xs
xsm
sm
md
lg

ใครทำให้ไทยเสียดินแดนให้เขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สื่อว่า กรณีปราสาทพระวิหารสร้างความแตกแยกการเมืองในประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพราะมีบางฝ่ายบิดเบือนใส่ร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง เราควรรับฟังข้าราชการประจำทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ กรมแผนที่ทหาร และกองทัพซึ่งเป็นมืออาชีพมีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่ตนเองรับผิดชอบ ขอเรียกร้องนักการเมืองและคนบางกลุ่มยุติการนำเรื่องปราสาทพระวิหารมาบิดเบือนใส่ร้ายคนอื่นได้แล้ว เพราะคำตัดสินศาลโลกได้สร้างความชัดเจนและทำให้คนไทยส่วนใหญ่ได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ตามคำพิพากษาศาลโลกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมาคือ พื้นที่ยอดเขาพระวิหาร หรือ Promontory เป็นของกัมพูชา

พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่เดียวกับพื้นที่อนุรักษ์ตามแผนบริหารจัดการร่วม ที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 แถลงการณ์นี้ นายนพดล ปัทมะ สมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ไปลงนาม เพื่อสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารฝ่ายเดียว ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 ที่นครควิเบก ประเทศแคนาดา

การขึ้นทะเบียนครั้งนั้นเป็นการขึ้นทะเบียนอย่างมีเงื่อนไข โดยคณะกรรมการมรดกโลกกำหนดว่า ให้กัมพูชาไปจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 2 ปี เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 34 ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 มิฉะนั้นการขึ้นทะเบียนจะเป็นโมฆะ

พื้นที่อนุรักษ์นี้ล้ำเข้ามาในพื้นที่ของไทยเป็นเหตุให้รัฐบาลไทยก่อนหน้านั้นและสภากลาโหมคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียวของกัมพูชา เพราะเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของไทย หากจะขึ้นทะเบียนต้องเป็นการขึ้นทะเบียนร่วมของไทยกับกัมพูชาเท่านั้น แต่นายนพดลไปลงนามโดยพลการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียวของกัมพูชา โดยไม่ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190

ก่อนหน้าที่นายนพดลจะไปลงนาม นายวีรชัย พลาศรัย หัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการสู้คดีครั้งนี้ ขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ทำบันทึกคัดค้าน ไม่เห็นด้วย จนถูกนายนพดลย้ายออกจากตำแหน่งไปเป็นเอกอัคราชฑูตประจำกระทรวง โดยนายนพดลให้เหตุผลว่าเพื่อจัดคนให้เหมาะสมกับงาน เพื่อประสิทธิภาพในการประสานงานกับรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะไม่เป็นการเปลี่ยนม้ากลางศึกหรือ เพราะกำลังเจรจาเรื่องปราสาทพระวิหารอยู่ นายนพดลตอบว่าม้าแต่ละตัวในกระทรวงมีประสิทธิภาพทั้งนั้น ตัวไหนก็วิ่งได้แต่ต้องการม้าที่วิ่งในลู่ที่ต้องการจะให้วิ่ง

การยกดินแดนรอบๆ ปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จเพราะพันธมิตรประชาชนเพือประชาธิปไตย พรรคฝ่ายค้านและวุฒิสมาชิกบางส่วนคัดค้าน จนเรื่องไปถึงศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งสองศาลตัดสินว่าแถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชาเป็นโมฆะ เพราะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 นายนพดลต้องลาออกจากตำแหน่ง ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและตกเป็นจำเลยในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในขณะนี้

ในขณะที่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งต่อมา จนถึงครั้งที่ 35 ที่ฝรั่งเศส ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2553 ประเทศไทยโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชาฝ่ายเดียวตลอดมา ทำให้การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกยังไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นการขึ้นเพียงตัวปราสาทไม่สามารถนำพื้นที่รอบๆ มาขึ้นทะเบียนได้ดด้วย เพราะไทยไม่ยอม

ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เดือนเมษายน พ.ศ.2554 กัมพูชา เปิดฉากถล่มชุมชนหมู่บ้านไทยตามแนวชายแดน รวมทั้งพื้นที่ต่อเนื่องกับปราสาทพระวิหารในจังหวัดศรีสะเกษ ฝ่ายไทยตอบโต้อย่างรุนแรง การปะทะกันด้วยกำลังอาวุธครั้งนี้เป็นข้ออ้างให้กัมพูชานำคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อให้ตีความคำพิพาษาในปี 2505 ในเรื่องพื้นที่ใกล้เคียงประสาทพระวิหารว่าอยู่ตรงไหน โดยระบุว่าไทยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาในครั้งนั้น

แถลงการณ์ไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ที่ลงนามโดยนายนพดลเป็นหนึ่งในข้ออ้างที่กัมพูชาใช้ต่อสู้ในศาล เพื่อชี้ให้เห็นว่าไทยเองก็ยอมรับในเรื่องพื้นที่ใกล้เคียงของปราสาทพระวิหาร แต่ถูกคณะสู้คดีฝ่ายไทยคัดค้านจนตกไป

ห้าปีหลังจากที่กัมพูชาไม่สามารถยึดพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรไปครอบครอง ทั้งๆ ที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนเต็มใจยกให้โดยผ่านแถลงการณ์ร่วมที่นายนพดลไปลงนาม คำพิพากษาของศาลโลกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตัดสินให้พื้นที่ตรงนั้น ซึ่งเรียกว่า promontory หรือชะง่อนผา หรือยอดปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา แม้จะไม่ถึง 4.6 ตารางกิโลเมตร แต่ก็คิดเป็นพื้นที่ไม่ใช่น้อย และถือว่าไทยเสียดินแดนเพิ่ม

น่าแปลกที่รัฐบาลไทยไม่กล้าแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้ และไม่กล้าแถลงอย่างเป็นทางการว่าคำพิพากษานี้มีผลเช่นไร ปล่อยให้ประชาชนตีความกันเอาเอง ในขณะที่นายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาประกาศชัยชนะในทันที และอ้างด้วยว่าศาลยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่รัฐบาลไทยก็ไม่กล้าตอบโต้

เป็นเรื่องบังเอิญหรือเปล่า ที่การแก้ไขมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภาไปเรียบร้อยแล้ว มาตรา 190 ซึ่งทำให้แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาปี 2551 เป็นโมฆะถูกตัดตอน ยกอำนาจในการตรวจสอบติดตามการเจรจาที่มีผลต่อเขตแดนของประเทศของฝ่ายนิติบัญญัติให้ฝ่ายบริหารไปจนหมด รัฐสภา มีหน้าที่แค่จะเอาหรือไม่เอาข้อตกลงที่รัฐบาลไปเจรจากับต่างชาติมาเรียบร้อยแล้วเท่านั้น โดยไม่มีสิทธิรู้ก่อนว่าไปคุยอะไรกัน เอาอะไรไปแลกเปลี่ยน

มาตรา 190 ที่แก้ไขใหม่ และขณะนี้อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องของฝ่ายค้านให้วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมีผลบังคบใช้โดยสมบูรณ์ก็จะทำให้การเจรจาระหว่างไทยกับ กัมพูชาเพื่อตีเส้นว่าพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกชี้ว่าเป็นของกัมพูชา แต่ให้ไทยกับกัมพูชาไปคุยกันเองว่ามีอาณาบริเวณแค่ไหนนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นเพราะไม่ต้องรายงานเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรู้ว่ารัฐบาลของทักษิณไปคุยอะไรกับฮุนเซน

บางทีภารกิจที่นายนพดลทำไม่สำเร็จอาจจะลุล่วงไปได้ ในรัฐบาลนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น