xs
xsm
sm
md
lg

สัมมนาภาคีเครือข่ายฯ แนะเซตซีโร่สังคม ชี้ให้ต้านล้างผิดเห็นใช้อำนาจไร้คุณธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปธ.ผู้ตรวจฯ แจงวงสัมมนาปฏิรูปพลังคุณธรรมจริยธรรมของแผ่นดิน ชี้ สังคมจริยธรรมต่ำ ใช้ รธน.50 ประมวลจริยธรรมไม่ครบทุกองค์กร แม้ยึดจริยธรรมแต่ไร้ผลทางปฏิบัติ จี้อย่าเซตซีโร่สังคมอย่าแค่การเมือง ให้มีคุณธรรม ช่วงบ่ายชี้ต่อบ้านเมืองขาดจริยธรรม นิติธรรม “กล้านรงค์” มององค์กรยุติธรรม-อิสระ ไม่เข้มแข็งสอบรัฐ ยก อสส.ฟ้อง “มาร์ค-สุเทพ” ทั้งที่หน้าที่ ป.ป.ช.เชื่อสุดท้ายเป็นปัญหา มองกระแสต้านล้างผิดโอกาสดีชี้ให้สังคมตระหนักใช้อำนาจรัฐไร้คุณธรรม “วสิษฐ-วีรวิท” จี้ ขรก.อย่าร่วมมือนักการเมืองโกง ต้องประณาม

วันนี้ (7 พ.ย.) ในการสัมมนาเรื่อง “การปฏิรูปพลังคุณธรรมจริยธรรมของแผ่นดิน” ของภาคี  เครือข่ายเสริมสร้างพลังคุณธรรมจริยธรรมของแผ่นดิน 7 องค์กร  นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะประธานภาคีเครือข่ายฯ  กล่าวบรรยายตอนหนึ่งในหัวข้อ  การปฏิรูปเพื่อเพิ่มพลังคุณธรรมจริยธรรมของแผ่นดิน” ว่า วิกฤตคุณธรรม จริยธรรมในสังคมไทยไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น เกิดมานานแล้ว มีผู้บอกว่าคุณธรรม จริยธรรม หล่นหายไปจากสังคมไทยกว่า 60 ปีแล้ว เพราะเราเห็นแก่เงินตรา เห็นแก่อำนาจนิยม จนลืมว่าเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ไม่ใช่เรื่องอำนาจ แต่เกิดจากเนื้อในของบุคคล ที่เสริมสร้างมาตั้งแต่เราเป็นเด็ก  เวลาที่ผ่านไปคุณธรรม จริยธรรมในสังคมไทยกลับเลวร้ายลงทุกวัน มาตรา 279 ของรัฐธรรมกำหนดให้ทุกหน่วยงานของรัฐต้องจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานตนเองให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ แต่วันนี้ผ่านไป 6 ปี ก็ยังไม่เต็มร้อย   หัวใจหลักของคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควรคำนึงถึงก็คือ ความซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบ  ยึดมั่นความถูกต้องเป็นธรรม ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนร่วม 

            “เรื่อง คุณธรรมจริยธรรม เป็นฐานรากที่สำคัญสุดของการใช้อำนาจรัฐ ใช้หลักนิติธรรมปกครองประเทศ ที่ผ่านมาเราพูดกันแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ได้คนดีเข้ามาในสภา มาปกครองประเทศ  หรือมีอยู่ในทุกที่ทุกแห่ง รัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ในมาตรา 279 วรรค 4 ว่า การพิจารณา สรรหา กลั่นกรอง หรือแต่งตั้งบุคคลใดเข้าดำรงตำแหน่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจรัฐ การโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษบุคคลนั้น จะต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าวด้วย แต่กลับไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ การแต่งตั้งบุคคลที่ใช้อำนาจรัฐตั้งแต่ระดับสูงสุด จนถึงระดับล่างสุด ยังไม่มีการคำนึงถึงหลักคุณธรรมและพฤติกรรมทางจริยธรรมตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งที่มีการพูดว่าจะยุบองค์กรอิสระที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ ความจริงยุบได้และยุบง่าย ถ้าผู้ใช้อำนาจรัฐใช้อำนาจโดยยึดหลักคุณธรรม นิติธรรม ในบ้านเมืองไม่จำเป็นต้องมีองค์การอิสระตรวจสอบสักแห่งเลย แต่ทั่วโลกก็ยังมีองค์การตรวจสอบเหล่านี้อยู่ก็เพราะเหตุที่ว่า การปกครองบ้านเมืองผู้ใช้อำนาจรัฐยังคงมีปัญหาอยู่”

