xs
xsm
sm
md
lg

แฉวุฒิฯไถเงินกสทช.30ล. อบรมบังหน้าแฝงหาเสียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวานนี้ (11ก.ย.) เริ่มขึ้นเวลา 10.00 น. มีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณา ร่าง รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 10 ที่กำหนดให้ ส.ว.สรรหา ยังคงมีสมาชิกภาพ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ส.ว.ต่อไปได้ ในวันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่กำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คนใช้บังคับ และหลังจาก ส.ว.สรรหา หมดวาระลง ไม่ต้องดำเนินการสรรหาส.ว.อีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกทั้ง ส.ส.ประชาธิปัตย์ และ ส.ว.สรรหา ที่ขอเสนอคำแปรญัตติไว้ ต่างลุกขึ้นสลับกันอภิปราย โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. ขอแปรญัตติ ตัดมาตรา 10 ออกทั้งมาตรา โดยให้เหตุผลว่า เนื้อหาตามมาตรา 10 ขัดกับหลักการ และเหตุผลของร่าง รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้เอง เพราะตามหลักการของร่าง ระบุว่า เป็นการสมควรกำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่ในมาตรา 10 ยังคงให้ ส.ว.สรรหา ปฏิบัติหน้าที่ต่อ แม้รัฐธรรมนูญจะบังคับใช้ให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. 200 คนแล้วนั้น เท่ากับขัดต่อหลักการของร่างที่กำหนดให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง
“หากกรรมาธิการจะแก้ให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดแล้วก็ต้องแก้ให้สุดซอย อย่าปล่อยให้ ส.ว.สรรหา ที่เหลืออยู่ 73 คน กลายเป็นติ่งในวุฒิสภาต่อไป แต่หลังมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ฉบับนี้เสร็จสิ้น จะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้พิจารณาแน่นอน”
ทั้งนี้ ระหว่างที่นายสมชายอภิปราย จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงเป็นระยะๆว่า อภิปรายวกวน และประเด็นซ้ำซาก จนนายนิคม ต้องเตือนให้นายสมชาย อภิปรายกระชับในประเด็น
หลังจากนายสมชาย อภิปรายเสร็จ นายวรชัย เหมะ ส.ส. สมุทรปราการ เพื่อไทย ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติปิดการอภิปราย เพื่อลงมติเห็นชอบ มาตรา 10 เนื่องจากเห็นว่าการอภิปรายในช่วงเช้าที่ผ่านมา ผู้ที่อภิปรายพยายามยื้อ ซ้ำซาก ไม่เข้าประเด็น ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงว่าเป็นการข่มขู่ คุกคามการทำหน้าที่ของสมาชิกในสภา จนนายนิคม ขอร้องให้นายวรชัย ถอน เพราะยังมีต่อคิวอภิปรายอยู่ กระทั่งนายวรชัย ยอมถอนญัตติดังกล่าว จากนั้นนายนิคมจึงเปิดให้มีการอภิปรายในมาตรา 10 ต่อไป
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา อภิปรายตอนหนึ่งว่า ในวุฒิสภามีการไปขอเงินจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของวุฒิสภา จำนวน 30 ล้านบาท มาจัดการอบรมเครือข่ายต่างๆ ของจังหวัดต่างๆ ขณะนี้ กสทช.อนุมัติแล้ว 10 ล้านบาท ดำเนินการอบรม 10 รุ่น ใน 18 จังหวัดภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง รุ่นละ 3 จังหวัด จังหวัดละ 50 คน 1 รุ่น 150 คน ในจำนวน 8 รุ่น เอามาอบรมที่พัทยา เวลาอบรม 3 วัน 2 คืน อีก 2 รุ่น โดยรุ่นหนึ่งจาก 3 จังหวัดภาคตะวันออก และมีรุ่นพิเศษจาก จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 150 คน เอาไปอบรมที่ จ .เชียงใหม่
“โครงการพึ่งมาเริ่มต้นตั้งแต่เดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ไม่เป็นโครงการเก่า จึงสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อวุฒิสภาใช้อำนาจไปเอางบประมาณมาขอรับสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดูเหมือนกับว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน และการหาเสียงก็ทำอย่างนี้กัน”
ขณะที่นายโสภณ ศรีมาเหล็ก ส.ว.น่าน ได้ลุกขึ้นมาชี้แจงว่า วุฒิสภาได้จัดงานดังกล่าวมาต่อเนื่องมาเป็น 10 ปีแล้ว
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ส.ว.ถูกแทรกแซงจากพรรคการเมือง ทำให้รัฐบาลไม่ต้องกลัวอะไร ฝ่ายค้านร้องไปว่าผิด ให้ถอดถอน แต่เมื่อรัฐบาลมีส.ว.อยู่ในมือ ก็ไม่กลัวว่าจะถูกถอดถอน ที่ผ่านมาเรามีการออกแบบมาเรียบร้อยให้เกิดดุลยภาพแล้ว ถามเพื่อนๆ ส.ว.ว่าคำนึงถึงดุลภาพกันหรือไม่ ถ้า ส.ว.ถูกแทรกแซงถือว่าทุกอย่างจบ ระบอบประชาธิปไตยของประเทศที่เราฝันหวานก็จบ ไม่ใช่อะไร เลือกตั้งทุกอย่างก็จบแล้วเป็นประชาธิปไตย เมื่ออยากจะเกินหน้า ตนไม่ว่า เพราะเสียงข้างมากมาจากพวกท่าน แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นที่พวกตนท้วงติง รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ต้องเกินดุลภาพ ถ้าเป็นการใช้สิทธิ์รัฐธรรมนูญ แต่มาทำลายระบอบประชาธิปไตย พวกตนก็ต้องใช้สิทธิ์ยื่นตีความ การแก้ไขกฎหมายสูงสุดต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย แต่ในเมื่อมีการหมดเม็ดแล้ว ให้ส.ว.ลงแล้วลงอีก ต้องเจอกันแน่”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสภาชิกได้ทยอยอภิปรายแสดงความเห็นจากการแปรสงวนคำแปรญัตติของตนเอง จนกระทั่งเวลา 16.00 น. นายพหล วรปัญญา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทยได้เสนอญัตติขอปิดอภิปราย แต่สมาชิกหลายคนได้แสดงความเห็นคัดค้าน โดยอ้างว่ายังมีสมาชิกสงวนคำแปรญัตติค้างอยู่อีกหลายคน ขณะที่นายสมศักดิ์ ได้เปิดโอกาสให้อภิปรายอีก 2-3 คน และพยายามตีกรอบให้อภิปรายในประเด็น จนในที่สุด ประชุมก็มีมติเสียงส่วนใหญ่ 354 เสียง ต่อ 14 เสียง เห็นชอบในมาตรา 10 ตามที่กรรมาธิการแก้ไข
จากนั้นได้มีการพิจารณามาตรา 11 เกี่ยวกับการให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเสนอ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ต่อรัฐสภาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับ

