xs
xsm
sm
md
lg

นิรโทษเผด็จการ : นิรโทษประชาธิปไตย (ภาค 2)

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

แฟ้มภาพ
นิรโทษเผด็จการ : นิรโทษประชาธิปไตย (ภาค 2)

การออกกฎหมายนิรโทษกรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล นอกจากจะมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐนิติธรรม และหลักการพื้นฐานของกระบวนการตรากฎหมายที่ขาดความโปร่งใส ผิดไปจากร่างเดิมในวาระที่หนึ่ง และยังมีความไม่ชอบธรรมในเชิงเนื้อหาที่เป็นการล้มเลิกผลของกฎหมายที่บุคคลได้กระทำผิดกฎหมายและศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันเปิดช่องให้บุคคลที่พ้นความผิดเรียกสิทธิหรือผลประโยชน์คืนได้ ทั้งการกระทำของ ส.ส.ที่ได้เสนอร่างกฎหมายนี้ เกิดขึ้นโดยที่ไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระจากอดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่คณาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกแถลงการณ์คัดค้าน เช่นเดียวกับองค์กรและภาคประชาชนต่างๆ ทั้งสังคมได้ออกมาชุมนุมประท้วงการกระทำของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลในขณะนี้แล้ว

เนื้อหาสาระของบทบัญญัติตามร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ ยังมีลักษณะเป็นการทำลายดุลยภาพแห่งหลักการแบ่งแยกอำนาจการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีการแบ่งออกเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ทำให้ฝ่ายบริหารที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร นอกจากจะสามารถครอบงำการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดดังที่ประจักษ์โดยทั่วไปแล้ว ยังมีลักษณะเป็นการใช่เสียงข้างมากก้าวก่ายแทรกแซงการทำหน้าที่ของฝ่ายตุลาการโดยล้มล้างกระทำความผิดตามผลคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอันถึงที่สุดไปแล้ว โดยเฉพาะคดีที่ดินรัชดา คดียึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท และคดีทุจริตการจัดซื้อรถเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานครเป็นต้น ซึ่งได้ผ่านกระบวนการพิสูจน์ความจริงตามกระบวนการยุติธรรมปกติโดยชอบแล้ว ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “นิรโทษเผด็จการ : นิรโทษประชาธิปไตย” ภาคแรกไปแล้ว

หากเราปล่อยให้มีการสร้างบรรทัดฐานเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ ต่อไปเมื่อศาลตัดสินคดีใดที่มีผลคำพิพากษาไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายบริหารที่มีเสียงข้างมากเช่นนี้ก็จะมีการออกกฎหมายมายกเลิกเพิกถอนล้มล้างผลของคำพิพากษาได้โดยตลอด แต่หากคดีใดศาลตัดสินแล้วมีผลเป็นที่พอใจก็ปล่อยให้คำพิพากษามีผลใช้บังคับต่อไป พฤติกรรมเช่นนี้อาจเปรียบได้ว่าเป็นเผด็จการที่แยบยลยิ่งกว่าอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเผด็จการนาซีที่เคยแก้รัฐธรรมนูญให้ตนเองผู้เดียวสามารถใช้อำนาจการปกครองได้ทั้งสามอำนาจเสียอีก เพราะการออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในลักษณะนี้สามารถใช้ศาลเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในคดีที่ตนพอใจได้อีกด้วย หากสังคมไทยยินยอมให้มีการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นได้ก็เท่ากับยอมรับการปกครองที่ไร้มาตรฐาน และปราศจากธรรมมาภิบาลได้ แล้วประชาชนไทยโดยทั่วไปโดยเฉพาะฝ่ายที่เห็นต่างจากเสียงข้างมากจะมีที่ยืนในประเทศนี้ได้อย่างไร

การที่ผู้พิพากษาในนามกลุ่ม 63 ตุลาการผู้รักแผ่นดินซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งในเชิงสัญลักษณ์ของผู้พิพากษาอีกจำนวนมากที่มีจุดยืนเช่นเดียวกัน ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ....นั้น อาจทำให้บางฝ่ายเกิดความกังวลใจว่าการแสดงออกเช่นนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมสูญเสียความเป็นกลาง และจะปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจาอคติได้หรือไม่ ซึ่งคำถามนี้ผู้เขียนในฐานะที่เป็นหนึ่งในกลุ่ม 63 ตุลาการผู้รักแผ่นดินดังกล่าว

