xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการจุฬาฯ เชื่อม็อบต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจุดติดยาก ชี้คนไทยยังไร้ทางออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นันทวัฒน์ บรมานันท์ (ภาพจากแฟ้ม)
คณบดีนิติฯ จุฬาฯ ชี้ความเร่งรีบพิจารณา กม.นิรโทษกรรม พร้อมเนื้อหาร่าง กม. ที่ไม่สามารถบอกเหตุผลความจำเป็นได้ ทำให้ไม่แปลกที่จะเกิดกระแสคัดค้าน แต่ยังเชื่อม็อบจุดติดยาก เหตุไร้ผู้นำที่มีศักยภาพ แม้ ปชป.จะมาเป็นแกนนำก็ตาม มองคนไทยยังต้องเผชิญสถานการณ์เช่นนี้ต่อไปอย่างไร้ทางออก

วันนี้ (1 พ.ย.) นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านความเห็นชอบวาระ 2 และ 3 จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ว่า ถ้าดูในเรื่องของกระบวนการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ถือเป็นหน้าที่ของรัฐสภาอยู่แล้ว แต่กฎหมายนี้ค่อนข้างเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา การพิจารณาของรัฐสภาจึงควรทำด้วยความรอบคอบ ซึ่งการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรที่เร่งรีบให้แล้วเสร็จโดยเร็วในเช้ามืดของวันนี้ (1 พ.ย.) ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพิ่งจะเข้าพิจารณาเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็ทำให้ประชาชนและสังคมเกิดคำถาม และเห็นว่าไม่ถูกต้อง

คณบดีนิติฯ จุฬาฯ ยังกล่าวด้วยว่า ความจริงถ้าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นตายของคนรีบได้ แต่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอตั้งแต่เดือน มี.ค.รวมทั้งในสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลก็มีเสียงข้างมากอยู่แล้ว คือยังไงก็ผ่าน แต่ถ้าคิดว่าเพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน น่าจะพิจารณาให้เกิดความสุขุมรอบคอบมากกว่า เช่น ก่อนที่จะพิจารณาวาระ 2 และ 3 ควรให้ข้อมูลกับประชาชนถึงเหตุผล ความจำเป็นที่จะต้องตรากฎหมายฉบับนี้ หรือจัดดีเบตข้อดีข้อเสียของการมีกฎหมายฉบับนี้ แต่กระบวนนี้ก็ไม่เกิด ซ้ำเมื่อผ่านวาระ 1 ไปตั้งกรรมาธิการ ก็มีการแก้ไขเนื้อหา เปลี่ยนแปลงบุคคลที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งทางวิชาการนั้นจะนิรโทษกรรมให้กับใครต้องมีเหตุผลว่า เพราะอะไร

“ถ้าบอกให้กับผู้ที่มาร่วมชุมนุม เพราะมาด้วยใจรักประชาธิปไตย หรือจะให้แกนนำผู้ชุมนุม แต่บางเสียงบอกว่าแกนนำผู้ชุมนุมไม่ควรได้รับการนิรโทษ เพราะพาคนไปตาย จะเหตุผลแย้งอย่างไร หรือคนใช้อำนาจรัฐสั่งสลายการชุมนุม จะให้เพราะอะไร ก็ต้องมีคำอธิบาย ถ้าบอกว่า เพื่อให้เกิดความปรองดองในชาติ ก็ขอให้คนไทยกัดฟันยอมสักครั้ง แล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ละหากได้รับการนิรโทษกรรม ผู้ที่สูญเสียจะเยียวยาเขาไหม เยียวยาอย่างไร มันต้องทำคู่กัน ทั้งหมดมันต้องมาด้วยเหตุด้วยผล แต่วันนี้ไม่มีคำอธิบายพวกนี้ และกระบวนในการพิจารณาร่างกฎหมายยังทำอย่างรีบเร่งอีก ทำให้ไม่แปลกที่คนจะออกมาคัดค้าน” นายนันทวัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายนันทวัฒน์ ยังมองว่าแม้กระแสการคัดค้านการออกกฎหมายดังกล่าวจะมีอย่างกว้างขวาง รวมถึงคนเสื้อแดงก็ไม่เห็นด้วย แต่ก็มีคำถามว่าหากคนเสื้อแดงที่เป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) ไม่เห็นด้วยจริง ทำไมเสียงเห็นชอบร่างกฎหมายนี้การพิจารณาของสภาวาระ 2 และ 3 จึงได้ถึง 310 เสียง เพราะแกนนำ นปช.ส่วนหนึ่งก็เป็น ส.ส.อยู่ แต่ทั้งนี้ กระแสคัดค้านจะมีผลให้การชุมนุมต่อต้านมีความรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่ใครเป็นแกนนำในการชุมนุม วันนี้ยังเห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ จุดติดยากมาก เพราะไม่มีแกนนำที่มีศักยภาพพอ หรือต่อให้พรรคประชาธิปัตย์มาเป็นแกนนำชุมนุมก็ตาม

“มันก็เหมือนเราลอยคออยู่กลางทะเล มีเรือ 2 ลำ ลำหนึ่งรัฐบาล อีกลำหนึ่งเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ โดยทั้งสองลำเราไม่รู้เลยว่าจะนำพาประเทศไปสู่จุดไหน อย่างไร และคิดว่าคนไทยก็ต้องอยู่กับสภาพนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พอไปถึงวุฒิสภา ถ้าไม่ผ่านก็ต้องตั้งกรรมาธิการร่วม และนำไปสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แล้วสมมติว่าศาลวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จบไป แล้วก็มาเปิดประเด็นเรื่องอื่นกันอีก ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นั่นเป็นเพราะเราไม่มีฝ่ายไหนที่จะยอมหยุด และยอมรับที่จะเดินไปในแนวทางการแก้ไขปัญหาที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเสนอ อย่างคราวที่แล้ว คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.ที่มีอาจารย์คณิต ณ นคร เป็นประธาน รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ เป็นคนตั้ง รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาก็ยอมรับ แต่พอ คอป.มีข้อเสนอแนะเรื่องความปรองดอง ก็ไม่รับกัน ทำให้ทุกวันนี้เราเดินกันไปอย่างไม่มีหลังอิง ซึ่งในความรู้สึกผมว่าคนไทยก็วังเวง” นายนันทวัฒน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น