xs
xsm
sm
md
lg

สภาลากยาวข้ามวัน ลงมติผ่านนิรโทษฯ มาตรา 1, 2 ถกต่อมาตรา 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาลงมติรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษ มาตรา 2 ด้วยคะแนนเสียง 317 ต่อ 74 เดินหน้าถกมาตรา 3 ต่อ หลังผ่านฉลุยในมาตรา 1 ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียด ส.ส.เพื่อไทยพยายามชิงปิดอภิปรายต่อเนื่อง

วันนี้ (31 ต.ค.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลังจากนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 2 สั่งพักการประชุมนานกว่า 30 นาที การประชุมสภาฯ ก็เปิดอีกครั้งในเวลา 19.30 น. โดยนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอต่อที่ประชุมปิดอภิปรายมาตรา 1 เกี่ยวกับชื่อร่างทันที เนื่องจากเห็นว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ประสงค์อภิปรายแล้ว แต่ถูก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คัดค้าน โดยเฉพาะนายไชยวัฒน์ ไตรสุรนันท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถ้าการที่ประชุมมีความเห็นตามข้อบังคับมาตรา 47 ไปแล้วว่า เมื่อมีการลงมติเสร็จสิ้นจะเสนอญัตติอื่นไม่ได้ แต่หากยอมให้นายครูมานิตย์ เสนอญัตติดังกล่าวได้ขึ้นมาได้อีก ก็ไม่ต่างอะไรกับที่ตนสามารถเสนอปิดอภิปรายสงวนความเห็นมาตรา 1 ของนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เช่นกัน

จากนั้น นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นว่า ที่ประชุมไม่ควรตัดสิทธิการแปรญัตติ โดยครั้งนี้เป็นการพิจารณากฎหมายสำคัญคงต้องใช้เวลามากกว่ากฎหมายปกติ ดังนั้น ไม่ใช่เฉพาะการอภิปรายในวาระอย่างเดียว ถ้าสมาชิกที่ไม่ได้แปรญัตติ หรือสงวนความเห็นไว้ ติดใจในเรื่องใดๆ ก็สามารถอภิปรายต่อที่ประชุมได้เช่นกัน แต่ที่ประชุมพลาดตรงนี้ตั้งแต่แรก แนวทางหลังจากนี้จะทำให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่นต้องยึดหลักการและให้สิทธิการอภิปรายที่ถูกต้อง อย่าไปกังวลเรื่องเวลาเป็นสำคัญ และหากทำไปอย่างนี้กฎหมายจะเกิดปัญหา

ทำให้ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ประธานในที่ประชุม ได้ขอนัดให้วิปทั้ง 2 ฝ่ายไปปรึกษาหารือกันในเวลา 20.30 น. พร้อมกับขอให้ถอนญัตติออกไป โดยนายครูมานิตย์ก็ยินยอม เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น และได้ตัดบทให้ดำเนินการประชุมในมาตรา 1 ต่ออีกครั้ง

จากนั้น นายธนา ชีรวินิจ ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายมาตรา 1 โดยเสนอให้ตัดทั้งมาตรา พร้อมแสดงเหตุผลโดยพุ่งเป้าไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยประท้วงว่าไม่มีสิทธิอภิปรายเพราะตัดออกทั้งมาตราซึ่งผิดหลักการของการเสนอกฎหมาย แต่ประธานฯ ก็ประนีประนอมจน นายธนา อภิปรายจนจบ

นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และ กมธ.ฯ เสียงข้างน้อย อภิปรายพร้อมได้นำรูปตอนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ มาร่วมประชุมกับคนเสื้อแดง มาโชว์กลางที่ประชุมโดยผู้หญิงที่อ้าปาก และหน้าตาเหมือนซาลาเปา โดยนายวัชระ ยันไม่ทันพูดจบ ทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประท้วงกันวุ่น จนนายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชี พรรคเพื่อไทย ออกมาโต้กับ นายวัชระ อย่างไม่ลดราวาศอก จึงทำให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เสนอปิดอภิปรายมาตรา 1 ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ประท้วงว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และไม่สามารถทำได้ และเห็นว่าในเมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาได้ขอให้ปิดอภิปราย และขอให้ไปพิจารณาต่อในวันอื่น ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เรียกร้องให้ทุกคนสามารถอภิปรายได้โดยเดินตามข้อบังคับ และ รธน.เพื่อให้การประชุมเดินไปได้ และรวมกันวางกติกาเช่นนี้ในอนาคต โดยให้ประธานเป็นผู้ควบคุม อย่างเช่นสมัยตนเองเป็นรัฐบาลที่เปิดอภิปรายได้เต็มที่โดยไม่มีการปิดอภิปรายแม้จะล่วงเลยไปหลายวัน ทำให้ประธานสั่งพักการประชุม 5 นาทีโดยขอเข้าห้องน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า เมื่อเวลา 22.30 น. นายเจริญ จรรย์โกมล ประธานสภาคนที่ 1 ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม และขอให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ถอนญัตติการปิดอภิปรายโดยอ้างว่า ได้ไปหารือ และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ขอพูดอีก 4 คน โดยคนละ 7 นาที โดยนายพิเชษฐ์ ก็ยอมถอนญัตติ ทำให้นายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์อภิปรายมาตรา 1 ต่อไป

ต่อมา เมื่อเวลา 23.40 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 2 ที่มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นประธานในที่ประชุม ได้สั่งให้มีการลงมติหลัง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในมาตรา 1 ครบ 4 คน คนละ 7 นาทีตามข้อตกลงของวิปทั้ง 2 ฝ่าย ปรากฏว่า ที่ประชุมเห็นด้วยกับกรรมาธิการ ด้วยคะแนนเสียง 317 ต่อ 74 และงดออกเสียง 1

จากนั้นที่ประชุมได้เริ่มพิจารณามาตรา 2 ว่าด้วย พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ต่อมา เมื่อเวลา 02.30 น. นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานในที่ประชุม ได้สั่งให้มีการลงมติมาตรา 2 ตามคำเรียกร้องของ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยได้ปิดอภิปราย หลัง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไปได้เพียง 7 รายเท่านั้น

จากนั้นจึงได้มีการถกเถียงกันในประเด็นนี้อยู่พอสมควร ประธานในที่ประชุมจึงสั่งให้มีการลงมติว่าจะปิดอภิปรายในมาตรานี้หรือไม่ ปรากฏว่า ที่ประชุมเห็นด้วย 313 ต่อ 65 และงดออกเสียง 1 สรุปที่ประชุมมีมติให้ปิดการอภิปราย ต่อมา ที่ประชุมได้ลงมติในมาตรา 2 โดยมีสมาชิกเห็นด้วยกับกรรมาธิการ ด้วยคะแนน 314 ต่อ 40

ภายหลังจาก นายเจริญ จรรย์โกมล ประธานในที่ประชุมได้สั่งให้พิจารณามาตรา 3 หรือที่เรียกกันว่า ฉบับสุดซอย หรือฉบับกรรมาธิการเสียงข้างมาก ที่แก้ไขเนื้อหาระบุว่า การกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือมีความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด โดยคณะบุคคล หรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมถึงองค์กร หรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวกลาง ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิง โดยร่างของกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ ไม่รวมถึงการกระทำผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น