ขอเรียนว่าพวกเราได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นในฐานะปวงชนชาวไทยผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายโดยสำนึกและจิตวิญญาณของความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชนชาวไทย ตามสิทธิของบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 บัญญัติรับรองไว้ ตามวัตถุประสงค์ที่แท้ของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีสติปัญญาได้ใช้ความรู้ความสามารถในการให้ข้อมูลและความรู้แก่สังคมโดยทั่วไป

ส่วนความหมายของคำว่าความเป็นกลาง หรือสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทานั้น พระเดชพระคุณท่านพระอาจารย์พระพรหมคุณาภรณ์ได้แสดงธรรมไว้ว่า หมายถึงการอยู่บนความจริง ความถูกต้อง ดีงาม ไม่ใช่อยู่กึ่งกลางหรือตรงกลางระหว่างความจริงกับความเท็จ ถูกกับผิด หรือดีกับเลว เมื่อวันนี้ประชาชนชาวไทยทุกสาขาอาชีพ ตลอดจนนักเรียน นิสิต นักศึกษา และคณาจารย์ทุกสถาบันทั้งประเทศ ได้ร่วมกันออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเสนอดังกล่าว ซึ่ง ณ ขณะนี้ฝ่ายรัฐบาลเองก็ออกมายอมรับแล้วว่าจะไม่ยืนยันร่างกฎหมายให้มีผลใช้บังคับหากวุฒิสภามีมติคว่ำร่างกฎหมายดังกล่าว และถึงวันนี้ก็ปรากฏว่าวุฒิสมาชิกจำนวน 141 คน ได้มีมติไม่รับพิจารณาแล้ว

การแสดงความคิดความเห็นคัดค้านร่างกฎหมายของกลุ่ม 63 ตุลาการผู้รักแผ่นดินได้กระทำโดยการวินิจฉัยข้อมูลที่ได้รับทั้งหมดไปเท่าที่พอมีสติปัญญา และเจตนาที่บริสุทธิ์แล้ว และคงเป็นเพียงการแสดงออกที่อยู่บนพื้นฐานของความจริง ความถูกต้อง ดีงาม ตามความหมายที่แท้ของความเป็นกลางดังกล่าว ประกอบกับยังเป็นการปฏิบัติไปตามแนวทางที่บรรพตุลาการในอดีตเคยทำมาแล้ว เช่น เมื่อคราวที่รัฐบาลในอดีตเคยจะแก้กฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ก.ต. โดยตำแหน่ง หรือเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตตุลาการในปี 2535 รวมทั้งที่เคยจะมีการแก้กฎหมายเลือกตั้งบัญญัติให้ประธานศาลฎีกาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการให้ใบเหลืองใบแดงในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ได้น้อมนำพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานไว้ในงานนิติศาสตร์รำลึก เมื่อหลายปีก่อนว่า

“ผู้มีอาชีพทางกฎหมายนับว่าเป็นหลักของบ้านเมือง ทำให้การปกครองบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นไปด้วยหลักความยุติธรรม แต่งานของกฎหมายเป็นเรื่องที่มีปัญหา วิชาการที่นำมาใช้ศึกษามาจากต่างประเทศซึ่งน่าจะได้มีการพิจารณาถึงความเป็นอยู่ของบ้านเมืองประกอบด้วย หากนำมาใช้ล้วนๆ น่าจะทำให้บ้านเมืองมีปัญหา แต่หลักใหญ่ของนักกฎหมายคือต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ การปกครองบางทีไม่ได้ปกครองตามกฎเกณฑ์เพราะเหตุการณ์ไม่อำนวย อาจเป็นเพราะนักปกครอง เจ้าหน้าที่ไม่ได้อธิบายให้ชาวบ้านทราบถึงกฎเกณฑ์จึงเกิดปัญหา ผลที่สุดต้องมาขึ้นศาล บางคดีจะเห็นว่าตามกระบวนการยุติธรรมชาวบ้านควรชนะ แต่เมื่อดูตามลายลักษณ์อักษรชาวบ้านก็จะแพ้ นักกฎหมายจึงควรมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้การปกครองเกิดความเป็นธรรม ก็ให้ช่วยสร้างความยุติธรรมขึ้นมา อาจต้องมีการแก้ไขกฎหมายบ้างแล้วแต่กรณี”

นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายว่า “อาจบอกว่าคณะนิติศาสตร์มีหน้าที่แก้ไขกฎหมาย ความจริงเป็นเรื่องของนิติบัญญัติที่ต้องแก้ไขกฎหมาย แต่สภานิติบัญญัติส่วนมากเป็นผู้แทนราษฎรอาชีพคือไม่ได้เป็นนักวิชาการแท้ นักกฎหมายที่ศึกษากฎหมายมาโดยตรงโดยดูแต่ทฤษฎีกฎหมายก็จะไม่เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง นักกฎหมายต้องชี้ทางให้สภานิติบัญญัติรับทราบว่าตรงใดควรแก้ไขเพื่อให้ เหมาะสมกับสถานการณ์ความเป็นอยู่ในบ้านเมือง” และพระองค์ท่านยังตรัสถึงข้าราชการตุลาการว่า “เป็นส่วนหนึ่งในการปกครองระบอบประชาธิปไตย หากศาลปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในโรงในศาลแล้วบอกไม่ใช่หน้าที่ผู้พิพากษาที่จะ แก้ไข กฎหมาย พูดอาจได้ แต่ความจริงผู้พิพากษามีความรู้ ในฐานะผู้รักชาติย่อมมีสิทธิ พูด คิด หารือในฐานะประชาชน”

ผู้เขียนขอน้อมรับในความปรารถนาดีและความห่วงใยของหลายฝ่าย ทั้งในศาลยุติธรรมเอง และโดยเฉพาะ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นถึงอดีตอัยการสูงสุด รวมทั้งทนายความทั้งหลายซึ่งนับว่าเป็นคนคุ้นเคยในแวดวงกฎหมายเช่นเดียวกัน ซึ่งหลายคนรู้จักเป็นการส่วนตัว เพราะผู้เขียนเคยได้รับเกียรติจากสภาทนายความให้ไปบรรยายความรู้เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีในระบบไต่สวนโดยเฉพาะของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแก่ทนายความมาเกือบทั่วทุกภาคของประเทศ จึงนับว่าทุกท่านเป็นกัลยาณมิตรที่พึงมีน้ำจิตน้ำใจต่อกันและผู้เขียนขอน้อมคารวะมา ณ โอกาสนี้ โดยขอให้คำมั่นว่าพวกเราชาวตุลาการทุกคนจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยปราศจากอคติทั้งปวง ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ อย่างผู้มีปัญญา ไม่ประมาท และกล้าหาญตามหลักพรหมวิหารสี่ข้ออุเบกขา คือความพอดีในการตัดสินคดีเพื่อรักษาธรรม ผิดว่าตามผิด ถูกว่าตามถูกตลอดไป

ป.ล. ในท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนปรารถนาให้พวกเราชาวไทยทุกท่านไม่ว่าจะต่างความคิด ต่างสีหรือต่างพวกพ้องกันอย่างไรก็ตาม ให้พึงระลึกถึงความเป็นคนไทยที่อยู่ภายใต้ร่มพระบารมีพ่อหลวงของเราด้วยกันทุกคน ไม่มีเหตุผลใดที่เราจะต้องมาทะเลาะเบาะแว้งแตกแยกกันถึงขั้นเป็นไทยฆ่าไทย เพียงเพราะความเจ้าเล่ห์เพทุบายปลิ้นปล้อนหรอกลวงของนักการเมืองบางคนที่ทำให้สังคมไทยแตกแยกมายาวนานหลายปี แต่ในความแตกแยกสับสนของสังคมไทยในขณะนี้ ด้วยพฤติกรรมความโหดร้ายและเห็นแก่ตัวอย่างสุดๆ ของนักการเมืองพวกนี้ก็กลับเป็นเสมือนเครื่องเตือนสติที่เหนี่ยวรั้งจิตสำนักรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ของปวงชนชาวไทยทุกภาคส่วนให้กลับมารู้รักสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้อีกครั้ง ด้วยจิตคารวะ

บทความ : อนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตเลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา/เขียน
กำลังโหลดความคิดเห็น