**ศาลรธน.ยกคำร้องปมแก้รธน.ที่มาส.ว.

วานนี้ (11ก.ย.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่พิจารณาวินิจฉัย กรณีนายบวร ยสินธร เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว. ถือว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ เนื่องจากมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐสภา ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ อันขัดต่อ มาตรา 291 (1) วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 รวมทั้งยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยว่า ประธานรัฐสภา กับ ส.ส และ ส.ว. 309 คน ที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ พร้อมกับขอให้มีคำสั่งยุบ 6 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล และขอให้สั่งระงับการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ไว้ก่อน จนกกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า เนื้อหาตามคำร้องยังไม่มีมูลกรณีที่เป็นการใช้สิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง
ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีมติเสียงข้างมาก 7ต่อ 1 มีคำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา ส่วนประเด็นคำขออื่น ไม่จำเป็นต้องพิจารณา

** ฝ่ายค้านเตรียมยื่นตีความอีกรอบ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึง การอภิปราย ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่มาของ ส.ว. ในวาระ 2 ซึ่งมีการพยายามรวบรัดจากประธานในที่ประชุม จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เป็นกลาง ในการปฏิบัติหน้าที่ว่า หลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 2 ไปแล้ว ฝ่ายค้านจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือว่าผิดรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 68 หรือไม่ ในข้อหาล้มล้างการปกครอง และข้อหาแสวงหาอำนาจโดยวิถีทางที่ไม่ชอบ โดยรัฐธรรมนูญปัจจุบัน พร้อมทั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองชั่วคราว ก่อนจะมีการลงมติวาระ 3
ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะทีมกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พรรคกำลังรวบรวมข้อมูล และเตรียมดำเนินการ ในเรื่องที่รัฐบาลกระทำการ ขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เช่น พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ทำให้การเงินการคลังของประเทศ สู่วิกฤติ ล่มสลาย หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. คือ การล้มล้างให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองนอกวิถีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ก็เป็นการลิดรอนอำนาจ ไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปมีอำนาจวินิจฉัย และกรณี มาตรา 68 ที่ตัดสิทธิ์ศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแถลงผลงานของรัฐบาล ที่รัฐบาลจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง พฤติกรรมของประธานรัฐสภา ที่กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับ โดยทีมกฎหมายของพรรค กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น