xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมศาสตร์แสดงจุดยืนต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนัดรวมพลต้าน 7 พ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มธ.แสดงจุดยืนค้านนิรโทษสุดซอย ชี้เป็นตัวอย่างไม่ดีต่อสังคมไทย ขอยึดหลักนิติธรรม “สมคิด” ระบุมติ มธ.ยังไม่มีการร่วมชุมนุมที่สามเสน แม้จะมีเป้าหมายเรื่องเดียวกันแต่ไม่ร่วมกันก็ได้ เผยอาจจัดกิจกรรมอื่น ล่าสุดนัดรวมพลวันที่ 7 พ.ย.ลานปรีดี ก่อนเดินไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้านนายกสภาจุฬาฯ จวกกม.นิรโทษกรรมทำลายกระบวนการยุติธรรม  

วันนี้ (4 พ.ย.) ที่ห้องสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการ มธ.พร้อมด้วยรองธิการบดี มธ.สภาอาจารย์ สภาข้าราชการ องค์การนักศึกษา และสภานักศึกษา ร่วมแถลงข่าว “การแสดงจุดยืนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” สาเหตุสำคัญที่ มธ.ทำเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าในทางนิติรัฐ นิติธรรม นิติศาตร์ และในการปกครองบ้านเมืองนั้น การนิรโทษกรรมจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้ก็ต่อเมื่อนำมาซึ่งความสงบสุขของบ้านเมือง แต่การนิรโทษกรรมครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่สังคมไทย เพราะว่าคนที่ดำเนินการในสิ่งที่ไม่ดี และคนที่ทุจริตคอรัปชั่นได้รับนิรโทษกรรม โดย มธ.ได้รวบรวมรายชื่อคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพียงวันเดียวได้รายชื่อคณาจารย์ 636 คน และเจ้าหน้าที่ 46 คนและขณะนี้ยังมีคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาอีกจำนวนมากที่จะร่วมลงชื่อด้วย

การแสดงเจตนาครั้งนี้ของ มธ.เป็นการแสดงเจตนาที่รับผิดชอบต่อสังคม เพราะ มธ.เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นที่คาดหวังของสังคมว่าจะแสดงออกในฐานะสถาบันการศึกษาอย่างไร ผมคิดว่าหากไม่แสดงออกในเรื่องนี้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมก็จะมีผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง และเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อสังคมไทย ทั้งนี้ มธ.ขอยืนหยัดในหลักนิติธรรม และไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ จึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ทั้งวุฒิสภา และฝ่ายการเมืองทั้งหลายดำเนินการให้กฎหมายฉบับนี้ตกไป เพื่อให้สังคมไทยกลับสู่ความสงบอีกครั้ง” ศ.ดร.สมคิด กล่าว

อธิการ มธ.กล่าวต่อว่า มธ.จะพยายามรณรงค์เพื่อให้วุฒิสภาเห็นประโยชน์ของประเทศ ซึ่งตามกระบวนกฎหมายหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ผ่านวุฒิสภา จะถูกยับยั้ง 6 เดือน และถูกตีกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง โดยในวันที่ 7 พ.ย.นี้ เวลา 13.00 น.คณาจารย์คณะนิติศาสตร์จะให้ความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในทางนิติศาสตร์ ซึ่งจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า การอนุมัติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา น่าจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องการขยายหลักการของร่างกฎหมายที่ผ่านสภาฯ ตั้งแต่วาระที่ 1 เรื่องการตัดสิทธิเสรีภาพของสมาชิก ส.ส.ที่ไม่ได้ให้อภิปรายในสภาฯ

