xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ลั่นไม่ขอใช้ผงซักฟอก 5.7 หมื่นล้านล้างคราบเลือด-สภาวุ่นรีบปิดคำปรารภต้องพักประชุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพื่อไทยเสนอญัตติปิดปากฝ่ายค้านหลังลากยาวกว่า 5 ชั่วโมง พร้อมลงมติผ่านชื่อร่างนิรโทษกรรม “อภิสิทธิ์” ลั่นไม่ขอใช้ผงซักฟอก 5.7 หมื่นล้านล้างเลือด ด้าน “ตี๋น้อย” สั่ง “นิพิฏฐ์” ออกนอกห้อง หลังไม่ยอมถอนคำพูด “รัฐบาลทรราชย์” ช่วงค่ำ เพื่อไทยปิดอภิปรายคำปรารภ ฝ่ายค้านโวยระงม เบรกประชุม 10 นาที “บุญยอด” เสนอเลื่อนพิจารณา ก.นิรโทษกรรม อ้างขึ้นเวทีสามเสน

วันนี้ (31 ต.ค.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ระหว่างที่นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กำลังอภิปรายชื่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ของประชาชน นายพหล วรปัญญา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ได้เสนอปิดอภิปราย เพราะผ่านมา 5 ชั่วโมงแล้ว ยังไม่ไปถึงไหน แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ทักท้วง โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่าระหว่างที่มีสมาชิกกำลังอภิปรายไม่สามารถเสนอปิดกลางคัน แม้นายวัชระจะมีปัญหาในการอภิปราย แต่ไม่มีสิทธิ์อ้างการอภิปรายคนใดคนหนึ่งแล้วมาตัดสิทธิ์คนอื่น หลายคนยังไม่ได้อภิปราย ไม่มีสิทธิ์เสนอปิดอภิปรายในวาระ 2

ที่ประชุมได้ถกเถียงกันไปมา ด้าน นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภา ซึ่งทำหน้าที่ประชุมพยายามไกล่เกลี่ย แต่ถูก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ตำหนิว่าอย่าทำงานเกินหน้าที่ การแปรญัตติต้องเรียงตามมาตรา ถ้ามาตรา 1 ไม่ผ่านเสนอให้ลบชื่อออกก็ยุติ หรือตกไปเพราะไม่มีชื่อ แต่ถ้าเห็นควรอยู่ก็เขียนชื่อให้อยู่ต่อไป ปล่อยให้อภิปรายอย่างนี้เสียเวลา ถ้าจะให้อภิปรายต่อก็ต้องกำหนดเวลาให้พูดคนละกี่นาที ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ชื่อ

อย่างไรก็ตามในที่สุดเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมมีมติ 305 ต่อ 103 เสียง เห็นชอบตามญัตติเสนอให้ปิดอภิปราย จากนั้นได้ลงมติ 306 ต่อ 109 เสียง รับชื่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ของประชาชน พ.ศ. .... แต่ที่ประชุมก็ยังถกเถียงกันในเรื่องการเสนอญัตติปิดอภิปรายต่อไป จนนายวิสุทธิ์ต้องตัดบทให้เข้าสาระคำปรารภซึ่งไม่มีการแก้ไข แต่มีสมาชิกขอสงวนคำแปรญัตติ

โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายว่า การบรรยายเหตุผลในท่อนแรกที่บอกว่าโดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุม การแสดงออกทางการเมืองของประชาชนยังพอรับได้ แต่เมื่อไปดูสิ่งที่ตามมาที่เพิ่มในมาตรา 3 ที่ว่าบรรดาการกระทำใดๆ ทั้งหลายทั้งสิ้น ของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 ส.ค.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง

ที่บอกว่าปรากฏการณ์ทั้งหลายสร้างความเสียหายต่อประเทศจึงต้องนิรโทษเพื่อให้ประเทศเดินหน้า ถามว่าเดินหน้าแปลว่าอะไร ก่อนเสนอเข้ามาประเทศเดินหน้าไม่ได้จริงหรือ เดินไม่ได้เพราะอะไร ถ้าบอกว่าเพราะมีคนติดคุก หรือมีคนหนีคุก เราจะบอกว่าดังนั้นจะเดินหน้าได้ ใครที่ติดคุก หนีคุกก็ต้องปล่อยคนเหล่านั้นไป ถามว่าแล้วคนที่เขาคิดคุก หนีคุก แต่ความผิดทั้งหลายทั้งปวงในประเทศไทยก็ต้องได้รับความเห็นใจเหมือนกันหรือไม่ ประเทศจึงจะเดินหน้าได้ คนที่ฆ่าคน เผาทรัพย์สิน ฐานความผิดเดียวกันต้องเห็นใจเอามาหมดใช่หรือไม่

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แต่ที่เรากำลังบอกจำเป็นต้องนิรโทษเพราะคนจำนวนหนึ่งทำผิดกฎหมายเขาทำความผิดขอบเขตทางการเมือง ตนแสดงจุดยื่นมาตลอดว่านิรโทษกรรมจะออกได้ แต่ต้องมีเส้นแบ่งว่าความผิดที่สมควรได้รับนิรโทษทางการเมือง โดยมีหลักวินิจฉัย ว่าเกิดจากความคิดเห็นทางการเมือง การต่อต้านรัฐ แสดงออกแข็งขืนต่อรัฐโดยตรง เมื่อเหตุการณ์สงบลงความขัดแย้งยุติต้องการไม่ให้เป็นแผลต่อไปก็มาบอกว่าที่แสดงออกไม่เป็นความผิด หลายประเทศต้องมีกระบวนการปรองดอง โดยสำนึกผิดว่าละเมิดกฎหมายและแสดงเจตจำนงว่าต่อไปนี้ไม่มีแล้ว แต่ถ้าเป็นความผิดอาญาต้องไม่นิรโทษกรรมให้ เพราะไม่ใช่การแสดงออกทางการเมือง ไม่ใช่การชุมนุมตามสิทธิทางการเมืองและรัฐไม่ใช่เจ้าของสิทธิ์ที่จะบอกว่าชีวิตที่สูญเสียไปนั้นถือว่าไม่ผิดอีก การเอาอาวุธออกจากบ้านมายิงไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง

“ผมดูอย่างไรก็ไม่ถึงคนโกง การโกงเป็นการชุมนุม แสดงออกทางการเมืองหรือไม่ ถ้าแสดงออกการกินเมืองล่ะใช่ จะมารวมได้อย่างไร ที่บอกนิรโทษหวังผลให้ไปสู่การปรองดองเดินไปได้ ก็ต้องให้เฉพาะคนที่ปิดเพราะแสดงความเห็นทางการเมือง แต่ไม่ให้คนฆ่า ปล้น เผา หมิ่นสถาบัน ถ้าทำอย่างนี้บ้านเมืองก็เดินไปได้ ไม่ต้องถอยไปเซ็ตซีโร่หรอก ใครมีอำนาจจะทำอะไรก็ได้ บ้านเมืองก็จะวุ่นวาย ผมต้องการต่อสู้ตามกฎหมาย ไม่ต้องการผงซักฟอกยี่ห้อพิเศษ ขจัดคราบเลือดด้วยเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท บ้านเมืองไม่ต้องการผงซักฟอกยี่ห้อนี้”

ต่อมานายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภา ได้ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานที่ประชุม นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้ทวงถามถึงบันทึกการประชุมที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้อภิปรายในช่วงเช้ากล่าวว่ารัฐบาลทรราชย์ เพื่อขอให้ถอนคำพูดดังกล่าว โดยนายเจริญได้อ่านชวเลขบันทึกการประชุม พบว่ามีคำดังกล่าวจริง และสั่งให้นายนิพิฏฐ์ถอนคำพูดดังกล่าว แต่นายนิพิฏฐ์ยืนยันว่าไม่ขอถอน ทำให้นายเจริญต้องสั่งให้ออกจากห้องประชุมไป ซึ่งนายนิพิฏฐ์ก็ยินยอมเดินออกไปตามคำสั่ง

ต่อมาในช่วงค่ำ นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ได้เสนอปิดอภิปรายในส่วนคำปรารภ ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่พอใจลุกขึ้นประท้วง อาทิ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ระบุว่า ขอปิดไม่ได้ เนื่องจากยังมีผู้อภิปรายอยู่ และจะเสนอขอปิดซ้ำอีกไม่ได้ตามข้อ 47 ถ้าท่านไม่บังคับตนจะมีเรื่องกับท่านแน่ และ นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ประท้วงว่าถ้าปิดอีก ก็เท่ากับว่าตนไม่ได้อภิปรายมา 2 ส่วนแล้วทั้งที่ได้ขอสงวนการแปรญัตติเอาไว้

ขณะที่ นายเจริญ ในฐานะประธานการประชุม พยายามไกล่เกลี่ยว่าในส่วนคำปรารภ ขอให้ นพ.สุกิจ และนายสุชาติ ลายน้ำเงิน ในฐานะคณะกรรมาธิการ ได้อภิปรายก่อนเพราะเหลือแค่ 2 คน จึงอยากให้ นายสุขาติ ถอนญัตติปิดอภิปราย เพื่อบรรยากาศที่ดี แต่ นายสุชาติ ยืนยันไม่ถอน โดยให้เหตุผลว่าเราประชุมมาตั้งแต่เช้าจนกระทั่ง 18.00 น.แต่ยังไม่ได้เข้าสู่การอภิปรายในมาตรา 1 เลย จึงขอยืนตามคำเสนอ ในที่สุด นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 2 ประธานในการประชุม ได้ขอมติที่ประชุม ปิดอภิปรายคำปรารภด้วยเสียง 307 ต่อ 88 ขณะที่เสียง 307 ต่อ 91 เห็นด้วยกับร่างเดิมในคำปรารภ

จากนั้น เวลา 18.30 น.นายบุญยอด ได้ขอเสนอเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยอาศัยข้อบังคับข้อ 47 วรรคห้า ที่ระบุว่า เมื่อการประชุมพิจารณาญัตติใดๆอยู่ ห้ามเสนอญัตติอื่นขึ้นมาพิจารณา เว้นแต่ญัตติ (5) ขอให้เลื่อนการปรึกษาหรือพิจารณา เนื่องจาก ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนต้องไปร่วมเวทีชุมนุมที่สถานีรถไฟสามเสน ทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นทักท้วงว่า ไม่สามารถเสนอญัตติซ้อนได้ เพราะผิดข้อบังคับข้อ 47 วรรคท้าย ระบุชัดเจนว่า เมื่อที่ประชุมลงมติเห็นขอบตามที่เสนอแล้ว ห้ามไม่ให้เสนอญัตติอื่นในข้อนี้อีก ทำให้ประธานในที่ประชุมจึงตัดบทเข้าสู่การพิจารณา มาตรา 1 เกี่ยวกับชื่อร่าง โดยมีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายสงวนความเห็นคนแรก แต่ถูก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ป่วนการประชุม โดยนายไชยวัฒน์ ไตรสุรนันท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอปิดการอภิปรายของนายจิรายุ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทำให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นทักท้วงว่า การเสนอญัตติดังกล่าวไม่มีในข้อบังคับการประชุม ทำให้นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 2 เห็นสถานการณ์ไม่สู้ดี จึงขอสั่งพักการประชุม 10 นาที ในเวลา 18.55 น.














กำลังโหลดความคิดเห็น