xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการจุฬาฯ อ้างไทยเสียดินแดนแค่รู้สึกไปเอง แนะจับมือเขมรเน้นสันติวิธี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุฬาฯ นำทีมนักวิชาการ แถลงตีความคำพิพากษาศาลโลกชี้แค่กำหนดพื้นที่ที่ไทยเสียไปตั้งแต่ปี 2505 แจงการเสียดินแดนเป็นเรื่องความรู้สึก เพราะแท้จริงไทยเสียดินแดนตั้งแต่ปี 2505 แล้ว ระบุหลังจากนี้ฝ่ายเทคนิคต้องแปลคำพิพากษาเป็นแผนที่และรัฐต้องทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างมีเหตุมีผล พร้อมแนะควรมองประโยชน์ที่จะได้จากการร่วมกันทำให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกที่สมบูรณ์มากกว่า

วันนี้ (12 พ.ย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวเรื่อง “คำตัดสินศาลโลก:ตีความคดีปราสาทพระวิหาร” โดย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า จากคำตัดสินของศาลโลกได้สร้างความสับสนพอสมควรในการตีความ และทำให้หลายคนอาจเกิดข้อสงสัยว่าไทยเสียดินแดนหรือไม่ จุฬาฯ ซึ่งมีองค์ความรู้และกลุ่มนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านนี้ เห็นว่าเมื่อสังคมมีปัญหา จุฬาฯ ก็ขอเป็นหนึ่งพลังที่ช่วยแก้ปัญหา และให้สติปัญญาแก่สังคม ที่ผ่านมา ทางจุฬาฯ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด ซึ่งประกอบด้วย นักวิชาการด้านต่างๆ อาทิ คณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มารวมตัวกันทำงานในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

โดยการแถลงข่าวก็เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ เสนอแนะท่าที และการดำเนินการที่เหมาะสมในฐานะที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก และหนึ่งในประเทศก่อตั้งประชาคมอาเซียน โดยต้องคำนึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณชายแดนของประเทศไทย-กัมพูชา ซึ่งจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติบนพื้นฐานของหลักความยุติธรรม ความสมเหตุสมผล และมิตรภาพกับประเทศเพื่อนบ้านที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ด้าน นายชุมพร ปัจจุสานนท์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คำตัดสินของศาลโลกเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 56 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงคำตัดสินของศาลโลกที่ได้ให้ไว้ในปี 2505 คือปราสาทพระวิหาร และพื้นที่บางส่วน เป็นของกัมพูชา ซึ่งไทยแพ้คดีนี้มาตั้งแต่อดีตแล้ว เพียงแต่หลังจากคำตัดสินในครั้งนั้น กัมพูชาและไทยตีความแตกต่างกัน ดังนั้นหัวใจของคำตัดสินครั้งนี้ คือการตีความ vicinity หรือบริเวณข้างเคียงปราสาทพระวิหาร ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งฝ่ายไทย และกัมพูชา ต่างตีความคำนี้ และขีดเส้นพื้นที่ที่คิดว่าเป็นของตนเอง แต่ครั้งนี้ศาลไม่รับฟังข้อมูลที่ทั้งไทย และกัมพูชาอ้าง แต่พิจารณาจากข้อมูลและความเห็นของศาลเอง เรียกได้ว่า ไทยก็ไม่ได้ชนะทั้งหมด และกัมพูชาก็ไม่ได้บริเวณทั้งหมดที่เขาขอเช่นเดียวกัน

ส่วนที่ถามกันมากกว่าตกลงแล้วไทยเสียแดนหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าไทยเสียดินแดนมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 แล้ว เพราะคำว่า vicinity มีอยู่ในคำพิพากษาตั้งแต่ตอนนั้น ไม่ใช่เพิ่งมีในคำพิพากษาครั้งนี้ เพียงแต่ครั้งนี้คำพิพากษาศาลเหมือนกับบอกว่า เส้นแบ่งพื้นที่ที่กัมพูชาขีด และเชื่อว่าเป็นดินแดนของตัวเองตามคำพิพากษาปี 1962 นั้นไม่ใช่ และการกำหนดขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารตามมติ ครม.ปี 2505 ของไทย ก็ไม่ใช่ แล้วศาลก็กำหนดว่ามันคือตรงส่วนชะง่อนผา หรือที่ศาลใช้คำว่า PROMONTOTY พร้อมกับย้ำว่าเป็นพื้นที่เล็กๆ ดังนั้นคำว่าเสียพื้นที่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกและการตีความส่วนบุคคล ซึ่งหากมองว่าแล้วพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ละ ตรงนี้ถือว่าไทยไม่แพ้ แต่หากมองว่าเป็นการเสียพื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรี สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ถือว่าไทยแพ้ จึงเป็นเรื่องของมุมมอง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ประชาชนต้องเข้าใจก่อนว่าไทยแพ้คดีปราสาทเขาพระวิหารมานานแล้ว และขณะนี้เมื่อมีคำตัดสินออกมาแล้วก็ต้องยึดตามคำตัดสิน

“ส่วนเรื่องขนาดพื้นที่ที่จะต้องเสียว่าขนาดไหนนั้น ก็ต้องอาศัยเรื่องของเทคนิคที่ผู้รู้เรื่องเกี่ยวกับแผนที่ ขอบเขตของเขตแดนต้องนำคำพิพากษาศาลโลกไปศึกษา และจัดทำเป็นแผนที่ออกมาว่าพื้นที่ชะง่อนผาตามคำพิพากษานั้นมันคือตรงไหนอย่างไร เมื่อได้แผนที่ที่ชัดเจนแล้ว รัฐบาลต้องออกมาชี้แจงให้ประชาชนได้ฟังอย่างมีเหตุมีผล เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยความเข้าใจ คิดเอาเองไม่ได้อาจจะทำให้เกิดปัญหามากมาย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่อยากให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงคือไทยเป็นประเทศหนึ่งในสังคมโลก เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ไทยและกัมพูชาใกล้ชิดกันมาก สิ่งที่ดีที่สุดคือค่อยๆ คิด ค่อยๆ วางแผน และเจรจากัน โดยคำนึงถึงฐานะที่เราเป็นเพื่อนบ้านด้วยกัน” นายชุมพร กล่าว

