xs
xsm
sm
md
lg

“นคร” รับทำคดี “สตาร์บัง” พร้อมซักค้านขอไต่สวนใหม่ ยอมงดใช้โลโก้ตามคำสั่งศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายดำรงค์ มัสแหละ เจ้าของร้านกาแฟรถเข็นสตาร์บัง (แฟ้มภาพ)
“สตาร์บัง” พบ “ทนายสิทธิมนุษยชน” สู้คดี “สตาร์บัคส์” ก่อนศาลไต่สวนจันทร์นี้ “นคร” เผยเจ้าของร้านมึนข้อกฎหมาย แนะปฏิบัติตามคำสั่งศาลงดใช้โลโก้ก่อน ลั่นพร้อมซักค้านขอไต่สวนคดีใหม่ ปัดจงใจกระทบยอดขาย สงสัยเจตนายักษ์ใหญ่กาแฟฟ้อง ด้านอดีตปลัด ยธ.ชี้เข้าข่ายขบขัน ชูศาลอุทธรณ์มะกันพิพากษายกฟ้องคดีคล้าย

วันนี้ (31 ต.ค.) ความคืบหน้ากรณีที่ บ.สตาร์บัคส์ คอร์ปอเรชั่น เจ้าของร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้มีคำสั่งจับกุมและกักขัง นายดำรงค์ มัสแหละ หรือ “บัง” เจ้าของร้านกาแฟรถเข็นสตาร์บัง ที่ขายอยู่ริมถนนบริเวณหน้า ถ.พระอาทิตย์ เขตพระนคร กทม.และนายดำรัส น้องชาย ที่ศาลได้มีคำสั่งให้นัดไต่สวนในวันที่ 4 พ.ย.นี้ เวลา 13.30 น.นั้น ล่าสุด นายดำรงค์ และนายดำรัส ได้เดินทางเข้าพบนายนคร ชมพูชาติ ทนายความสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เพื่อขอรับคำปรึกษาและเชิญเป็นทนายความในการสู้คดี

ทั้งนี้ นายนคร กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะจัดการในคดีที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนฟ้องห้ามมิให้ นายดำรงค์ และพวกใช้เครื่องหมายรูปประดิษฐ์ และคำ STARBUNG COFFEE ซึ่งจะมีการไต่สวนในวันที่ 4 พ.ย.นี้ก่อน โดยได้ซักถามแล้วพบว่า นายดำรงค์ ยังไม่เข้าใจคำสั่งศาล ซึ่งตนก็ได้ทำความเข้าใจและให้นายดำรงค์ ปฏิบัติตามคำสั่งศาลเสียก่อน โดยทำการปิดบังเครื่องหมายการค้าอื่นๆ ที่มีลักษณะตามคำฟ้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่านายดำรงค์ ไม่ได้มีเจตนาที่จะขัดคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้ตนจะส่งทีมทนายไปยื่นขอตรวจสอบสำนวน เพื่อดูเหตุผลในการกล่าวอ้างขอคำสั่งศาล ว่าจะสามารถจัดทำคำโต้แย้งต่อศาลอย่างไร ซึ่งก็จะมีการซักค้านขอพิจารณาและไต่สวนคดีใหม่ เนื่องจากตอนที่โจทก์ขอคำสั่งศาลยังไม่ได้มีการขอให้เราเป็นคู่กรณี แต่ในระหว่างนี้ที่ศาลมีคำสั่งก็ต้องปฏิบัติตามก่อน

ส่วนคดีที่ บ.สตาร์บัคส์ ยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในคดีอาญา ซึ่งศาลได้มีคำสั่งไต่สวนมูลฟ้อง วันที่ 10 ก.พ.2557 เวลา 09.00 น.ในข้อหาเลียนเครื่องหมายการค้า โดยขอสั่งห้ามยุติการเลียน และให้ร่วมกันชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 30,000 บาทนั้น นายนคร กล่าวว่า ก็ต้องไปสอบข้อเท็จจริงก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งถ้าไม่ได้จงใจทำเพื่อให้กระทบยอดขายของเขาก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ทั้งนี้ตนได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่าไม่ได้มีเจตนาดังกล่าว ขณะที่ตนก็กำลังสงสัยว่า ที่แท้จริงในการฟ้องของ บ.สตาร์บัคส์ มีเหตุผลอื่นใดกันแน่ที่ขอให้ร้านกาแฟสตาร์บังหยุดการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว

ล่าสุดนายดำรงค์ ก็ได้ทำตามคำแนะนำของทนาย โดยนำกระดาษมาติดปิดบังเครื่องหมายการค้า สตาร์บัง ภายในร้านทั้งหมดเป็นการชั่วคราวตามคำสั่งศาลแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวผ่านสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 96.5 ระบุถึงกรณีการฟ้องร้องดังกล่าวว่า สตาร์บัคส์ ตั้งฐานคิดแบบกฎหมายสหรัฐฯ คือ กฎหมายเครื่องหมายการค้า ชื่อทางการค้า เครื่องหมายบริการ ของต่างประเทศได้พัฒนาต่อยอดจากที่มุ่งประสงค์ที่จะให้ผู้บริโภคไม่ให้ประชาชนสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้า หรือบริการต่างๆ คุ้มครองสิทธิประโยชน์เจ้าของเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ ชื่อทางการค้าเหล่านั้น เป็นฐานดั้งเดิมที่กฎหมายเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ ชื่อทางการค้าของไทยใช้เป็นฐานอยู่ แต่ต่อมาในการเจรจาทางการค้าที่อุรุกวัยได้มีการลงมติกันในข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิในด้านทรัพย์สินทางปัญญา ได้ขยายฐานออกไปครอบคลุมไปถึงการคุ้มครองเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการไม่ให้เสื่อมเสียลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวไปด้วย โดยคนที่จะไปลอกเลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ ของคนอื่น ถึงแม้ว่าจะไม่ทำให้ประชาชนหลงผิดหรือเสียมาร์เก็ตแชร์ในตลาด แต่ว่าเสียความโดดเด่นลักษณะเฉพาะของเครื่องหมายของเขามันเสื่อมสภาพ เสียความเป็นลักษณะเฉพาะตัว ให้คุ้มครองด้วย แต่ปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่ได้รับเข้ามาผูกพัน ยังไม่ได้เขียนบัญญัติไว้ชัดเจน แต่ศาลไทยก็พยายามใช้กฎหมายที่มีอยู่ ขยายความคุ้มครองให้เท่าที่กฎหมายจะเปิดช่อง แต่ไม่ถึงหลักการใหม่เสียทีเดียว

