สะเก็ดไฟ
นับถอยหลัง นัดหมาย 11.00น.วันพุธที่ 20พ.ย.ที่จะมีการอ่านคำวินิจฉัยคำร้องคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ก็ทำให้ทุกฝ่ายต่างโฟกัสไปที่ศาลรัฐธรรมนูญกันเป็นจุดเดียวว่าผลคำวินิจฉัยของศาลรธน.จะออกมาในแนวทางไหน
ร่างแก้ไขรธน.ที่ถูกขนามนามว่าจะทำให้สภาสูงกลับสู่ยุคสภาผัวเมีย สุดท้ายจะได้คลอดออกมามีผลบังคับใช้หรือว่าจะต้องสะดุดหยุดลงเพราะศาลรธน.วินิจฉัยว่ากระบวนการทั้งหมดที่ทำมาก่อนหน้านี้กลายเป็นโมฆะ เนื่องจากขัดรธน.มาตรา68 ตามที่มีการยื่นคำร้องอันส่งผลให้ร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวแม้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามาแล้วแต่ก็ไม่มีผล
ผลคำวินิจฉัยของศาลรธน.เป็นเรื่องที่ยากจะคาดการณได้อีกทั้งก็เป็นความลับที่แม้แต่พวกตุลาการศาลรธน.ทั้งหมดก็ยังเดาใจตุลาการด้วยกันเองไม่ออกว่าจะลงมติออกมาแบบไหนจะมีความเห็นในทางคดีอย่างไร
ยิ่งกับคดีดังกล่าวที่ก็คล้ายคลึงกับตอนศาลรธน.วินิจฉัยคดีแก้ไขรธน.มาตรา291 ก็เป็นเรื่องที่แนวทางการวินิจฉัยคดีของศาลรธน.สามารถออกได้หลายทางจะยกคำร้องก็เป็นไปได้ หรือจะบอกว่าขัดรธน.มาตรา 68 ก็มีโอกาสไม่น้อย
แต่จะถึงขั้นมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง-ตัดสิทธิเลือกตั้ง5 ปีพวกส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ที่อยู่ในกลุ่ม 312 คนซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคที่อยู่ในสภาพผู้ถูกร้องด้วยหรือไม่ ก็ยากต่อการคาดเดาได้
แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่าโอกาสจะไปถึงขั้นยุบพรรค-ตัดสิทธิเลือกตั้งยากมาก
สำหรับคดีแก้ไขรธน.เรื่องที่มาสว.ที่จะอ่านคำวินิจฉัยกันวันที่ 20พ.ย.นี้ ต้องยอมรับว่า มีรายละเอียดทั้งข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายที่สลับซับซ้อนชนิดใครไม่ได้ตามมาตลอด อาจมีสิทธิ์หลงประเด็นวิจารณ์กันผิดๆได้ง่าย ขนาดนักกฎหมายมหาชนหลายสำนัก-อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี50 ที่ออกมาแสดงความเห็นกันมากมายตอนนี้ ก็ยังวิเคราะห์รูปคดีที่จะออกมาวันที่ 20พ.ย.นี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ผนวกกับการวินิจฉัยคดีของตุลาการแต่ละคนก็ถือเป็นความลับสุดยอดดังนั้นที่บางฝ่ายโดยเฉพาะ “เพื่อไทย-เสื้อแดง”ปล่อยข่าวดิสเครดิตว่าศาลรธน.มีธงจะล้มการแก้ไขรธน.และต้องการยุบพรรคร่วมรัฐบาลในเวลานี้เพื่อทำให้เกิดสภาพสุญญากาศการเมือง
จึงเป็นแค่การตีปลาหน้าไซศาลรธน.ไว้ล่วงหน้ารวมถึงเพื่อสร้างกระแสความเกลียดชังศาลรธน.ในหมู่คนเสื้อแดง
เพื่อให้มาร่วมชุมนุมกันที่สนามรัชมังคลากีฬาสถานระหว่าง 19-20 พ.ย.ที่มีเป้าหมายหลักคือเพื่อหวังกดดันศาลรธน.ตามแผนของพวกกลุ่มขบวนการดิสเครดิตและกดดันศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังแยกย้ายกันทำหน้าที่ตอนนี้นั่นเอง
ดูอย่างหลายคนที่ก่อนหน้านี้เคยอยู่เงียบๆไม่มีข่าวความเคลื่อนไหวใดๆ จู่ๆ ก็ออกมาโผล่จ้องดิสเครดิตศาลรธน.กันพรึ่บพรั่บ
อย่างเช่นล่าสุดที่อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)9 คน อาทิ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตส.ส.ร.นนทบุรี พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์อดีตส.ส.ร.เชียงใหม่, นายประชุม ทองมีอดีตส.ส.ร.นครปฐม, นายวรพนจ์ วงศ์สง่าอดีตส.ส.ร.สกลนคร ,นายวุฒิพงษ์ ฉายแสงอดีตส.ส.ร.ฉะเชิงเทรา
ซึ่งนายบุญเลิศคนทำสื่อได้ออกมาเปิดเผยว่าอดีตส.ส.ร.ทั้งหมดที่เป็นอดีตส.ส.ร.ปี 2540ได้มีการหารือกันถึงเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนุญรับคำร้องคดีดังกล่าวไว้วินิจฉัยและจะอ่านคำวินิจฉัยกันวันที่20 พ.ย.นี้แล้วทั้งหมดเห็นตรงกันว่าการแก้ไขรธน.เรื่องที่มาสว.ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำได้ตามอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่บัญญัติไว้ในรธน.ปี50 มาตรา 291ไม่ถือเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือการใช้อำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ
พร้อมกับเผยว่าอดีตส.ส.ร.ทั้ง9คนดังกล่าวจึงได้ร่วมกันลงชื่อทำจดหมายเปิดผนึกถึงตุลาการศาลรธน.ทั้งหมดขอให้ใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างรอบคอบอย่าวินิจฉัยในสิ่งที่ขัดต่อเจตนารมณ์แห่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 68ที่ยกมาจากมาตรา 63 ของรธน.ปี 40 ที่ทั้ง 9 คนเคยเป็นส.ส.ร.ปี 40มาก่อนเพื่อไม่ให้คำวินิจฉัยสร้างปัญหาวิกฤตให้กับบ้านเมืองจนกลายเป็นมิคสัญญีจากผลกระทบที่ตามมาจากคำวินิจฉัย
ยังเรียกร้องให้ตุลาการศาลรธน.3 คนคือจรัญ ภักดีธนากุล สุพจน์ ไข่มุกต์ นุรักษ์ มาประณีตถอนตัวออกจากการวินิจฉัยครั้งนี้ เนื่องจากมีส่วนได้เสียกับการพิจารณาวินิจฉัยแก้ไขรับธรรมนูญในมาตราดังกล่าวเนื่องจากเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ ส.ส.ร.ปี 50 รวมถึงนายทวีเกียรติมีนะกนิษฐ์ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้ร่วมพิจารณาคำร้องในประเด็นนี้ตั้งแต่ต้นจึงควรถอนตัวจากการเข้าร่วมวินิจฉัย
ถามว่าทั้ง9 คนดังกล่าว มีสิทธิ์ออกมาแสดงความเห็นหรือไม่ ก็ตอบว่าทำได้เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ต้องให้มีหมวกอดีตส.ส.ร.ปี 40 มาเพิ่มน้ำหนักให้ตัวเองแต่ประชาชนคนไหนก็สามารถแสดงความเห็นกันได้
เพียงแต่ว่าในบางมุม อดีตส.ส.ร.ที่มาร่วมหารือและทำจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวตามที่เป็นข่าวและนายบุญเลิศกล่าวอ้าง ก็ต้องถามกลับไปว่ามีความชอบธรรมหรือไม่เพราะเห็นได้ชัดว่า ในบรรดา อดีตส.ส.ร.ทั้ง 9 คนดังกล่าวกาชื่อไว้ล่วงหน้าได้เลยว่าหากร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวที่จะให้มีการเลือกตั้งสว.ทั่วประเทศ 200 คนอันทำให้จำนวนส.ว.ในแต่ละจังหวัดมีมากขึ้นไม่ใช่แค่จังหวัดละ 1 คนอย่างจังหวัดนนทบุรี ก็คงมีส.ว.ได้หลายคน หรือจังหวัดอื่น ๆที่อดีตส.ส.ร.ปี 40เหล่านี้มีภูมิลำเนาอยู่
ดูแล้วพวกนี้ น่าจะต้องลงสมัครส.ว.ที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคมนี้แน่นอน คนเหล่านี้จึงออกมาเพื่ออะไรสิ่งนี้ใช่หรือไม่เพราะอยากจะลงสมัครส.ว.ปีหน้าที่รธน.ฉบับแก้ไขเปิดพื้นที่ให้มีโอกาสมากขึ้นกว่ารธน.ปี 50ที่แต่ละจังหวัดมีสว.ได้แค่คนเดียว
อีกทั้งบางคนก็เห็นได้ชัดว่ามีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองเองด้วยที่เห็นๆกันเลยก็คือ วุฒิพงษ์ ฉายแสง อดีตส.ส.สอบตก ฉะเชิงเทรา น้องชายจาตุรนต์ ฉายแสงรมว.ศึกษาธิการ และแกนนำพรรคเพื่อไทย หรือพล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ก็มีหลานชายคือจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์และหลานสะใภ้ วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เป็นส.ส.พรรคเพื่อไทยอยู่ ส่วนวิสาร เตชะธีราวัฒน์รมช.มหาดไทยก็เกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันกับพล.ต.อ.สวัสดิ์
ดังนั้นที่บุญเลิศสื่ออาวุโสบอกว่า 3 ตุลาการศาลรธน. “จรัญ-สุพจน์-นุรักษ์”มีส่วนได้ส่วนเสีย ควรถอนตัวจากการพิจารณาคำร้องคดีนี้จึงฟังไม่ค่อยขึ้นเท่าไหร่ เพราะฝั่งอดีตส.ส.ร.ทั้ง 9 คนดังกล่าวก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นกัน น้ำหนักของอดีตส.ส.ร.ทั้ง 9คนที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ จึงเบาหวิว
ในประเด็นเรื่องจรัญ-นุรักษ์-สุพจน์ ควรถอนตัวเพราะเป็นอดีตกมธ.ยกร่างรธน.ปี 50 ประเด็นนี้ก็เคยมีการเคลื่อนไหวกันมาแล้วตอนช่วงศาลรธน.วินิจฉัยคำร้องคดีแก้ไขมาตรา 291จนกระทั่งมีการนำเรื่องไปถกในที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายรอบ โดยทั้ง 3 คนก็เคยขอถอนตัวแต่ที่ประชุมก็มีมติไม่ให้ถอนตัวดังนั้นที่มีบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวช่วงนี้จะมาขอให้ถอนตัวช่วงนี้ออกไปถึง 3 คนจึงช้าเกินไปแล้ว
ขนาดศาลรธน.ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมาแนวต้าน ก็เริ่มขยับกันแล้ว แล้วหากศาลมีคำวินิจฉัยออกมาทำให้ฝ่ายเพื่อไทย-พรรคร่วมรัฐบาล-สว.เลือกตั้งต้องดิ้นกันพราดๆ มีหวัง กลุ่มจ้องขย้ำศาลรธน.คงออกมาอีกเพียบ