กมธ.นิรโทษกรรม เคาะกรอบเวลาร่างนิรโทษกรรมให้เริ่มปี 47 เพราะมีม็อบวิทยุชุมชนสนามหลวง แต่ไร้ข้อสรุปวันสิ้นสุด “ทนายถุงขนม” ถามม็อบอุรุพงษ์เอามั้ย สรุปนัดถกต่อพรุ่งนี้
วันนี้ (17 ต.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... ที่มี นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นประธาน โดยเป็นการประชุมเพื่อพิจารณามาตรา 3 ของร่างฯที่กำหนดให้ “การกระทำใดที่เข้าข่ายการได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554” ต่อเนื่องจากเมื่อครั้งที่แล้ว ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการถกเถียงประเด็นเรื่องกรอบเวลาที่เข้าข่ายที่จะได้รับการนิรโทษกรรมตามร่างดังกล่าว
โดย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท.ในฐานะเลขานุการ กมธ.เสนอให้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2548 เพราะเป็นช่วงเวลาที่สมาชิกมีการเสนอคำแปรญัตติมากว่า 80% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิก ปชป.ด้วย แต่ กมธ.หลายคนได้ทักท้วงว่า เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 แล้ว โดย นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน อภิปรายสนับสนุนว่า ขณะนั้นมีการชุมนุมที่เกิดจากกลุ่มวิทยุชุมชนที่ท้องสนามหลวงแล้ว มีเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายไล่จับกลุ่มวิทยุชุมชน ซึ่งถือเป็นความขัดแย้งทางการเมืองเช่นกัน ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ในฐานะ กมธ.กล่าวว่า หากย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2547 ต้องมีการระบุให้ชัดเจนว่าเป็นเหตุการณ์ใดบ้าง เพราะในปี 2547 มีกรณีมัสยิดกรือเซะ และในปี 2548 มีเหตุการณ์ตากใบ หากมีผู้ที่อ้างว่าเป็นเหตุที่เกิดมาจากจูงใจทางเมืองแบบนี้จะเข้าข่ายด้วยหรือไม่ จากนั้นที่ประชุมมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง กระทั่งนายสามารถสั่งให้ฝ่ายเลขาฯไปหาข้อมูลว่าเหตุในปี 2547 มีเหตุการณ์ใดเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมต่อไป
ต่อมาที่ประชุมมีการถกเถียงถึงระยะเวลาสิ้นสุดของการนิรโทษกรรม โดยนายประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ กมธ.พท.เสนอให้สิ้นสุดในวันที่ 15 สิงหาคม 2556 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระ 2 เป็นวันแรก เพราะหากกำหนดให้นิรโทษจนถึงวันที่ประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษา เท่ากับครอบคลุมกว้างมากเกินไป ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากยึดวันที่ 15 สิงหาคม 2556 จะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เท่ากับกลุ่มประชาชนที่มาชุมนุมที่แยกอุรุพงษ์จะไม่ได้รับสิทธินิรโทษกรรม ทั้งที่เป็นการชุมนุมของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐเหมือนกัน ส่วนตัวยืนยันชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้ที่ฆ่าและผู้ที่เผา แต่หากร่างฉบับนี้ครอบคลุมผู้ที่เผา หากต่อมากลุ่มประชาชนที่แยกอุรุพงษ์เกิดเผาเมืองขึ้นมาก็ต้องได้รับสิทธินิรโทษกรรมด้วย
ขณะที่ นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะ กมธ.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ร่างนิรโทษกรรมเป็นการออกกฎหมายย้อนหลังให้การกระทำที่เป็นความผิดแล้ว เราจึงมาบอกว่าให้ลืมความผิดนั้นเสีย แต่ม็อบที่อุรุพงษ์ถือเป็นการกระทำใหม่ แต่ ณ เวลานี้ จะมีการออกกฎหมายย้อนหลังให้เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ ที่ประชุมหาข้อสรุปในกรณีดังกล่าวไม่ได้ กระทั่ง นายประสิทธิ์ เสนอใหม่ให้สิ้นสุดวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่สภามีมติรับหลักการ โดยขอเสนอเป็นญัตติเพื่อขอให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ขณะที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พท.เสนอให้ระยะเวลานิรโทษครอบคลุมการประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษา เพราะจะเป็นการนิรโทษบุคคลทั้งหมด
แต่ กมธ.สัดส่วน ปชป.หลายคน อาทิ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.และ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ระบุสอดคล้องกันว่า หาก กมธ.กำหนดวันสิ้นสุดของการนิรโทษกรรมจะเป็นการส่งสัญญาณให้กับกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมอยู่ในขณะนี้ และหากเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเลื่อนการถกประเด็นปลายปิดการนิรโทษกรรมออกไป ย่างไรก็ตามหลังมีการถกเถียงในเรื่องการกำหนดวันสิ้นสุดของการนิรโทษกรรมจนไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ในที่สุด นายสามารถได้สั่งปิดการประชุม และนัดหารือต่อในวันที่ 18 ตุลาคม เวลา 09.30 น.