ครม.เห็นชอบยกเว้นภาษีสำหรับบุคคล-นิติบุคคล ที่บริจาคให้ ศอ.บต.กำหนดให้ปี 2557 เป็นปีแห่งการรณรงค์ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอัคคีภัย เห็นชอบ พ.ร.ฎ.เปิดศาลแขวงดอนเมือง สั่ง ครม.ชี้แจงวุฒิสภา ไปโหวต ม.190 รับมือศึกซักฟอก “ปลอดประสพ” โวน้ำท่วมคลี่คลาย เพราะปีนี้รัฐบาลพร้อม ปรับค่าตอบแทนในคณะกรรมการ ปปง.เพิ่มงบประมาณโครงการอาหารกลางวันนักเรียนจากหัวละ 13 เป็น 20 บาท อ้างสมัยอภิสิทธิ์ให้น้อยเกินไป
วันนี้ (22 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) รายงานภาพรวมของสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ โดยนายปลอดประสพ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคกลางเหนือ จ.ปทุมธานี ได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว พื้นที่ด้านใต้ของ จ.ปทุมธานีอาจมีน้ำท่วมเป็นระยะๆเนื่องจากจะมีน้ำทะเลหนุนจากนี้ไปอีก 3 สัปดาห์ ซึ่งน้ำจะท่วมเป็นช่วงระยะเวลา 2 - 3 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ นายปลอดประสพยังได้แสดงความเป็นห่วงในพื้นที่ภาคตะวันออก เพราะที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกลงมามากผิดปกติ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามเร่งแก้ปัญหาอย่างโดยเร็ว โดยเฉพาะการป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจในตัว อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
นายธีรัตถ์ เปิดเผยอีกว่า ในส่วนพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมานั้น นายปลอดประสพระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะว่ามีปัญหาจากเขื่อนลำตะคอง ซึ่งมีปริมาณน้ำเกือบเต็มที่แล้ว หากไหลจากเขื่อนลำตะคองจะเข้าไปยังตัวเมืองก็จะมีคลองที่สามารถทำให้น้ำไหลไปได้ แต่หากเลยจากตัวเมืองจะลงไปพื้นที่ อ.พิมาย ทันที ดังนั้นจุดวิกฤติใน อ.พิมาย จะเกิดขึ้นในอีก 3 วันนับจากนี้ โดยที่ต้องหาแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.เมือง ด้วย
“นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกหน่วยงาน ที่ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เร่งสำรวจพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยแบ่งพื้นที่ในการดูแลประชาชน รวมทั้งมอบหมายให้ทาง กบอ.ร่วมกับทางสำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จัดทำเอกสารเผยแพร่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแก่สื่อมวลชนและประชาชนทราบ” นาบธีรัตถ์ กล่าว
นายธีรัตถ์ กล่าวอีกว่า นายกฯยังได้มอบหมายให้ทางกรมป้องกันบรรเทาและสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงกลาโหม และ กบอ.นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไปศึกษาวิเคราะห์และสรุปเป็นบทเรียน เพื่อที่วางระบบและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นอนาคต รวมทั้งการกำหนดซิงเกิลคอมมานด์มาใช้อย่างเต็มที่และมอบให้กระทรวงกลาโหม จัดหลักสูตรอบรมดูแลประชาชนเมื่อเกิดเหตุการณ์อุทกภัย หากมีความพร้อมก็สามารถนำประสบการณ์ไปถ่ายทอดและรับมือกับสถานการณ์ได้
“นายกรัฐมนตรีได้ทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ใกล้ทำงบประมาณสำหรับปี 2558 แล้ว สถานการณ์น้ำท่วมในแต่ละครั้งจะต้องมีการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับประชาชนในพื้นที่เดิมๆ จึงมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมบัญชีกลาง ปภ. และ กบอ.ไปพิจารณาดูว่าหากต้องจ่ายเงินชดเชยเยียวยาทุกๆปี ควรที่จะหันมาลงทุนในระบบป้องกันน้ำจะดีหรือไม่ จึงเสนอให้ที่ประชุมได้ไปพิจารณาต่อไป” โฆษกรัฐบาล ระบุ
นายธีรัตถ์ ยังได้กล่าวถึงการพิจารณามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่บริจาคให้กับ ศอ.บต. เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้สามารถนำเงินบริจาคไปคำนวณหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้เท่าจำนวนเงินที่บริจาคแต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว ทั้งนี้ยังยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สิน โดยให้สามารถนำจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาคมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ ตามมาตรา 65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ อนึ่ง การกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีข้างต้น สำหรับการบริจาคให้กับ ศอ.บต. ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.55 เป็นต้นไป
