xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทาง “กม.ล้างผิด”เข้าสภาฯ ด่านหินวาระ 2 -หนักสุดศาลรธน.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


การเดินหน้า “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม”แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ...ของพรรคเพื่อไทยเพื่อล้างผิดให้นักโทษหนีคดีอาญาแผ่นดินทักษิณ ชินวัตร

ยังอยู่ในช่วงทดสอบ“แรงต้าน-แรงหนุน”

ตอนนี้ก็อย่าเพิ่งไปตกอกตกใจว่าผลพวงของการที่กรรมาธิการเสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ที่กรรมาธิการส่วนใหญ่จากฝ่ายพรรคเพื่อไทย ได้ลงมติให้แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวของ“วรชัย เหมะ” ส.ส.เสื้อแดงเพื่อไทยและคณะอันมีเนื้อหาบางมาตราที่กมธ.ไปเพิ่มเติมถ้อยคำที่เห็นชัดว่าเป็นการช่วยเหลือคดีความทักษิณชินวัตรและทำให้ผู้สั่งการให้มีการสลายการชุมนุมเสื้อแดงปี 53 คืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและสุเทพเทือกสุบรรณ อดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) พ้นผิดในคดี 98 ศพจนเสื้อแดงออกมาโวยวายกันยกใหญ่

จะทำให้เพื่อไทย-เสื้อแดง จะแตกคอหรือแยกทางกันเดินอะไรกัน เรื่องนี้มันยังอีกยาว

อีกทั้งดูแล้วคนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่าแม้สัญญาณที่ส่งออกมาจากแกนนำเพื่อไทยอาทิ สองผัวเมียผู้ทรงอำนาจตัวจริงเหนือรัฐบาลหุ่นเชิดขายชาติคือสมชายและเยาวภาวงศ์สวัสดิ์ รวมทั้งจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคและรมว.มหาดไทย และ ภูมิธรรมเวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ต่างมีท่าทีหนุนหลังร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับของกมธ.มากกว่าร่างเดิมของวรชัยเหมะ แม้ว่ากระแสคนเสื้อแดงไม่ว่าจะเป็นแกนนำนปช.ต่างจังหวัด-นักวิชาการเสื้อแดง-แดงนักเคลื่อนไหว -สื่อสายเสื้อแดง จะออกมาขวางเต็มที่ ถึงขั้นขู่แยกทางกันเดิน

กระนั้นสุดท้ายแล้ว โอกาสที่ เพื่อไทย จะถอยคือมีมติให้ส.ส.เพื่อไทยโหวตเสียงเอาตามร่างเดิมของวรชัยไม่เอาร่างของกมธ. มันมีความเป็นไปได้สูงกว่าที่จะลุยเอาตามร่างกมธ. แม้เวลานี้สัญญาณจากแกนนำเพื่อไทย ค่อนข้างชัดว่าให้เอาตามร่างกมธ.ก็ตาม

ทว่าอะไรในอนาคตไม่แน่นอน ยังเหลือเวลาอีกหลายวัน กว่ากมธ.จะส่งรายงานฉบับสมบูรณ์เพื่อบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาฯที่มีข่าวว่าวางกันไว้ว่าต้องการเอาเข้าสภาฯ ช่วง 6-7 พ.ย. 56 ซึ่งกว่าจะไปถึงวันดังกล่าวโอกาสที่ท่าทีของเพื่อไทยต่อเรื่องนี้ จะพลิกไปพลิกมาเกิดขึ้นได้เสมอ

ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ณ เวลานั้น เป็นสำคัญ

“ทีมข่าวการเมือง”วิเคราะห์เส้นทางเดินของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวบนหลักที่ว่า หากเพื่อไทย-ทักษิณ ชินวัตรจะดึงดันเอาตามร่างของคณะกมธ.ไม่ใช่ร่างเดิมของวรชัย และพวกให้ได้แม้จะถูกต่อต้านอย่างหนัก แต่ก็ พร้อมลุย ด้วยการใช้เสียงข้างมากลากไปดันร่างดังกล่าวให้คลอดออกมาให้ได้

ถ้าเป็นแบบนี้แล้วเส้นทางเดินของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ในกระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนทางรัฐสภาจะเดินไปอย่างไร ?

