมตัวพวกเขาสอดคล้องกับกฎหมาย และมาตรฐานระหว่างประเทศ ทั้งยังควรกำหนดให้มีกลไกระดับชาติเพื่อประกันว่า บุคคลซึ่งหลบหนีจากภัยคุกคามในประเทศของตนเอง และต้องการแสวงหาที่พักพิงสามารถเข้าถึงขั้นตอนปฏิบัติที่เป็นธรรม และเป็นผลอย่างเต็มที่เพื่อให้มีการประเมินข้อเรียกร้องเพื่อขอที่พักพิง

ชาวโรฮิงญาหลายพันคนหลบหนีออกจากพม่าทางเรือมุ่งสู่ประเทศไทย และมาเลเซีย ภายหลังความรุนแรงระหว่างชุมชนพุทธ และมุสลิมในรัฐยะไข่เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ความรุนแรงครั้งนั้น เป็นเหตุให้มีการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก มีการทำลายทรัพย์สินบ้านเรือนและทำให้คนต้องอพยพจำนวนมาก แม้ว่าชุมชนของทั้ง 2 ศาสนิกในพม่า จะได้รับผลกระทบ แต่ผู้เป็นเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นชาวโรฮิงญา โดยชาวโรฮิงญากว่า 140,000 คน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วรัฐยะไข่ ทางการพม่าไม่ยอมรับสถานภาพของชาวโรฮิงญาอย่างเป็นทางการ และยังคงปฏิเสธไม่ให้พวกเขาเข้าถึงโอกาสที่จะมีสัญชาติ ซึ่งเป็นการกระทำที่เลือกปฏิบัติ ทั้งยังมีการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง และสิทธิที่จะได้รับการศึกษา การทำงาน การแต่งงาน และการมีครอบครัวในระดับต่างๆ กัน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น