xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.จัดเต็มไต่สวนถอด “ค้อนปลอม-นิคม” เผยคำวินิจฉัยศาล รธน.ต้องตรวจสอบก่อนฟัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ป.ป.ช.ยกคณะนั่งอนุ กก.ไต่สวน 5 คำร้องถอดถอน “สมศักดิ์-นิคม” และร้องอาญา 308 ส.ส.-ส.ว.ลงชื่อเสนอร่างแก้ไข รธน.“ปรีชา” รับ นำคำวินิจฉัยเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบด้วย ด้าน “วิชัย” แจง ฟันเลยไม่ได้ ต้องตรวจสอบเจตนาก่อน คาด ใช้เวลาพอสมควร



วันนี้ (21 พ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ได้ประชุม และรับฟังรายงานจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับความคืบหน้ากรณีกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกรณีร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 270 ในกรณีที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่. ....) พ.ศ. .... เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภาโดยมิชอบ นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังได้รับทราบถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางดำเนินการว่าสอดคล้องกับการไต่สวนของ ป.ป.ช.อย่างไร โดยใช้เวลานานเกือบ 4 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 14.00 น.นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช.และรองโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช.พร้อมด้วย นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุม โดยนายประสาท กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาคำร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งและคำกล่าวหาที่มีผู้ร้องจำนวน 5 เรื่องแล้ว และมีมติให้นำคำร้องขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหาทั้งหมดมารวมพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งให้กรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริง โดยให้นายวิชา มหาคุณ, นายใจเด็ด พรไชยา และนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน ทั้งนี้ 5 คำร้อง แบ่งเป็นเรื่องกล่าวหาร้องเรียนขอให้ดำเนินคดีอาญา จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้ 1.สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 3 คน ได้กล่าวหา ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 308 คน ร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำผิดต่อตำแหน่งที่ตามกฎหมายอื่น ทำให้ผู้กล่าวหาหรือประชาชนได้รับความเสียหาย และ 2.ประชาชนกล่าวหาร้องเรียน กรณีมีสมาชิกรัฐสภาใช้บัตรประจำตัวของตน เสียบบัตรเข้าเครื่องลงคะแนนแทนสมาชิกรัฐสภาคนอื่น ในการออกเสียงลงคะแนนโดยมิชอบ

นายประสาท กล่าวต่อว่า ส่วนคำร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง มีจำนวน 3 เรื่อง ดังนี้ 1.กรณี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่ง 2.กรณี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา และ 3.กรณี ส.ว.ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ถอดถอนนายนิคม อย่างไรก็ตาม สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเมื่อวันที่ 20 พ.ย.เมื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ทาง ป.ป.ช.จะนำมาเป็นพื้นฐานส่วนหนึ่งในการไต่สวน เพราะถือว่าเป็นเรื่องในทำนองเดียวกัน

ด้าน นายวิชัย กล่าวถึงกรณีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ป.ป.ช.จะชี้มูลเป็นอย่างอื่นมิได้ว่า ตามรัฐธรรมนูญคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง องค์กรอิสระ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เรื่องที่มาถึง ป.ป.ช.มีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.การร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง และ 2.การกล่าวหาในคดีอาญา ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ทั้ง 2 เรื่องต้องเข้าออกตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งเมื่อเรื่องมาถึง ป.ป.ช.แล้วจะต้องมีกระบวนการไต่สวน ดังนั้น คำวินิจฉัยจะผูกพันเฉพาะคำวินิจฉัย แต่ลำพังคำวินิจฉัยไม่เพียงพอที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะวินิจฉัยให้ขัดหรือไม่ขัดต่อตำแหน่งได้ และไม่เพียงพอที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะชี้มูลผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดอาญาหรือไม่ เพราะมีองค์ประกอบอื่นๆ อีก เช่น คดีอาญาจะต้องดูเจตนาการกระทำความผิดทางอาญา หรือการถอดถอนออกจากตำแหน่งจะต้องเป็นการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ แต่ตรงนี้ไม่มีในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ บอกแต่เพียงว่าการดำเนินการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่วนผู้ดำเนินการจะมีเจตนาอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จริงอยู่ในคำวินิจฉัยมีการกล่าวถึงเรื่องราวบางเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญอาจพาดพิงถึง แต่ยังไม่เพียงพอ ต้องมีกระบวนการสืบเนื่องไปอีก คาดว่าคงต้องใช้เวลาในการไต่สวนพอสมควร ส่วนที่มี ส.ส.และ ส.ว.ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตรงนี้ไม่เป็นปัญหา ต้องว่ากันตามกฎหมาย










กำลังโหลดความคิดเห็น