xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการคาดน้ำมันรั่วอ่าวไทยเสียหาย 1,000-2,000 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพความเสียหายตามแนวปะการังจากเวทีเสวนา สกว.ภาพสไลด์ซ้ายบนพบวงสีขาวบนปะการังทางด้านใต้ของอ่าวพร้าว แต่ยังไม่เห็นผลกระทบต่อปะการังเขากวาง
นักวิชาการระดมความเห็นกรณีน้ำมันรั่วในอ่าวไทย ชี้ยังโชคดีที่ไม่มีป่าชายเลนตามชายฝั่ง ไม่เช่นนั้นเสียหายเยอะกว่านี้ พร้อมประเมินตัวเลขคร่าวๆ ความเสียหายอยู่ที่ 1,000-2,000 ล้านบาท แต่อาจจ่ายน้อยกว่า ที่สำคัญไทยยังไม่มีแผนรับมือน้ำมันรั่ว หวั่นน้ำมันที่ขนส่งกันวันละกว่า 2 ล้านลิตรรั่วแล้วจะรับมือกันอย่างไร

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และชุดโครงการการจัดการผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล สกว. จัดเวทีสาธารณะ เรื่องวิเคราะห์บทเรียนน้ำมันรั่วทะเลไทย : ผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางทะเล เมื่อวันที่ 9 ส.ค.56 ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย วิเคราะห์กรณีน้ำมันรั่วในอ่าวไทยเมื่อวันที่ 27 ก.ค.56 ที่ผ่านมา

ในส่วนของผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและแนวปะการังรอบเกาะเสม็ดนั้น ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้เชี่ยวชาญด้านแนวปะการัง จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่ากรณีอุบัติเหตุดังกล่าวยังนับว่าโชคดีที่ไม่มีป่าชายเลนได้รับผลกระทบต่อคราบน้ำมัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายมหาศาล และยากต่อการกำจัด

ผู้เชี่ยวชาญด้านแนวปะการังกล่าวถึงผลกระทบต่อทรัพยากรสิ่งมีชีวิตและปะการังรอบเกาะเสม็ดว่า ในส่วนของหญ้าทะเลยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจน ส่วนหาดทรายที่ได้รับความเสียหายยังโชคดีที่เป็นทรายละเอียดซึ่งกำจัดคราบน้ำมันได้ง่ายกว่าทรายหยาบ และสิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบแน่ๆ คือสัตว์หน้าดินบริเวณที่มีคราบน้ำมันตกถึงพื้น และแพลงก์ตอนพืช

"แพลงก์ตอนพืชได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ และได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ไม่เป็นประเด็นที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ เพราะมีอายุสั้นและฟื้นตัวเร็ว แต่ในทางทฤษฎีเป็นห่วงการสะสมของน้ำมันหรือสารที่ปนเปื้อนจากน้ำมันหรือองค์ประกอบจากน้ำมันถูกสะสมสู่ห่วงโซ่อาหารที่สูงขึ้น อต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปตามทฤษฎีเสมอไป" ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์กล่าว

ในส่วนของแนวปะการัง ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์กล่าวว่า รอบอ่าวพร้าวของเกาะเสม็ดที่ได้รับคราบน้ำมันเต็มๆ นั้น พบว่าแนวปะการังทางด้านใต้ของอ่าวมีวงสีขาวเกิดขึ้นกับปะการังบางชนิด แต่ปะการังเขากวางไม่ได้ผลกระทบ ส่วนแนวปะการังทางทิศเหนือของอ่าวพร้าวยังไม่เห็นผลกระทบ อย่างไรก็ดีเกาะเสม็ดมีไม่ได้เป็นพื้นที่แนวปะการังที่สมบูรณ์

"ปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่เริ่มแสดงอาการ ทั้งนี้ปัญหาน้ำมันรั่วเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก มีงานวิจัยผลกระทบจากน้ำมันรั่วต่อปะการังที่ย้อนไปเมื่อปี 2514 ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้เลยว่าแนวปะการังของเราอยู่ตรงไหน พบว่าคราบปน้ำมันส่งผลกระทบให้อัตราการเติบโตน้อยลง เป็นโรคเพิ่มขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ทางเคมี" ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์กล่าว

ทางด้าน รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ประเมินความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและการชดเชยความเสียหายจากกรณีดังกล่าวคร่าวๆ โดยอ้างอิงเหตุการณ์บริติชปิโตรเลียมทำน้ำมันรั่วที่อ่าวเม็กซิโกไป 7.5 แสนล้านลิตร และเอกซ์ซอนโมบิลทำน้ำมันรั่วที่อ่าวปรินซ์วิลเลียม อลาสก้าไป 60 ล้านลิตร และข้อมูลตัวเลขมาตรฐานกลาง

ในส่วนของความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวว่าไม่แน่ใจว่าจะฟ้องร้องอะไรได้บ้าง เนื่องจากศาลไม่สามารถสั่งได้หากไม่มีใบเสร็จแสดงความเสียหาย โดยการคำนวณความเสียหายนั้นคำนึงใน 4 หมวด คือ หมวดค่าใช้จ่ายในการกำจัดคราบน้ำมัน หมวดค่าชดเชยความเสียหายต่อที่ดินและกาาท่องเที่ยว หมวดสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจประเมินยาก แต่ปัจจุบันนักวิชาการไทยมีความสามารถในการประเมินค่าความเสียหายได้มากขึ้นเรื่อยๆ

"หมวดค่าปรับในลักษณะกำราบ คือไม่มีอะไรเสียหายแต่ขอปรับไว้ก่อน ครั้งหน้าจะได้ไม่ทำอีก ซึ่งไม่รู้ว่าไทยจะทำได้หรือเปล่า กรณีเอกซ์ซอนก็งอนเรื่องนี้อยู่หลายปีกว่าจะยอมจ่าย สำหรับบีพีโดนปรับไป 5 หมื่นล้านเหรียญ เอกซ์ซอนโดนไป 2.7 หมื่นล้านเหรียญ แต่ของไทยสเกลเล็กกว่า น่าจะน้อยกว่า" รศ.ดร.อดิศร์กล่าว

พร้อมบอกตัวเลขกลางในการปรับค่าเสียหายอยู่ที่ลิตรละ 36,000 บาท เมื่อคำนวณแล้ว รศ.ดร.อดิศร์กล่าวความเสียจากปริมาณน้ำมันรั่วในอ่าวไทย 50,000 ลิตรจะอยู่ที่ 1,000-2,000 ล้านบาท แต่เมื่อคำนวณเรื่องรายได้ของคนไทยที่ต่ำกว่ารายได้ของต่างชาติ ความเสียหายจะลดลงเหลือ 100-200 ล้านบาท

ส่วน พลเรือตรี จุมพล ลุมพิกานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากกองทัพเรือ กล่าวว่ากรณีน้ำมันรั่วครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ขนาดเล็ก แต่ไทยกลับไม่มีแผนรองรับตามกฎหมาย ตอนนี้ยึดถือระเบียบสำนักนายกปี 2547 แต่ไม่มีระเบียบปฏิบัติ จึงเป็นห่วงว่าตอนนี้มีเรือน้ำมัน 200,000 ตัน ในทะเลไทยวันละ 12 เที่ยว หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะรับมืออย่างไร
ภาพจำลองจุดเกิดเหตุน้ำมันรั่ว
เวทีเสวนา สกว.
พลเรือตรี จุมพล ลุมพิกานนท์ ห่วงแผนรับมือหากเกิดเหตุการณ์ที่ใหญ่กว่าครั้งนี้






กำลังโหลดความคิดเห็น