ลำดับแรกที่จะได้เห็นก็คือ การคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฏรที่ฟันธงได้ว่า ประชาธิปัตย์ “ทุ่มสุดตัว”ชนิดยอมแลกทุกอย่างเพื่อเล่นบทขวางเต็มที่ แม้จะต้องเล่นบทที่อาจจะถูกมองว่า แรงเกินเหตุ เรียกได้ว่าน่าจะแรงมากกว่าตอนพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯที่มีส.ส.ประชาธิปัตย์บุกขึ้นไปยังที่นั่งประธานสภาฯหรือส.ส.หญิงขึ้นไปกระชากเก้าอี้ประธานสภาฯและน่าจะแรงกว่าตอนพิจารณาร่างแก้ไขรธน.เรื่องที่มาส.ว. ที่มีการทุ่มเก้าอี้ในห้องประชุมสภาฯรวมถึงมีความเป็นได้มากที่ประชาชนอาจจะได้เห็นภาพชุลมุนระหว่างส.ส.ประชาธิปัตย์กับตำรวจรัฐสภาในห้องประชุมอีกครั้งแน่นอน

ยิ่งความแรงของเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯตามร่างกมธ.หนักหน่วงยิ่งกว่าร่างพ.ร.บ.ปรองดองและร่างแก้ไขรธน.เรื่องที่มาส.ว. หลายเท่ามันก็ยิ่งทำให้แกนนำประชาธิปัตย์เชื่อว่า คุ้มค่าที่จะลุยขวางให้เต็มที่

อย่างไรก็ตามแม้ยังไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า ว่าจะมีความปั่นป่วนวุ่นวายในห้องประชุมสภาฯขนาดไหนแต่รับประกันได้ว่า ทุกช็อตของการปะทะคารมและการเชือดเฉือนกันทางการเมืองของเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ในห้องประชุมสภาฯตอนพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯจะเป็นฉากไคลแมกซ์การเมืองส่งท้ายปี 56 แต่สุดท้ายก็คงยากที่ประชาธิปัตย์จะขวางเพื่อไทยในสภาฯได้ เพราะแพ้เสียงโหวตในสภาฯทั้งวาระ 2 และ 3 นั่นเอง

หากเป็นไปตามนี้คือสภาฯเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ต้องส่งร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯดังกล่าว ไปที่วุฒิสภา

ถามว่าขั้นตอนการพิจารณาในวุฒิสภาจะแรงไหม วุฒิสภาจะลงมติไม่เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวหรือไม่ ตรงนี้ก็ยากจะประเมินแต่เมื่อดูจากองค์รวมของสภาสูงชุดนี้แล้ว ต้องยอมรับว่าฝ่ายเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล กุมเสียงในสภาสูงได้เป็นกอบเป็นกำมาก ไม่ใช่แค่พวกส.ว.เลือกตั้งที่ส่วนใหญ่อิงอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้นส.ว.สรรหา ก็มีจำนวนหนึ่งที่ไปอิงกับฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลด้วยเช่นกัน

ยิ่งเมื่อดูจากผลการลงคะแนนเสียงที่วุฒิสภาลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเมื่อ 8 ตุลาคม 56 ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 86 ต่อ 41 งดออกเสียง 8 ผลการออกเสียงดังกล่าวก็น่าจะเป็นฐานในการวิเคราะห์ได้ระดับหนึ่งว่ายังไงดูแล้ว วุฒิสภาก็น่าจะให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯวาระแรก

แม้อาจต้องลุ้นหนักไม่น้อยเนื่องจากความแรงและกระแสต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับที่กมธ.เคาะออกมา มันแตกต่างกับพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทมากชนิดเทียบกันไม่ได้เพราะแม้ร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทจะมีเสียงวิจารณ์ไม่เห็นด้วยมากในหลายด้านแต่ก็ยังไม่ได้เป็นกฎหมายที่จะสร้างปัญหาให้กับประเทศอย่างรุนแรงมากเหมือนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ

ตรงจุดนี้ก็อาจทำให้มีส.ว.จำนวนไม่น้อยแม้อาจจะเป็นส.ว.ที่สนับสนุนรัฐบาลและอาจลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทก็อาจคิดหนักในการเอาด้วยกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ

กระนั้นก็เชื่อว่า หากว่าเพื่อไทยดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯมาจนผ่านสภาฯมาแล้วก็ต้องเตรียมตัวมาดีสำหรับการเข็นให้ผ่านวุฒิสภา การล็อบบี้ส.ว.สายพรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.สรรหาบางส่วนคงน่าจะมีการเตรียมการกันมาอย่างดี เพื่อให้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯผ่านวุฒิสภาไปให้ได้ โดยการใช้วิธีการเจรจาต่อรองทำนองว่าหากส.ว.คนไหน ไม่เห็นด้วยอะไรตรงไหนก็ให้ไปว่ากันอีกทีในชั้นกมธ.วิสามัญฯ ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาจะตั้งขึ้น

