xs
xsm
sm
md
lg

คณาจารย์-บุคลากร มธ.แถลงค้านนิรโทษฯ จี้วุฒิสภาคว่ำร่าง กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นประธานแถลงข่าวแสดงจุดยืนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมีผู้บริหาร ประธานสภาอาจารย์ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าร่วมด้วย
นายสมคิด เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รวบรวมรายชื่อคณาจารย์ 636 คน และบุคลากร 47 คน เพื่อคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่านวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ชุมนุมทางการเมือง แต่ยังรวมไปถึงบุคคลที่ทุจริตคอร์รัปชัน และมีระยะครอบคลุมตั้งแต่ปี 2547-2556 ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางไม่สามารถระบุคน และเหตุการณ์ได้
นอกจากนี้ ยังครอบคลุมบุคคลหลายประเภท ที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม โดยครั้งนี้ เป็นการรวมรายชื่อครั้งใหญ่สุดในมหาวิทยาลัยฯ โดยใช้เวลาเพียง 1-2 วันฃ
ทั้งนี้ ในทางนิติรัฐ นิติธรรม การนิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นทางเลือกให้เกิดความสงบสุขของบ้านเมือง แต่การนิรโทษกรรมครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้นิรโทษกรรมคนที่คอร์รัปชันเข้าไปด้วย ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษา ขอยืนหยัดในหลักนิติธรรม โดยแสดงจุดยืนคัดค้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ และอยากเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองดำเนินการให้กฎหมายฉบับนี้ตกไป เพื่อให้สังคมสงบอีกครั้ง
นายสมคิด กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังมีปัญหาทั้งในเรื่องหลักการที่ถูกแปรญัตติเพิ่ม ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายในตอนแรก รวมถึงมีการตัดสิทธิเสรีภาพ ไม่ให้ ส.ส.อภิปราย ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญชัดเจน โดยทางมหาวิทยาลัยฯ หวังว่า ส.ว.จะเห็นประโยชน์ของประเทศ ด้วยการไม่เห็นชอบ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้ต่อต้านรัฐบาล แต่ต้องการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายเท่านั้น โดยในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ เวลา 09.00 น.จะมีการรวมตัวของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ลานปรีดี พนมยงศ์ เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และจะเคลื่อนขบวนต่อไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนที่เวลา 13.00 น. นายณรงค์ ใจหาญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะแถลงข่าวว่าเนื้อหาของ พ.ร.บ.ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอย่างไรบ้าง
ขณะที่ฌาลิศา ธรรมวงค์ นายก อมธ. ได้อ่านแถลงการณ์ร่วมของ อมธ. และสภานักศึกษา มธ. มีเนื้อหาว่า อมธ.และสภานักศึกษา มธ. เห็นความสำคัญของการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับประชาชนอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง แต่การนิรโทษกรรมจะต้องไม่ครอบคลุมถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง หรือการกระทำของแกนนำผู้ชุมนุม หรือการกระทำของบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้น หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 – 10 พฤษภาคม 2554 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อมา
การพิจารณาเรื่องดังกล่าวมีความไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยหลักการในร่าง พ.ร.บ.ในวาระที่ 3 ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม จนทำให้ขัดกับหลักการในร่าง พ.ร.บ. ที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการไว้ ซึ่งขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2551 ข้อ 117 วรรค 3 ว่า คณะกรรมาธิการอาจเพิ่มมาตราใหม่หรือตัดทอนแก้ไขมาตราเดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่ง พ.ร.บ. การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจึงอาจมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกัน แถลงการณ์ดังกล่าวยังเรียกร้องให้วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และให้สภาผู้แทนราษฎรยึดหลักการเดิม และการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ควรนิรโทษกรรมเฉพาะการกระทำของประชาชนในการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น เพื่อนำไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น