“ถ้าว่ากันตามกฎหมายไทย จะเห็นได้ว่า ใช้ตามกฎหมายไทย ไม่ถึงละเมิดสิทธิเครื่องหมายการค้าของสตาร์บัคส์หรอก เพราะไม่ได้ทำให้ประชาชนคนไทยสับสนหลงผิดว่า กาแฟของอาบังที่เป็นรถเข็นขายอยู่ข้างถนนจะเป็นแหล่งที่มาจากอเมริกา เป็นกาแฟของสตาร์บัคส์ ที่แสนแพง ถ้วยหนึ่งเป็นร้อย ไม่มีทางจะไปแย่งมาร์เก็ตแชร์ของสตาร์บัคส์ได้เลย แต่ถ้าผมไปเปิดร้านใหญ่ๆ แล้วใช้เครื่องหมายการค้าและชื่อคล้ายๆ แบบสตาร์บัคส์ อันนี้ถือว่าละเมิดสิทธิเครื่องหมายการค้า” นายจรัญ กล่าว

นายจรัญ กล่าวต่อว่า กฎหมายในสหรัฐฯที่ขยายการคุ้มครองไปถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว ความโดดเด่นของเครื่องหมายการค้าของเจ้าของไม่ให้ใครเอาไปใช้ แล้วทำให้คนความรู้สึกเสื่อม ถึงแม้ขยายไป ศาลอุทธรณ์ในสหรัฐฯก็ได้ตัดสินเป็นบรรทัดฐานไว้เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เป็นบรรทัดฐานที่รู้กันไปทั่วในวงการนักกฎหมายทางทรัพย์สินทางปัญญาว่า การกระทำอย่างนี้ ก็ไม่เป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้า ชื่อทางการค้า ตามหลักใหม่ที่ขยายออกไป เขาเรียกข้อยกเว้นนี้ว่า parody รากศัพท์ของมันแปลว่า ขบขัน ล้อเลียนทำให้คลายเครียด ทำให้ตลกโปกฮา

“ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯวินิจฉัยในคดีหลุยส์ วิตตอง กับจำเลยซึ่งเป็นร้านขายตุ๊กตาหรือยางที่ให้สุนัขกัดเล่น ชื่อ “ชิววี่ วิคตอง” ซึ่งหลุยส์ วิคตอง ฟ้องว่าละเมิดเครื่องหมายการค้าของเขา ในฐานที่สอง ศาลสหรัฐฯบอก อย่าเคร่งเครียดจนเกินไป แค่อารมณ์ขัน ตั้งใจทำให้เป็นที่ล้อเลียน ให้คลายเครียด คนทั่วไปก็รู้ได้ทันทีว่า ตุ๊กตาหรือยางทีให้สุนัขกัดเล่นไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระเป๋าเซเลบที่ราคาแพงมากของหลุยส์ วิคตอง ที่จะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือเสียคุณค่าอะไร ไม่ได้แย่งมาร์เก็ตแชร์ ไม่ได้ทำให้ประชาชนอเมริกันหลงผิด ก็เลยยกฟ้องไป มันเห็นชัด เมื่อเทียบคดีนี้กับคดีสตาร์บัคส์-สตาร์บังของไทย” นายจรัญ ระบุ

นายจรัญ กล่าวอีกว่า หลักของ parody คือ ประชาชนไม่มีความสับสน ไม่ได้ทำให้เจ้าของที่แท้จริงเสียสิทธิประโยชน์อะไรไปเลย และเมื่อแสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องตลกโปกฮา ไม่ได้ทำให้คุณค่าของเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเสียไป เขาแค่ล้อเลียนลักษณะของชนชั้นสูง หัวสูงเท่านั้น นักกฎหมายของสตาร์บัคส์ น่าจะรู้คดีหลุยส์ วิตตอง กับ ชิววี่ วิคตอง แต่ทำไมถึงมาดำเนินคดีกับสตาร์บัง ซึ่งเดาได้ว่า มีความแตกต่างกันนิดหนึ่ง คือตัวสินค้าในคดี หลุยส์ วิตตอง กับ ชิววี่ วิคตอง เป็นสินค้าคนละประเภท แต่ในคดีของสตาร์บัคส์-สตาร์บัง เป็นสินค้าตัวเดียวกัน แต่ศาลสหรัฐฯก็ไม่ได้บอกว่าต้องเป็นสินค้าชนิดเดียวกันนะ


นายนคร ชมพูชาติ ทนายความสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ

เอกสารแต่งตั้งนายนคร เป็นทนายความสู้คดี



กำลังโหลดความคิดเห็น