แล้วจากนั้นพวกแกนๆ เพื่อไทยก็จะไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในชั้นสภาสูงอีกทีหนึ่ง ก็เหมือนกับที่ทำมาแล้วตอนพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่ตอนเอาเข้าสภาฯวาระแรก “เพื่อไทย-เสื้อแดง” ก็อ้างว่าจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อช่วยคนเสื้อแดงอย่างเดียวไม่ช่วยแกนนำนปช. ไม่เอื้อทักษิณ แต่สุดท้าย ก็แหกตาหมดอย่างที่เห็น

ยิ่งวุฒิสภาช่วงหลังส.ว.สายเพื่อไทย คุมเสียงในสภาสูงได้เป็นกอบเป็นกำ ชนิดสั่งซ้ายหันขวาหันได้เหลือก็แค่พวก “กลุ่ม 40 สว.-สว.สรรหา”ที่คอนโทรลไม่ได้ ผนวกกับบทบัญญัติในรธน.ที่ให้วุฒิสภาเป็นแค่ สภาตรายางต่อให้ไม่เห็นชอบหรือไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯมีการไปรื้อเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวในชั้นกมธ.วุฒิสภา แต่สุดท้าย สภาทาสเพื่อไทยก็สามารถใช้เสียงข้างมาก ยืนยันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯดังกล่าวเพื่อดันให้ผ่านออกมาให้ได้อยู่ดี

ขั้นตอนในชั้นวุฒิสภาจึงไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ของสภาทาสเพื่อไทยแต่ที่จะขวางทาง จนทำให้แผนร้ายพังพินาศ ก็คือ”ศาลรัฐธรรมนูญ”นั่นเอง

เพราะหากสภาฯให้ความเห็นชอบตามร่างของกมธ.มาแบบทุกตัวอักษรเอาตามนั้นประเด็นใหญ่ที่ปชป.-กลุ่ม 40 สว.จะยื่นให้ศาลรธน.วินิจฉัยก็คือการที่กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวและเสียงข้างมากของสภาฯไปให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯที่มีการยกร่างและตราขึ้นมา

โดยมีเนื้อหาของบทบัญญัติที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากร่างเดิมที่ผ่านสภาฯในวาระแรกโดยเฉพาะการไปขยายอาณาเขตการนิรโทษกรรมจากเดิมที่ให้เฉพาะประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุชุมนุมทางการเมืองเท่านั้นแต่ปรากฏว่าร่างของกมธ.เล่นไปขยายนิรโทษล้างผิดเลยเถิดไปถึงพวกโดนสอบและเอาผิดคดีทุจริต-คดีอาญาอะไรต่างๆมากมายย้อนหลังไปตั้งแต่ช่วงปี 47 ถึง 8 สิงหาคม 56

จนนักกฎหมายหลายสำนักก็ชี้ไปในทางเดียวกันว่าประเด็นการไปเพิ่มเติมเนื้อหาที่แตกต่างและไปไกลกว่าร่างที่ผ่านสภาฯวาระแรกแบบนี้สุ่มเสี่ยงมากที่จะโดน ศาลรธน. ตีตก

จนต้องไปนับหนึ่งใหม่แม้ฝ่ายกมธ.จากเพื่อไทยจะมั่นใจว่าทำได้ไม่มีปัญหา แต่โอกาสจะพลาดก็มีสูงอยู่มาก

เส้นทางเดินของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับกมธ.หากเข้าสภาฯ ดูไปแล้ว หนทางไม่ราบรื่นแน่นอน จะเจอศึกหนักตอนเข้าสภาฯที่ต้องเจอด่านประชาธิปัตย์ ส่วนในชั้นวุฒิสภา อาจติดๆ ขัดๆ บ้างแต่ก็ไม่ค่อยน่าห่วง ยังประคองร่างพ.ร.บ.ให้คลอดออกได้แต่อาจทุลักทุเลหน่อย แล้วก็จะไปหนักสุดอีกครั้งตอนคดีเข้าไปที่ศาลรธน. ที่ สุ่มเสี่ยงสูงจะถูกจับแพ้ฟาวล์ !

กำลังโหลดความคิดเห็น