ขณะที่ นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแปลง A-18 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย ระหว่างองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย และบริษัทผู้ได้รับสัญญาคือ บริษัท Hess Oil Company of Thailand Ltd. Co., และบริษัท Hess Oil Company of Thailand (JDA) Limited ในฐานะกลุ่มผู้ขายก๊าซกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทเปโตรนาสในฐานะกลุ่มผู้ซื้อก๊าซ และให้องค์กรร่วมไทย – มาเลเซียลงนามในร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแปลง A-18 กับกลุ่มผู้ซื้อก๊าซ เมื่อร่างสัญญาฯ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แล้ว
นายภักดีหาญส์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติในหลักการให้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการขายข้าวสารที่ใช้ไปในโครงการตามนโยบายของรัฐบาลที่มีส่วนต่างของราคาที่ได้รับอนุมัติให้จำหน่ายกับราคาตลาด ณ วันที่ได้รับอนุมัติ เพื่อคืนเงินให้กับกระทรวงพาณิชย์ที่ได้อนุมัติข้าวสารไปจัดทำข้าวสารบริจาค ข้าวสารธงฟ้า และข้าวสารจำหน่ายให้องค์กรของรัฐ โดยเบื้องต้นมีวงเงินที่ต้องขอจัดสรร ประมาณ 7,100 ล้านบาท โดยให้กรมการค้าต่างประเทศในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ (สงป.) ต่อไป และมอบหมายคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ตามนโยบายรัฐบาลนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ทั้งนี้มอบหมายฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และกรมการค้าต่างประเทศร่วมกันจัดทำรายละเอียดข้อมูลที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณ และจัดส่งให้กรมการค้าต่างประเทศ เพื่อจัดส่งให้ สงป. จัดสรรเงินคืนต่อไป
ในส่วนของวาระการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง นายภักดีหาญส์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ รองผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เป็นผู้ว่าการ กปน. ตามมติคณะกรรมการการประปานครหลวง ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2556 เมื่อวันที่ 30 ก.ย.56 ตามที่ กระทรวงมหาดไทย เสนอ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป พร้อมทั้งแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 5 คน ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ ดังนี้ 1. นายอภิสิทธิ์ วีระสกุลวงศ์ ประธานกรรมการ 2. นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์) 3. นายโชคดี ปรโลกานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการเกษตร) 4. นายอมร ชุติมาวงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการบริหารจัดการ) และ 5. นายปรีชา อุยตระกูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการศึกษาวิจัย การจัดกระบวนการเรียนรู้และการประสานงานเครือข่าย) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.56 เป็นต้นไป
นายภักดีหาญส์ กล่าวอีกว่า ครม.ได้มีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนประเภทบริหารระดับสูงกระทรวง แรงงาน จำนวน 4 ราย ดังนี้ 1.หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง 2.นายสุเมธ มโหสถ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง 3.นายพานิช จิตร์แจ้ง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมสวัสดิก ารและคุ้มครองแรงงาน และ 4.นางอำมร เชาวลิต ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นเลขาธิการสำนักงา นประกันสังคม รวมไปถึงแต่งตั้งให้ นายกัลยาณะ วิภัติภูมิประเทศ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็นต้นไป
ด้าน ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบผลการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 (The 2nd Asia-Pacific Water Summit : 2nd APWS) และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น จำนวน 12,619,975 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ให้กับกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อนำมาส่งคืนให้สำนักงานตำรวตแห่งชาติ (ตช.) นำไปทดแทนเงินงบประมาณที่ได้สำรองจ่ายไปแล้ว
ร.ท.หญิงสุณิสา เปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างปฏิญญานิวเดลีว่า ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศฝ่ายใต้ – ด้านสิทธิเด็กในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ พม. ดำเนินการโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