            นางผาณิต ยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีแผนซื่อตรงแห่งชาติ ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ก.ค.54 แต่ละหน่วยงานมีประมวลจริยธรรมของตนเอง ซึ่งมีการเขียนไว้สวยหรู แต่ละภาคส่วนของสังคมพยายามที่จะจัดอบรม สัมมนาอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ยังรู้สึกว่า ทั้งแผน ทั้งประมวลจริยธรรที่มีก็ยังเป็นเพียงกระดาษปึกหนึ่งเท่านั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทั้งผู้ใช้อำนาจ ประชาชน รวมถึงทุกภาคส่วนของสังคม ควรจะได้ตระหนักและมาร่วมกัน เซตซีโร่ ซึ่งคำนี้ไม่อยากให้มีความหมายเฉพาะทางการเมือง แต่ควรรวมถึงเซตซีโร่สังคมทีไร้คุณธรรม  ให้เริ่มต้นการเป็นสังคมที่มีคุณธรรม จริยธรรม  คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่เอาประโยชน์ส่วนรวม และไม่มีประโยชน์ทับซ้อน

ขณะที่ในช่วงบ่ายได้มีการสัมมนาต่อ โดยนายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องน่าอับอายที่เราต้องเขียนเรื่องจริยธรรม และนิติธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะทั้ง 2 เรื่องควรจะอยู่ในจิตสำนึกของคนไทย  ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองขณะนี้ก็เพราะเราขาดเรื่องจริยธรรม และนิติธรรม การทุจริตคอร์รัปชัน นักการเมืองลำพังเพียงฝ่ายเดียวทำได้ไม่สำเร็จต้องได้รับความร่วมมือจากข้าราชการ ขณะเดียวกันกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระ ที่เป็นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไม่เข้มแข็ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูกกดดันอย่างหนัก อย่างศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาก็ถุกม็อบนำเอาเบอร์โทรศัพท์ ชื่อคนในครอบครัวไปเปิดเผย  ดังนั้น การจะแก้ปัญหาได้คือสังคมต้องคิดว่าทำอย่างไรจะปกป้อง และปลุกให้องค์กรเหล่านี้กล้าที่จะทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างเข้มแข็ง

                “ผมว่าผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมือง ก็ต้องกล้าที่ดำเนินเอาผิดกับนักการเมืองที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ป.ป.ช.ก็ต้องกล้าตัดสินคดี อย่างเวลานี้ ที่ผมว่ามันจะเป็นปัญหาใหญ่ในวันข้างหน้า ก็คือการอัยการสูงสุดสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรี  ในฐานความผิด เป็นผู้บงการสั่งฆ่าในการสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผ็ดจการแห่งชาติเมื่อปี 53 เมื่อสั่งฟ้องคดีนี้ก็ต้องไปสู่กระบวนการศาลยุติธรรมคือศาลชั้นต้น  แต่ขณะเดียวกันเรื่องนี้อยู่ในการพิจารณาไต่สวนของ ป.ป.ช.เพราะมีการกล่าวหาว่าเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  ถ้าสมมติว่า ป.ป.ช.มีมติชี้มูลว่านายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ก็ต้องส่งให้อัยการสูงสุด ยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปัญหาคือเมื่อเป็นความผิดหลายกรรม อัยการสูงสุดสั่งฟ้องต่อศาลยุติธรรมไปก่อนแล้วที่ ป.ป.ช.ส่งชี้มูลไปอัยการสูงสุดจะสั่งคดีอย่างไร  หรือถ้าสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งก็จะต้องนำไปสู่การตั้งคณะทำงานร่วม 2 ฝ่าย คือของอัยการสูงสุดกับป.ป.ช.แต่ก็จะเกิดคำถามว่า แล้วเหตุใดอัยการจึงจะสั่งไม่ฟ้องในคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลได้ ในเมื่อก่อนหน้านี้อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องไปแล้ว  ตรงนี้เป็นปัญหาที่อัยการสูงสุดจะต้องไปแก้ไขเพราะเป็นผู้ผูกขึ้นเอง แต่มันก็สะท้อนว่าตราบใดที่แต่ละองค์กรไม่กล้าที่ยืนหยัดในการทำหน้าที่ของตัวเองอย่างถูกต้อง ปัญหาของชาติมันก็แก้ไม่ได้”