อย่างไรก็ตามคำพิพากษาศาลโลกที่ออกมาในครั้งนี้ มีข้อดีที่ในส่วนของภูมะเขือ ที่เป็นข้อพิพาทกัน 2 ฝ่าย เราจะสามารถผลักดันให้ยึดหลักสันปันน้ำเป็นตัวกำหนดเขตแดน

ด้าน ไชยวัฒน์ ค้ำชู อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คดีพิพาทระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะนี้มีหลายคดี รวมทั้งในภูมิภาคอาเซียน เช่น มาเลเซีย-อินโดนีเซีย ซึ่งเมื่อขึ้นศาลโลกตัดสินแล้วทุกประเทศจะต้องยอมรับผลการตัดสินของศาล และทำอย่างไรให้ประเทศตนเองเสียดินแดนน้อยที่สุด ดังนั้นกรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร ศาลโลกได้ตัดสินไปตั้งแต่ปี 2505 แล้ว และจริงๆ ไทยเสียปราสาทพระวิหารไปนานแล้ว อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจ อย่างไรก็ตามถ้าศาลตัดสินมาแล้วประเทศใดไม่ปฏิบัติตามจะถูกมองไปในทางลบ

ทั้งนี้ เคยได้ยกตัวอย่างกรณีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนของต่างประเทศ ไม่ว่าจะ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย และมาเลเซีย-สิงคโปร์ ศาลก็ไม่ได้ตัดสินเรื่องของเขตแดน ซึ่งก็เหมือนกับในกรณีนี้ หลังจากนี้ไทย-กัมพูชา จึงต้องไปเจรจาปักปันเขตแดนกัน ซึ่งสองฝ่ายมีกรอบการเจรจาอยู่แล้ว และปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา มีรายละเอียดข้อกฎหมายปลีกย่อยมาก จึงไม่ควรที่จะมีการแสดงความเห็นไปต่างๆ นานา ขณะที่การเจรจาสองฝ่ายต้องทำกันอย่างสันติวิธี ต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งและกระทบกระเทือนต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั้งสองฝ่าย เพราะยุคนี้เรื่องเขตแดนไม่ควรถูกเอามาเป็นประเด็นที่ทำลายสันติสุขและการอยู่ร่วมกันของประเทศเพื่อนบ้าน และตระหนักว่า ปัญหาเรื่องเขตแดนนั้นไทยต้องมีเอกภาพ และไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเอาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะการที่ไทยต้องขึ้นศาลอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่ฐานะในทางกฎหมายของเราจากคำพิพากษาในปี พ.ศ. 2505 นั้น เราเสียเปรียบอยู่ ก็เนื่องจากความขัดแย้งกันภายในประเทศไทยซึ่งมีส่วนทำให้กัมพูชานำเอาประเด็นนี้ไปขึ้นศาล

ส่วน นายสุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า ศาลโลกบอกว่าปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ดังนั้นหมายถึงเป็นพันธกิจของกัมพูชาและไทยที่ต้องช่วยจรรโลง ดูแล ปฏิสังขรณ์ ทำให้สมบัติชิ้นนี้เป็นของมนุษยศาสตร์อย่างสมบูรณ์ คำตัดสินออกมาแล้ว หากเราจะคิดขับเคลื่อนตามภาพความเข้าใจในอดีตที่เป็นเรื่องความขัดแย้ง แตกแยก แสดงจุดยืนจับจองความเป็นเจ้าของไม่ได้ เพราะปราสาทพระวิหาร มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เป็นสถานที่มีผู้มาจาริกแสวงบุญและบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ตนศรัทธาร่วมกัน เป็นคุณค่าที่มีความหมาย ปราสาทพระวิหารจึงเป็นสมบัติร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ในทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เป็นการแสดงถึงมิตรภาพอันแน่นแฟ้น ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา ควรคิดว่าเรามาร่วมมือกัน ร่วมกันจรรโลงสมบัติของชาติอย่างไร ร่วมกันศึกษาและพลิกฟื้นจิตวิญญาณของปราสาทพระวิหาร

ประเด็นในมิติทางสังคมและวัฒนธรรม อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2554 มูลค่าค้าขายของไทยในพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร ตกถึง 93,152 ล้านบาท มีสินค้าของไทยไปขายมากมาย เรามีบริษัทที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชามากมาย ความสำคัญของไทยและกัมพูชาจึงเป็นประโยชน์ให้แก่คนในหลายระดับด้วยกัน” รศ.ดร.สุเนตร กล่าว

ด้าน นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ทั้งนี้คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จะจัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “เบื้องหลังคดีตีความปราสาทพระวิหาร” ในวันศุกร์ที่ 15 พ.ย.56 เวลา 9.30 น. ณ ห้อง 307 อาคารพินิตประชานาถ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวคณะต่อสู้คดีฝ่ายไทย คดีเขาพระวิหาร, ศ.ดร.ชุมพร ปัจจุสานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และนายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นวิทยากร เพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริงและประเด็นกฎหมายที่สำคัญของคดีนี้ รวมทั้งในแนวการวิเคราะห์ผลของคำพิพากษาแก่สาธารณชน


กำลังโหลดความคิดเห็น