อีกด้านหนึ่ง คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ปี พ.ศ. 2557 เป็นปีแห่งการรณรงค์ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอัคคีภัย ภายใต้หัวข้อ “อัคคีภัยป้องกันได้ ต้องใส่ใจไม่ประมาท” โดยกำหนดกิจกรรมสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมเผชิญเหตุอัคคีภัย และกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของอุปกรณ์ระบบเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยง เช่น ที่พักอาศัย สำนักงาน อาคารสูง โรงงานอุตสาหกรรม ศูนย์การค้า และโรงภาพยนตร์ เป็นต้น
2.ให้ ปภ.ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอัคคีภัยผ่านสื่อในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และ 3.ให้ทุกจังหวัดจัดสัปดาห์รณรงค์การป้องกันอัคคีภัยเพื่อสร้างความตระหนักและการมีส่นร่วมในการป้องกันอัคคีภัยของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ มติ ครม.ดังกล่าว เป็นไปตาม มติของคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ หรือ (กปภ.ช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 56 ซึ่งมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยในสังคมไทย เนื่องจากที่ผ่านมาสาเหตุของอัคคีภัย มักเกิดจากความประมาทและขาดความระมัดระวัง ซึ่ง น.ส ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำชับให้ กระทรวงมหาดไทยแก้ปัญหาอย่างจริงจังและวางมาตรการแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนอย่างเป็นระบบ อย่ารณรงค์เพียงผิวเผิน
ขณะเดียวกัน ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแขวงพระนครเหนือ กับกำหนดเขตอำนาจและวันเปิดทำการของศาลแขวงดอนเมือง ในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้ศาลแขวงดอนเมืองเปิดทำการ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 57 โดยให้มีเขตอำนาจในเขตดอนเมือง เขตบางเขน (เฉพาะแขวงอนุสาวรีย์) เขตสายไหม (เฉพาะแขวงคลองถนน) และเขตหลักสี่ รวมทั้ง ให้เปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแขวงพระนครเหนือ ให้มีเขตอำนาจในเขตจตุจักร เขตดินแดง เขตบางกะปิ เขตบางซื่อ เขตบึงกุ่ม เขตลาดพร้าว (เฉพาะแขวงลาดพร้าว) เขตวังทองหลาง และเขตห้วยขวาง โดยในระหว่างที่ศาลแขวงดอนเมืองยังไม่เปิดทำการ ก็ให้ศาลแขวงพระนครเหนือมีเขตอำนาจตลอดท้องที่ในเขตอำนาจของศาลแขวงดอนเมืองไปพลางก่อน ทั้งนี้ การเปิดทำการศาลแขวงดอนเมือง ในกรุงเทพมหานคร เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 56 เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
อีกด้านหนึ่ง นายวราเทพ รัตนากร ในฐานะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบว่า ในสัปดาห์นี้ไม่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากตรงกับวันหหยุดราชการ คือ วันพุธที่ 23 ต.ค จึง ทำให้มีการงดประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 24 ต.ค.ไปด้วย ทำให้ ครม.ไม่ต้องไปตอบกระทู้สด แต่ในวันจันทร์ที่ 28 ต.ค.ขอให้คณะรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมและชี้แจง ในการอภิปรายทั่วไปของสมาชิกวุฒิสภาเต็มคณะแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ซึ่งจะมีประเด็นอภิปราย 2 เรื่อง คือ 1. การบริหารงานของรัฐบาล และ 2.โครงการรับจำนำข้าว โดยคาดว่าจะใช้เวลาประชุมทั้งวัน นอกจากนี้ ขอให้ ครม.เข้าร่วมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วาระ 3 ในวันเสาร์ที่ 2 พ.ย.อย่างพร้อมเพรียง เพื่อให้การลงมติผ่านไปด้วยความเรียบร้อย และยังกำชับให้ ครม.เตรียมพร้อมสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หากฝ่ายค้านยื่นญัตติเปิดอภปรายไม่ไว้วางใจฯ ก่อนปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไป ปลายเดือน พ.ย.นี้
ร.ต.หญิง สุนิสา ยังกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบอัตราค่าตอบแทนคณะกรรมการ ธุรกรรม และอนุกรรมการ ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดังนี้ 1.ค่าตอบแทนกรรมการธุรกรรม ตำแหน่งประธานกรรมการ เดือนละ 40,000 บาท และ กรรมการธุรกรรม เดือนละ 30,000 บาท ทั้งนี้ หากเดือนใดไม่มีการประชุม หรือหากกรรมการดังกล่าวไม่ได้เข้าประชุม ให้งดจ่าย 2.ค่าตอบแทนอนุกรรมการในคณะกรรมงาน ปปง.ให้จ่ายเป็นรายครั้ง เฉพาะครั้งที่มาประชุม โดย ประธานอนุกรรมการ ครั้งละ 1,875 บาท อนุกรรมการ ครั้งละ 1,500 บาท เลขานุการ ครั้งละ 1,200 บาท และผู้ช่วยเลขานุการ ครั้งละ 800 บาท โดยให้จ่ายเบี้ยประชุมได้ไม่เกินเดือนละ 4 ครั้ง ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ 2 ที่มี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
โดยคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้ปรับลดอัตราค่าตอบแทนที่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งกำกับดูแลสำนักงาน ปปง.เคยเสนอขอมาก่อนหน้านี้ เช่น ค่าตอบแทนประธานกรรมการ จากเดิมขอเดือนละ 115,000 บาท แต่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ อนุมัติให้เดือนละ 40,000 บาท หรือให้น้อยกว่าที่ขอ เดือนละ 75,000 บาท และกรรมการธุรกรรม จากเดิม ขอเดือนละ 100,000 บาท แต่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ อนุมัติให้ เดือนละ 30,000 บาท หรือให้น้อยกว่าที่ขอ เดือนละ 70,000 บาท ค่าตอบแทนอนุกรรมการฯ ในส่วนของประธานอนุกรรมการ จากเดิม ขอครั้งละ 4,500 บาท อนุมัติให้ ครั้งละ 1,875 บาท และอนุกรรมการ จากเดิม ขอครั้งละ 4,000 บาท อนุมัติให้ 1,500 บาท เป็นต้น เพื่อให้มีความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน และเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างกรรมการธุรกรรม และอนุกรรมการ คณะกรรมการ ปปง.กับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีภารกิจใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ปรับเพิ่มการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 สำหรับโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน จากเดิมอัตรา 13 บาท ต่อคนต่อวัน เพิ่มเป็น 20 บาท ต่อคนต่อวัน ซึ่งจะทำให้มีนักเรียนได้รับเงินเพิ่ม 5,800,469 คน โดยจะต้องใช้งบประมาณ 24,775,999,200 บาท ทั้งนี้ เนื่องจากการสนับสนุนงบประมาณอาหารกลางวันในอัตราเดิม คือ 13 บาท ต่อคนต่อวัน ซึ่งดำเนินการในรัฐบาลที่แล้ว สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นตัวเลขที่น้อยเกินไป ทำให้เด็กนักเรียนได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ จึงมีความจำเป็นต้องขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณดังกล่าว
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า รัฐบาลยินดีเพิ่มงบประมาณให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กไทยมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ขอให้กระทรวงศึกษาธิการวางกลไกเพื่อควบคุมให้การใช้จ่ายงบประมาณ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ คือ ทำให้เด็กนักเรียนมีโภชนาการที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ และ รมว.สาธารณสุข ได้รับทราบคำสั่งและข้อห่วงใยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรับปากว่าจะไปร่วมหารือ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ด้านโภชนาการที่จำเป็นสำหรับเด็กนักเรียน ว่าต้องมีส่วนประกอบของอาหารอย่างไรบ้างโดยจะกำหนดตัวชี้วัดและประเมินผลสำเร็จว่า หลังจากดำเนินการดังกล่าวแล้วจะส่งผลดีอย่างไรต่อสุขภาพของเด็กไทย
ในช่วงท้าย นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอแผนงาน/โครงการภายใต้มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (ฉบับปรับปรุง) โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตรวจสอบข้อเท็จจริงการชะลอการร่วมลงทุนของกองทุนร่วมลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันของธุรกิจไทยกับผู้ประกอบการ SMEs ในระยะที่ผ่านมา และพิจารณาระเบียบการจัดสรรเงินกองทุน แนวทางและขั้นตอนการร่วมลงทุนให้เกิดความชัดเจนก่อนนำเสนอคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กระทรวงอุตสาหกรรม และคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป และให้กระทรวงอุตสาหกรรมหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ เพื่อปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ของกระทรวงอุตสาหกรรม และแนวทางการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 และ 2559 เพื่อดำเนินโครงการตามข้อเสนอดังกล่าว
ทั้งนี้ ครม. ยังเห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมขยายเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานประเภท 2 และ 3 ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 จากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.56 ออกไปอีก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.56 ไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.59 และให้กระทรวงอุตสาหกรรมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจชำระคืนค่าธรรมเนียมรายปีให้กับผู้ประกอบการที่ได้ชำระค่าธรรมเนียมแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.56 จนถึงวันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้