“องอาจ” ฉะ รัฐทรราช แก้ รธน.รวบรัดปล้นอำนาจ ปชช.ตัดสิทธิ์ยื่นศาล ตาม ม.68 เพิ่มอำนาจ อสส.ไม่เชื่อวิปรัฐ จ้อไม่ลุยอังคารนี้ ปูดผู้มีบารมีเหนือ รบ.สั่งประกบ ส.ว.ครอบงำให้หนุนล้างผิด อุบแผนเคลื่อนไปสีลม โวพรุ่งนี้เห็นพลัง ปชช.แน่ เตือนหยุดใช้วิชามาร
วันนี้ (3 พ.ย.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความพยายามผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น รัฐบาลไม่ได้เดินหน้าสองเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่แต่ทำเพื่อประโยชน์ของรัฐบาล 3 ประการคือ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่มา ส.ว.มาตรา 190 และมาตรา 68, 237 ถือว่าเป็นการแก้เพื่อประโยชน์หมู่คณะที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและเครือข่ายของรัฐบาล 2.มีวาระซ่อนเร้นปูทางไปสู่การรื้อรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของบางคน 3.ตัดทอนอำนาจประชาชน เพิ่มอำนาจองค์กรเครือข่ายใกล้ชิดรัฐบาลให้มีอำนาจเต็มไม้เต็มมือมากขึ้นในการสกัดกั้นการใช้อำนาจของประชาชน ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนแต่อย่างใด
นอกจากนี้รายงานการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ 237 มีการบรรจุระเบียบวาระในวันอังคารที่ 5 พ.ย.เรียบร้อยแล้ว เพื่อพิจารณาวาระสองและสาม ซึ่งนายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล ออกมายืนยันว่าจะไม่นำร่างดังกล่าวมาพิจารณาในวันอังคารนี้ และไม่รู้ว่าจะพิจารณาเมื่อไหร่ ซึ่งประชาธิปัตย์ไม่เชื่อถือคำพูดนี้ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาพฤติกรรมของรัฐบาล และคนในรัฐบาลตระบัดสัตย์ต่อคำพูดของตัวเองตลอดเวลา เช่น จะนิรโทษกรรมประชาชน ไม่เกี่ยวข้องกับผู้สั่งการ แกนนำ การช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ คนทุจริต แต่รัฐบาลก็แก้กฎหมายเพื่อช่วยเหลือคนทุจริต และ พ.ต.ท.ทักษิณ แก้ให้คนที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต เผาอาคารสถานที่ได้รับการนิรโทษกรรม เป็นการตระบัดสัตย์ของรัฐบาล
“เมื่อรัฐบาลมีพฤติกรรมตระบัดสัตย์อยู่ตลอดเวลา คำพูดของนายอำนวยที่บอกว่าจะไม่มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 67 และ 237 ในวันอังคารนี้ จึงเชื่อถือไม่ได้ ซึ่งผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะหักดิบใช้เสียงข้างมากนำร่างดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา หลังการพิจารณากรอบสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งพรรคเตรียมพร้อมทำหน้าที่ในที่ประชุมรัฐสภา หากมีการหักดิบนำร่างแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้ามาพิจารณา เพราะรัฐบาลพยายามจะทำให้ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจบภายในสมัยประชุมนี้ให้ได้ โดยพรรคจะเปิดโปงให้ประชาชนเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสิทธิของประชาชน” นายองอาจ กล่าว
ทั้งนี้ตามร่างที่กรรมาธิการพิจารณานั้นมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในมาตรา 68 ตัดสิทธิ์ประชาชนไม่ให่สามารถยื่นเรื่องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ทำให้เหลือเพียงช่องทางเดียวคือ ต้องยื่นให้อัยการสูงสุดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากไม่สามารถทำได้แล้วเสร็จคนยื่นจึงมีสิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน ซึ่งในความเป็นจริงอัยการสูงสุดคงพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน เพราะมีการระบุว่า หากอัยการสูงสุดเห็นว่าไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง ก็ถือเป็นข้อยุติที่ไม่มีสิทธิ์ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้อีก เป็นการเขียนกฎหมายแบบฉ้อฉอลเพื่อให้อำนาจกับอัยการมากขึ้นโดยให้อัยการสามารถมีคำสั่งยุติเรื่องได้ ทำให้ประชาชนถูกตัดทอนอำนาจประชาชนที่เคยยื่นได้ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญและอัยการสูงสุด มาเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรที่รัฐบาลเชื่อว่าครอบงำได้ เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระ ตัดทอนอำนาจประชาชน
สำหรับกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น นายองอาจ กล่าวว่าหลังจากที่รัฐบาลดันออกกฎหมายนิรโทษกรรมผ่านสภาทาสอัปยศผ่านวาระสามทะลุซอยไปแล้ว และกำลังจะทำให้เป็นจริงภายในเวลาที่รวดเร็วที่สุด รัฐบาลจึงพยายามสกัดกั้นการทำหน้าที่ของวุฒิสภา โดยผู้มีบารมีเหนือรัฐบาลสั่งการประกบ ส.ว.หลายคน โดยเฉพาะ ส.ว.ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีจุดยืนต่อกฎหมายให้หันมาสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ โดยมีการใช้ทั้่งอำนาจรัฐ อำนาจเงิน และอิทธิพล ดำเนินการ เพื่อให้ผ่านการพิจารณาของ ส.ว.ปิดเกมให้กฎหมายออกมาบังคับใช้โดยเร็วที่สุด ทางพรรคขอยืนยันว่า เดินหน้าในการต่อต้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างถึงที่สุดในทุกรูปแบบเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ผดุงหลักนิติรัฐ นิติธรรม ให้คงอยู่ และสังคมไทยมีความเชื่อมั่นได้ว่าการทุจริตจะต้องถูกต่อต้าน ไม่ใช่ส่งเสริมให้การทุจริตเป็นเรื่องปกติของบ้านเมือง แต่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นการสร้างค่านิยมที่ทำให้คนทุจริตล้างผิดได้เมื่อมีอำนาจ พรรคจึงต่อต้านคัดค้านอย่างเต็มที่ ส่วนกรณีที่ นายสามารถ แก้วมีชัย ออกมายืนยันว่ากฎหมายนิรโทษกรรมไม่ขัดรัฐธรรมนูญนั้น พรรคประชาธิปัตย์ขอยืนยันว่า เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญสองส่วนคือ ส่วนแรกขัดรัฐธรรมนูญในเนื้อหาสาระ หลักการ และเหตุผล ในหลายมาตรา และส่วนที่สองการดำเนินการออกกฎหมายก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะกระบวนการตรากฎหมายในสภาเป็นไปโดยมิชอบ ซึ่งจะได้มีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอย่างไร
นายองอาจ กล่าวต่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ หากเกิดอะไรขึ้นนับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 พ.ย.เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป เพราะการเคลื่อนไหวของประชาชนเกิดจากการกระทำของรัฐบาลที่พยายามช่วยเหลือพี่ชายนายกฯ เป็นตัวการทำให้บ้านเมืองเกิดปัญหา ดังนั้นที่นายกฯอ้างว่ากฎหมายนี้จะนำไปสู่ความปรองดองของประเทศ หากได้ใช้สมองคิดจะเห็นว่า กฎหมายนี้ไม่ได้นำไปสู่ความปรองดองของคนในประเทศ แต่สร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นในประเทศ ทำให้บ้านเมืองนำไปสู่กลียุคอีกครั้ง จึงขอฝากข้อความนี้ไปถึงนายกฯและรัฐบาลว่า ยังมีเวลาตัดสินใจที่จะเอาฟืนออกจากไฟ แต่ถ้าไม่พยายามเอาฟืนออกจากไฟ แต่ยังเดินหน้าตามแผนของตัวเองเท่ากับเติมฟืนเข้ากองไฟ จึงขอให้ยุติปัญหาโดยเร็ว
ส่วนกิจกรรมในวันพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น.ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ เพราะเราสู้กับรัฐบาลที่ชั่วร้าย ส่วนที่จะมีการเคลื่อนกำลังประชาชนไปยังถนนสีลมเพื่อร่วมกันเป่านกหวีด 1 นาที เป้นสัญลักษณ์ในการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่นั้น ขอให้ประชาชนติดตามดูโดยจะไม่ขอพูดล่วงหน้า และรัฐบาลต้องรักษาความสงบเรียบร้อยอย่าให้เกิดปัญหามวลชนเสื้อแดงมาปะทะกับประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล และขอให้คนที่คิดจะใช้วิชามารที่ชั่วร้ายกระทำต่อพี่น้องประชาชนว่า จะเป็นผลลบผลร้ายต่อรัฐบาลเอง