xs
xsm
sm
md
lg

“ค้อนแดง” กลับลำนัดประชุมสภาฯ พ.ร.บ.ล้างผิด 31 ต.ค. “วิสุทธิ์” เชื่อไร้เหตุรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร(แฟ้มภาพ)
กมธ.พ.ร.บ.นิรโทษฯ เร่งสรุปสอบความถูกต้องก่อนชงปธ.สภาฯบรรจุวาระ 2-3 เสียงข้างน้อยโวยถูกปิดปากปิดประชุม ก่อนเถียง ม.3 ขอชี้ให้ชัดล้มล้างคดีองค์กรใด - “วิสุทธิ์” ให้โอวาท ตร.สภา แนะเจรจาก่อนอุ้ม หวั่นเหมือนสภาไต้หวัน ขออดทน 2 อาทิตย์ให้ล้างผิดผ่าน เชื่อไร้รุนแรงฝ่ายค้านไม่ป่วนสภา “ค้อนปลอม” กลับลำนัดประชุมสภา 31 ต.ค. ถก พ.ร.บ.ล้างผิด ทั้งที่ก่อนหน้านี้บอกงด



วันนี้ (29 ต.ค.) การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ....นัดสุดท้าย ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยสาระสำคัญในวันนี้เป็นการพิจารณาศึกษาตรวจสอบความถูกต้องของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ก่อนนำเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อย อาทิ นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ต่างแสดงเสียงเพื่อคัดค้านต่อประธานที่เร่งรัดปิดการประชุม เนื่องจากขณะนี้ยังมีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยอีกหลายคนยังไม่ได้เสนอคำแปรญัตติแก้ไขถ้อยคำในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ด้านประธานกรรมาธิการฯ ยืนยันว่า ให้ที่ประชุมรับรองรายงาน และดำเนินการไปตามระเบียบขั้นตอน โดยให้กรรมาธิการเสียงข้างน้อยใช้สิทธิ์อภิปรายในวาระ 2

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการถกเถียงถึงเนื้อหาในมาตรา 3 ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ยังคงแสดงความกังวลถึงการปรับแก้ไขถ้อยคำในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่ยังไม่มีความชัดเจน โดยขอให้ระบุให้ชัดเจนว่าคณะบุคคล หรือองค์กร ที่จัดตั้งภายหลังการรัฐประหาร ครอบคลุมฝ่ายใดบ้างที่จะล้มล้างคดีที่ได้ตัดสินไปแล้ว เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ด้วยหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการออกกฎหมายไปบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมจะส่งเรื่องไปยังฝ่ายธุรการเพื่อตรวจสอบความถูกต้องในรายละเอียดของร่างดังกล่าว ก่อนส่งไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุระเบียบวาระการพิจารณา วาระ 2 และ 3 ต่อไป

ด้านนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ในฐานะดูแลงานด้านรักษาความปลอดภัย เป็นประธานในการให้โอวาทและนโยบายเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา โดยนายวิสุทธิ์ได้กล่าวติดตลกกับตำรวจว่า การเข้าไปนำตัวสมาชิกออกจากห้องประชุมนั้น อย่างนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ก็เอาตัวออกได้ง่ายหน่อย แต่หากเป็นนายวัชระ เพชรทอง ก็ยากหน่อย เพราะเขาตัวอ้วน แต่ท้ายที่สุดก็อยากให้ใช้วิธีพูดจาเจรจากันมากกว่า ใช้การวิงวอนไป พวกเขาก็ยอมแล้ว ช่วงที่ผ่านมามีแขกจากต่างประเทศเดินทางมาเยี่ยมเยียนสภาบ่อย ก็มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นในสภานั้นมันกระจายไปทั่วโลก เราจะใกล้เคียงกับไต้หวันเข้าไปทุกที

นายวิสุทธิ์กล่าวต่อว่า ตำรวจสภาฯสามารถมาพบผมได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรเพราะผมไม่เคยถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชา แต่เราคือเพื่อนร่วมงานกัน พูดคุยกันได้ตลอด อะไรที่ตนช่วยเหลือได้ตนก็พร้อมจะช่วย ทั้งนี้ตนขอให้ตำรวจสภาฯทำงานแบบอดทนอีกสัก 2 อาทิตย์ ถ้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านความเห็นชอบจากสภาฯไปแล้วก็ไม่น่าจะมีความขัดแย้งใดๆ อีก

ส่วนกรณีห้องสุขาที่อาคารกองรักษาการรัฐสภาที่มีการปรับปรุง โดย น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้ข่าวนั้น นายวิสุทธิ์กล่าวว่า หลังจากเปิดสภาฯมาในช่วงปลายเดือนธันวาคมนั้น เราจะจัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อย แล้วจะเชิญ น.ส.รังสิมา มาเป็นคนตรวจส้วมด้วย นอกจากนี้ภายหลังงานดังกล่าวเสร็จสิ้น นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ทางสภาฯได้เตรียมความพร้อมในการรับมืออย่างเต็มที่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของสภาฯในการรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว แต่ตนไม่อยากเอาเรื่องในอดีตมาพูดใหม่ พูดไปก็เหมือนกับไปตำหนิเขา ม็อบที่อาจจะมีการชุมนุมก็ถือว่าเป็นสิทธิของเขา แต่ตนเชื่อว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย แล้วก็คงไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ เกิดขึ้น

ส่วนกรณีความวุ่นวายที่อาจะเกิดขึ้นได้ในห้องประชุมนั้น นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ส.ส.พรรคฝ่ายค้านคงมีบทเรียนแล้วว่าหากกระทำเช่นนั้นอีกความเสียหายก็จะเกิดขึ้น และด้วยความเป็นสมาชิกตนก็เชื่อว่าพวกเขาจะไม่ทำเช่นนั้นอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ สผ 0014/ผ123 ลงวันที่ 29 ต.ค. 56 นัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ ในวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2556 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ ตึกรัฐสภา เพื่อพิจารณาพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจาณาเสร็จแล้ว โดยบรรจุระเบียบวาระไว้เป็นวาระที่ 4 เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้มีหนังสืองดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 31 ต.ค. 56 ไปแล้ว

โดยรายละเอียดในหนังสือเรียกประชุม มีดังนี้ ตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีคำสั่งให้นัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 3 ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญทั่วไป) ในวันพุธที่ 30 ตุลาคม 2556 และครั้งที่ 21 (สมัยสามัญทั่วไป) ในวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2556 แล้วนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีคำสั่งให้งดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 21 (สมัยสามัญทั่วไป) ในวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2556 และให้นัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ ในวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2556 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ ตึกรัฐสภา เพื่อพิจารณาพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจาณาเสร็จแล้ว ฉะนั้น จึงเรียนมาเพื่อทราบ และขอเชิญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปประชุมตามกำหนดวันและเวลาดังกล่าวข้างต้น โดยมีระเบียบวาระการประชุมตามที่เสนอมาพร้อมนี้

ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 3 ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ
1. กระทู้ถาม (ไม่มี)
2. เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม (ถ้ามี)
3. รับรองรายงานการประชุม (ไม่มี)
4. เรื่องที่คณะกรรมมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว

- ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ……ซึ่งคณะกรรมมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว

5. เรื่องที่ค้างพิจารณา (ไม่มี)
6. เรื่องที่เสนอใหม่ (ไม่มี)
7. เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)



กำลังโหลดความคิดเห็น