                อดีตกรรมการ ป.ป.ช.ยังเห็นว่า การที่ประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมไม่เว้นแม้แต่ข้าราชการ ตุลาการที่ออกมาแสดงออกถึงการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทำให้เชื่อว่าสังคมไทยตื่นแล้ว ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่แต่ละองค์กรจะฉวยโอกาสนี้ในการสอดแทรกให้สังคมตระหนักถึงการใช้อำนาจรัฐ ว่าต้องมีคุณธรรม จริยธรรม และนิติธรรม รวมถึงการต้องไม่ยอมการกระทำใด ที่จะเป็นการทุจริตคอร์รัปชัน

                ด้าน พล.ต.อ.วิสิษฐ เดชกุญชร  อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวว่า เรื่องจริยธรรมไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร แต่เป็นเรื่องศีลธรรม  ที่เวลานี้เราละเลยการปลูกฝังเรื่องศีล เรื่องธรรม  ข้าราชการยอมร่วมมือกับนักการเมือง ทำให้บ้านเมืองเกิดปัญหาโกงบ้านโกงเมืองอยู่ในขณะนี้ ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นสิ่งที่เราอยากจะเห็นมานานแล้ว และเมื่อมันเกิดขึ้นก็ไม่อยากจะให้หยุดแค่นี้  เวลานี้เรามีสื่อออนไลน์ มีเฟซบุ๊ก ก็ควรให้สื่อเหล่านี้เป็นช่องทางในการนำเสนอว่าอะไรถูกต้องไม่ถุกต้อง  “เราต้องช่วยกันประณาม ต้องชี้หน้าคนที่ทำผิด อย่าง คนยศ พ.ต.ท.ที่เป็นนักโทษหนีโทษไปอยู่ต่างประเทศ  ความจริงแล้วต้องถูกถอดยศ พ.ต.ท.กฎระเบียบต่างๆ เขียนไว้ก็ทำได้ แต่ข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ก็กลับงอมือ งอตีน ไม่ทำอะไร  ดังนั้นถ้าอยากจะให้บ้านเมืองดีสังคมต้องร่วมกันหันหลังกลับไปยึดศีล ยึดธรรมกัน

                ขณะที่ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์  ส.ว.สรรหา มองว่า การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้กับเยาวชน เป็นเรื่องสำคัญ คนที่มีคุณธรรมจริยธรรมเขาจะปฏิบัติโดยไม่ต้องอ้างอิงกฎหมาย แต่คนที่ยึดกฎหมาย แล้วเวลาจะทำอะไรก็บอกว่ากฎหมายไม่ได้ห้าม คนอย่างนี้ไม่ควรเอามาเป็นผู้นำ เพราะเมื่อเข้ามาก็จะมาแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เอื้อประโยชน์แก่ตนเอง พวกพ้อง  ปัญหาทุจริตที่ดำรงอยู่ไม่ใช่เพราะนักการเมืองฝ่ายเดียวแต่ข้าราชการเข้าไปร่วมด้วย ยิ่งในระยะหลังๆ เราเน้นลัทธิบริโภคนิยม อยากมีอยากได้ ทำให้ข้าราชการละทิ้งศักดิ์ศรีของตัวเอง ซึ่งตรงนี้อยากเรียกร้องให้ข้าราชการได้คิดทบทวนแล้วหันกลับมาช่วยบ้านเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น