กมธ.วิฯ นิรโทษกรรม มีมติเริ่มปล่อยผีตั้งแต่ปี 47 แต่ยังเถียงไม่จบจะสิ้นสุดที่วันไหน “สุนัย” แนะจนกว่าจะผ่านวาระ 1 ขณะที่ฐานความผิดก็ยังไม่มีข้อสรุปเอาแค่ไหน
วันนี้ (18 ต.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดทางเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ... ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธานการประชุม โดยการประชุมเริ่มพิจารณา ในมาตรา 3 จากเดิมเนื้อหาร่างของนายวรชัย เหมะ เป็นผู้เสนอ กำหนดไว้ให้นิรโทษกรรมตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 - 10 พฤษภาคม 2554 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ กรรมาธิการได้ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงในการหารือเรื่องห้วงเวลา โดยที่มีมติให้มีการนิรโทษกรรม เริ่มตั้งแต่ปี 2547 ส่วนระยะเวลาสิ้นสุดการนิรโทษกรรมของเหตุการณ์ทางการเมืองนั้น นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เสนอว่า ควรยึดเอาวันที่ยื่นกฎหมายเข้าสภา หรืออาจกำหนดเอาวันที่ผ่านวาระที่ 1 คือวันที่ 8 สิงหาคม 2556 หรืออีกประการหนึ่ง กล่าวแทนสมาชิกบางคนที่ต้องการนิรโทษกรรมเหตุการณ์ที่มีการชุมนุมที่แยกอุรุพงษ์ และความผิดจากการชุมนุมของชาวสวนยางภาคใต้ด้วยก็เป็นได้
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นคนฆ่าหรือคนเผาก็ไม่ควรที่จะมีการนิรโทษกรรม แต่ควรนิรโทษกรรมตามตัวบทกฎหมาย ไม่ใช่ตามห้วงเวลา หรือกำหนดตามเหตุการณ์ ในทำนองเดียวกับนายถาวร เสนเนียม กรรมาธิการ ที่กล่าวว่าการนิรโทษกรรมความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย เป็นสิ่งที่ฝ่ายค้านยอมรับไม่ได้
จากนั้นการประชุมได้มีการกล่าวถึงประเด็นฐานความผิดประเภทใดที่ควรมีการนิรโทษกรรม นายประยุทธ์ ศิริพานิช ส.ส. พรรคเพื่อไทยได้เสนอแก้ไขให้มีการนิรโทษให้กับบุคคลหรือคณะบุคคลที่ถูก คตส.กล่าวหาว่ามีความผิดในทุกคดีรวมถึงคดีเกี่ยวเนื่อง ไม่ถือว่าเป็นความผิดและไม่ต้องรับผิด ยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยตั้งข้อสังเกตจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคดีทุจริต และจะขยายให้สถานการณ์ขัดแย้งเพิ่มขึ้น โดยนายอภิสิทธิ์ แสดงความไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษความผิดคดีทุจริตคอรัปชั่น เพราะขัดกับหลักการเหตุผลร่างเดิม ที่จะนิรโทษเฉพาะความคิดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น อีกทั้งการทุจริตไม่เกี่ยวเนื่องความผิดทางการเมือง เช่นเดียวกับนายแก้วสรร อติโพธิ อดีต คตส. เห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าว จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะได้รับการนิรโทษด้วยหรือไม่ พร้อมระบุหากต้องการเอื้อประโยชน์จริงก็ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 บทเฉพาะกาล และจะทำให้คดีที่ถูก คตส.ตัดสินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะได้รับการยอมรับจากสังคมมากกว่า
ด้านนายถาวร เสนเนียม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้นิรโทษกรรมกับผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาบางมาตรา อาทิ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ความผิด พรบ.ทางหลวง ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ความผิดตาม พรก.ฉุกเฉิน ปี 48 ถือว่าไม่มีความผิด หากมีการพิพากษาถึงที่สุดถือว่าไม่มีความผิด และให้ยุติการกระบวนการสอบสวนหากอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี โดยไม่ควรยกเว้นความผิดเกี่ยวกับคดีทุจริต
ส่วน นายอภิสิทธิ์ เสนอให้ยกเว้นความผิดที่ฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง พรก.ฉุกเฉิน 48 หรือข้อกำหนดที่ออกตาม พรบ.ความมั่นคง 51 จากที่มีการเดินขบวนและชุมนุมประท้วง นับจากปี 48 รวมถึงความผิดลหุโทษด้วย
สำหรับบรรยากาศการประชุมมีการโต้เถียงกันเป็นระยะ หลังนายประยุทธ์ เสนอร่างฯ โดย นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ท้วงติงว่าร่างดังกล่าวนายประยุทธ์เป็นผู้ร่างเองหรือไม่ และต้องการให้ พลเอกสนธิ บุญรัตนกริน เสนอความเห็นในฐานะเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการเพราะเกี่ยวข้องกับมาตรา 309 ทำให้นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอปิดการหารือเพราะเห็นว่าฝ่ายค้านไม่มีเจตนาเสนอเนื้อหาของมาตรา 3 จากนั้นนายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการ ไกล่เกลี่ยทำให้การประชุมสามารถเดินหน้าต่อไปได้
แต่สุดท้ายยังไม่มีข้อสรุปจากที่ประชุมว่าจะมีกำหนดเวลาสิ้นสุดการนิรโทษกรรมเมื่อใด ซึ่งที่จะประชุมต่อในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ เวลา 09.30 น.