“สภาทนายความ” ออกแถลงการณ์ ยืนยันไทยแพ้คดีปราสาทพระวิหาร เพราะต้องสูญเสียดินแดนรอบปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา ชี้การที่ศาลโลกพิพากษาก้าวข้ามไปถึงพื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม.ที่ต่อเนื่องจากตัวปราสาทฯ ที่เป็นมรดกโลกให้ไทย-กัมพูชาช่วยดูแลเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์มรดกโลกของเขมร แสดงชัดว่าเขตแดนดังกล่าวไทยต้องสูญเสียอธิปไตยให้กัมพูชาไปใช้ประโยชน์ จี้รัฐบาลเผยแพร่คำพิพากษาที่แท้จริง พร้อมให้ทบทวนการแก้ รธน.มาตรา 190 ที่มีผลต่อการเสียดินแดนของไทย
นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ออกแถลงการณ์คำพิพากษาคดีตีความคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำตัดสินไปเมื่อวันจันทร์ (11 พ.ย.) ที่ผ่านมา จากกรณีที่ได้มีคำพิพากษาของศาลโลกเผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชน และจากการออกข่าวประชาสัมพันธ์ของกระทรวงการต่างประเทศในคดีที่กระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลไทยได้เข้าไปต่อสู้คดีตามคำฟ้องของประเทศกัมพูชา เกี่ยวกับดินแดนรอบเขตปราสาทพระวิหารนั้น มีข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยระหว่างข่าวของภาครัฐและภาคเอกชนว่าประเทศไทยได้เสียดินแดนพ่ายแพ้คดีดังที่เป็นข่าวหรือไม่ สภาทนายความขอเสนอข้อเท็จจริงที่มีอยู่ขณะนี้ เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์สอบทานข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของประชาชนต่อไปนี้
จากถ้อยแถลงของคณะทนายความของรัฐบาลไทยผ่านทางระบบโทรทัศน์เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 นั้น สรุปได้ว่า
1. การแก้คดีและคำแถลงปิดคดีของไทย ที่ขอ “...ให้ศาลชี้ว่าคดีนี้ไม่มีมูลที่จะตีความใหม่ ศาลไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องกัมพูชารับฟังไม่ขึ้น กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับเส้นเขตแดนต้องทำภายใต้บันทึกความเข้าใจ 2543 ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ข้อยุติหรือทุกอย่างอาจเลวร้ายลง ถ้าปล่อยให้กัมพูชาอ้างเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 ที่มีความคลาดเคลื่อน...” นั้น พิพากษาว่าศาลโลกมีอำนาจวินิจฉัยคดีข้อพิพาทนี้ ดังนั้น ข้อโต้แย้งของรัฐบาลไทยในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้ว่าไม่มีเขตอำนาจนั้นจึงเป็นอันตกไป
2. ตามคำพิพากษาของศาลโลกเรื่องปราสาทพระวิหารเมื่อ ปี พ.ศ. 2505 ที่ตกเป็นของประเทศกัมพูชา แต่ไม่ครอบคลุมเขตพื้นที่รอบข้างปราสาท ซึ่งทางฝ่ายไทยอ้างว่าได้เฉพาะแต่ปราสาท จึงได้ทำการล้อมรั้วลวดหนามและปักกันเขตแดนไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 ตลอดมาจนกระทั่งเมื่อประเทศกัมพูชาผ่านพ้นภัยสงครามในบ้าน ก็ได้อ้างพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ว่าอยู่ในเขตของกัมพูชา โดยอ้างถึงแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำไว้ และอ้างว่าการถือครองพื้นที่โดยมีกำลังทหาร ตำรวจประจำตามเขตอาณาบริเวณปราสาทพระวิหารของประเทศไทยเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของกัมพูชานั้น ศาลโลกในคดีนี้พิพากษาให้ประเทศกัมพูชาได้ดินแดนเพิ่มขึ้นคือส่วนที่เป็นจะงอยหรือเป็นแหลม หรือเป็นชะง่อนผา (Promontory) แต่ยังไม่รู้เนื้อที่จริงๆ เท่าไร อาจจะอยู่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งก็ไม่ใช่พื้นที่เล็กน้อย แสดงว่า คำฟ้องของประเทศกัมพูชาที่ขอมาในเรื่องนี้ประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้น ได้ไป 1 ตารางกิโลเมตร ถือว่าประเด็นนี้ประเทศกัมพูชาชนะคดีบางส่วน
3. อีกประการหนึ่งที่ยังมีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน คือ ศาลโลกได้พิพากษาก้าวข้ามไปถึงที่พิพาทบริเวณต่อเนื่องกับปราสาทพระวิหารของกัมพูชาซึ่งเป็นมรดกโลกในอุปถัมภ์ UNESCO โดยได้พิพากษาเลยไปถึงว่าให้ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาช่วยกันดูแลเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์มรดกโลกของประเทศกัมพูชา แสดงว่าภูเขาซึ่งเป็นเขตแดนไทยนั้นต้องเป็นที่รับใช้ในการตั้งปราสาทพระวิหาร รวมถึงการใช้ปราสาทพระวิหาร เพื่อประโยชน์ของคนกัมพูชาไปโดยปริยาย
จากข้อเท็จจริงที่กล่าวนี้สื่อของประเทศกัมพูชาและสื่อทั่วโลกจึงได้ออกข่าวว่า ประเทศไทยแพ้คดี ดังนั้น เพื่อความกระจ่างชัดกระทรวงการต่างประเทศของไทยจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเผยแพร่รายละเอียดแห่งคำพิพากษาทั้งฉบับที่เป็นภาษาฝรั่งเศสและฉบับภาษาไทยแถลงให้ประชาชนชาวไทยถึงผลคำพิพากษาที่แท้จริง ดังที่สภาทนายความได้ตั้งข้อสังเกตในเบื้องต้น
อนึ่ง คำพิพากษาทั้งสองภาษา กระทรวงการต่างประเทศต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าคำพิพากษาใดเป็นภาษาที่ใช้เป็นทางการหรือทั้งสองภาษา ต้องตรวจสอบให้ชัดเจน
อีกประการหนึ่ง กรณีนี้เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีมาตรา 190 ห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ ตัวแทนของรัฐลงนามใน MOU ใดๆ ก่อนที่จะมีผลผูกพันกับประเทศนั้น มีประโยชน์ที่จะคุ้มครองสิทธิและอาณาเขตของประเทศได้อย่างแท้จริง เพราะการห้ามนี้ไม่ได้ขัดข้องที่จะลงนามใน MOU ไว้เป็นเบื้องต้นก่อน แต่ให้มาขออนุมัติจากวุฒิสภาเช่นเดียวกับที่ถือปฏิบัติกันในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา