กลาโหมชงกฎหมายตั้ง “กำลังสำรอง” ขึ้นตรงนักการเมือง อยู่ใต้กำกับของ “รมว.กลาโหม-นายกฯ” อ้างรับภัยคุกคามทางทหาร และการจลาจล คาดตั้งกองกำลังพิเศษคุ้มกันนายกรัฐมนตรีโดยตรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม ครม.วันที่ 19 พ.ย.นี้ กระทรวงกลาโหม (กห.) ขอความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกำลังสำรอง พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป กห.เสนอว่า โดยที่รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราชอธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ ต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจำเป็นและเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตยความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ
ประกอบกับ กห.มีอำนาจหน้าที่พิทักษ์รักษาเอกราช และความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในราชอาณาจักร ปราบปรามการกบฏและการจลาจล จึงควรจัดให้มีกำลังสำรองเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ กห.
ดังนั้น เพื่อให้มีกำลังสำรองเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ กห. เห็นควรให้มีการจัดเตรียมความพร้อมของกำลังสำรอง ด้วยการเพิ่มพูนความรู้ ด้านการทหาร การแก้ไข ปัญหาภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติ ทั้งนี้ หากเกิดภัยคุกคามทางทหารที่ต้องใช้กำลังทหารขนาดใหญ่ หรือเกิดภัยพิบัติสาธารณะ จะต้องสามารถเรียกกำลังสำรองเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับกำลังทหารประจำการได้ด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ 1. กำหนดชื่อ “พระราชบัญญัติกำลังสำรอง พ.ศ. ....” เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 มาตรา 26 ซึ่งกำหนดให้ กห.จัดให้มีกำลังสำรองเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ กห. 2. กำหนดให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติเมื่อพ้นกำหนด 240 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
3. กำหนดบทนิยาม “กำลังสำรอง” “กิจการกำลังสำรอง” “บัญชีบรรจุกำลัง” “การเรียกกำลังสำรองเพื่อตรวจสอบ” “การเรียกกำลังสำรองเพื่อฝึกวิชาทหาร” “การเรียกกำลังสำรองเพื่อปฏิบัติราชการ” “การเรียกกำลังสำรองเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม” “การระดมพล” “ภาวะไม่ปกติ” “สถานการณ์ฉุกเฉิน” “ภูมิลำเนากำลังสำรอง” “นายจ้าง” “ลูกจ้าง” “พนักงานเจ้าหน้าที่” และ “รัฐมนตรี”
4. กำหนดผู้รักษาการตามกฎหมาย โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงและข้อปฏิบัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 5. กำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการกำลังสำรอง” ชื่อย่อ “คกส.” มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ 6. กำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7. กำหนดอำนาจหน้าที่ของ “คกส.” 8. กำหนดให้กรมการสรรพกำลังกลาโหมทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของ คกส. 9. กำหนดให้ กห. บรรจุรายชื่อกำลังสำรองในบัญชีบรรจุกำลังของหน่วยทหารและแจ้งให้กำลังสำรองทราบ รวมถึงกำหนดแนวทางในการควบคุมกำลังสำรอง 10. กำหนดหน้าที่ในการเข้ารับราชการทหารของกำลังสำรอง 11. กำหนดให้ กห. มีอำนาจรับสมัครบุคคลที่มีสถานะเป็นกำลังสำรองเพื่อเข้ารับราชการทหารเป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาที่ กห. กำหนด
12. กำหนดให้กำลังสำรองที่เข้ารับราชการทหารตามพระราชบัญญัติกำลังสำรอง พ.ศ. .... ต้องอยู่ในวินัยทหารตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร มีฐานะเช่นเดียวกับข้าราชการทหาร หรือทหารกองประจำการ ซึ่งหมายความว่า กำลังสำรองที่เข้ารับราชการทหารตามมาตรา 15 มาตรา 16 และมาตรา 18 ของพระราชบัญญัตินี้ มีฐานะเช่นเดียวกับข้าราชการทหาร หรือทหารกองประจำการ และต้องอยู่ในวินัยทหารตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476
13. กำหนดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่กำลังสำรองพึงจะได้รับเมื่อเข้ารับราชการทหารตามพระราชบัญญัติกำลังสำรอง พ.ศ. .... 14. กำหนดบทกำหนดโทษกำลังสำรองหลีกเลี่ยง ขัดขืนไม่เข้ารับราชการทหาร