xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ค้านนิรโทษกรรมสุดซอย ชี้เรื่องร้องเรียน 2.5 หมื่นคดีหายวับทำชาติเสียหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรรมการ ป.ป.ช.แถลงคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ชี้คดี คตส.หลุดหมด 24 คดี เรื่องร้องเรียนนักการเมือง-จนท.รัฐ 2.5 หมื่นเรื่องหายวับ ทำประเทศเสียหาย ขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติ เตรียมเสนอแนะวุฒิสภาพิจารณา พร้อมยื่นเรื่องต่อสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรม ยูเอ็น


วันนี้ (5 พ.ย.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงข่าวหลังการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเรื่องที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบ 310 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ต่อพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ในวาระ 2 และ 3 โดยจะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาตามขั้นตอนต่อไปนั้น ปรากฏว่ามาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ทำให้มีประเด็นปัญหาที่กระทบถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันและธรรมาภิบาล การเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต และการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามสัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทุจริตของสหประชาชาติ (UNCAC 2003) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554

ดังนั้น ป.ป.ช.จึงเห็นสมควรให้มีข้อเสนอแนะต่อวุฒิสภาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มาตรา 3 และมาตรา 4 มีผลกระทบต่อเรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ดำเนินการไต่สวนและส่งฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจแล้ว และเรื่องกล่าวหาที่ คตส.ส่งมอบสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ รวมจำนวน 24 เรื่อง รวมทั้งเรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนตามอำนาจหน้าที่ จำนวน 25,331 เรื่อง เป็นเรื่องหล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง 400 เรื่อง และเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไป จำนวน 24,931 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดจำนวน 666 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตจะเป็นอันต้องระงับสิ้นไป และเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ถือว่าไม่เคยต้องมีคำพิพากษาดังกล่าว เนื่องจากผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยได้ยินยอมเข้าผูกพันเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต 2003 (UNCAC) ซึ่งหลักการของอนุสัญญาดังกล่าวได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดจากการทุจริตที่มีผลต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของสังคม ซึ่งบ่อนทำลายสถาบันและหลักของระบอบประชาธิปไตย คุณค่าทางจริยธรรม ความยุติธรรม และเป็นอันตรายต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและหลักนิติรัฐ ซึ่งหมายถึงประเทศไทยยินยอมจำกัดอำนาจอธิปไตยบางส่วนเข้าผูกพันตามอนุสัญยาดังกล่าว ดังนั้น หากประเทสไทยจะออกกฎหมายล้มล้างคดีทุจริตจะเป็นการขัดต่อหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของผระเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งในขณะนี้ประเทสไทยอยู่ระหว่างการถูกประเมินและติดตามผลการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญา UNCAC ดังกล่าวอยู่ด้วย นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติแจ้งต่อสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) โดยมีรายละเอียดเช่นเดียวกับข้อเสนอที่มีต่อวุฒิสภา เพื่อแสดงถึงเจตจำนงในการปฏิเสธการนิรโทษกรรมความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชัน









กำลังโหลดความคิดเห็น