ต่อข้อถามว่า มธ.จะเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่สามเสนหรือไม่ และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะจัดกลุ่มชุมนุมของ มธ.ขึ้นมาเอง ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคลว่าใครจะเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมใด แต่ในส่วนของ มธ.ยังไม่มีมติที่จะไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่สามเสน ซึ่งการชุมนุมที่สามเสนเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่มีการเคลื่อนไหวในวัตถุประสงค์เดียวกัน แต่อาจไม่จำเป็นต้องไปรวมกันทั้งหมด อย่างไรก็ตามมีคณาจารย์จำนวนมากมาคุยกับตนว่า มธ.ไม่ควรหยุดแค่การลงชื่อ แต่ควรจะเดินหน้าไปมากกว่านี้ เช่น จัดอภิปราย หรือล่ารายชื่อให้ได้ 1 ล้านชื่อ เป็นต้น ดังนั้นทุกอย่างจึงเป็นไปได้หมด แต่ต้องขอพิจารณาก่อนว่าจะดำเนินการอะไรต่อไป เบื้องต้นในวันที่ 7 พ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา และศิษย์เก่า นัดรวมตัวกันที่ลานปรีดี พนมยงค์ มธ.จากนั้นจะเดินขบวนแสดงเจตนารมย์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าชาว มธ.ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในครั้งนี้ ศิษย์เก่า มธ.ได้จัดทำสติกเกอร์ ธรรมศาสตร์ร่วมต้านกฎหมายนิรโทษกรรม” จำนวน 200,000 แผ่น ด้วย

ด้าน น.ส.ฌาลิศา ธรรมวงค์ นายกองค์การนักศึกษา มธ.กล่าวว่า องค์การนักศึกษา มธ.และสภานักศึกษา มธ.มีมติคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความเห็นชอบในวาระที่สาม และมีข้อเรียกร้อง 2 ข้อ ได้แก่ 1.เรียกร้องให้วุฒิสภามีมติไม่ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว และให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินกระบวนการให้ถูกต้องโดยยึดหลักการเดิม ตามที่ได้รับหลักการเอาไว้ตามวาระที่หนึ่ง 2.การตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้นควรนิรโทษกรรมให้แต่เฉพาะการกระทำของประชาชนอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามวิถีทางประชาธิปไตยที่มีการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น และการนิรโทษกรรมควรจะเป็นการสร้างความปรองดองอย่างแท้จริงมิใช่เป็นการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในประเทศดังที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้องค์การนักศึกษา มธ.และสภานักศึกษา มธ.ยังคงเชื่อมั่นต่อกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน และยังคงเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งที่จะเคียงข้างกับประชาชนคนอื่นตลอดไป และหวังว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจะไม่ทำลายความหวังและศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยด้วยความหวัง
 
นายกสภาจุฬาฯ จวกกม.นิรโทษกรรมทำลายกระบวนการยุติธรรม ไม่มีใครในโลกรับได้ ชี้หากปล่อยกฎหมายผ่านจะสอนลูกหลานอย่างไรว่าทุจริตไม่ดี    
ศ.กิตติคุณ คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โดยส่วนตัวเท่าที่ได้เห็นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในบางมาตรามีความรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งเพราะปกติการออกกฎหมายนิรโทษกรรม จะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่กฎหมายฉบับนี้ มีการขยายเวลาการนิรโทษกรรมออกไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนสิงหาคม 2556 และครอบคลุมทั้งคดีอาญา คดีทุจริต คอรัปชันและบางคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา
"หากกฎหมายฉบับนี้ออกมามีผลบังคับใช้ จะครอบคลุมผู้กระทำความผิดทั้งคดีอาญาและคดีทุจริตคอรัปชันและถ้าเป็นแบบนี้ เราจะบอกลูกหลานได้อย่างไรว่าการทุจริตมันไม่ดี โดยเฉพาะเราเป็นครูบาอาจารย์ จะสอนลูกศิษย์ได้อย่างไร ถ้ากฎหมายฉบับนี้ออกมา จะเท่ากับเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด เป็นกฎหมายที่รับไม่ได้และไม่ควรมีใครในโลกนี้ที่จะรับกฎหมายนี้ได้"นายกสภาจุฬาฯ กล่าวและว่า ในส่วนของจุฬาฯนั้น ทางฝ่ายบริหารได้มีการออกแถลงการณ์เพื่อคัดค้านกรณีดังกล่าว ขณะที่ทั้งศิษย์เก่าและ ศิษย์ปัจจุบันนิสิตได้ออกไปร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนแสดงจุดยืน  เรื่องนี้ไม่เกี่ยวว่าจะอยู่สีไหน แต่เกี่ยวที่ประเทศไทยต้องอยู่รอด และสิ่งที่จุฬาฯต้องทำต่อไปคือการให้ความรู้ เรื่องประชาธิปไตยที่ถูกต้องกับนิสิตและบุคลากรของจุฬาฯ เป็นการให้ความรู้ทางวิชาการแต่คงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง






กำลังโหลดความคิดเห็น