xs
xsm
sm
md
lg

“หมอวรงค์” เชื่อรัฐขายข้าวสารถูกไม่ทำราคาข้าวถุงลด คาดขาดทุนประมูล 1.8 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.วรงค์ เดชวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
ส.ส.พิษณุโลก ประชาธิปัตย์ งงข้าวสารถูกกว่าข้าวเปลือก จับตารัฐเร่งระบายในสต๊อก ชี้พ่อค้าไม่มั่นใจประมูลยกคลัง-ทำทุกเดือนไม่กระตุ้นแข่งขัน เชื่อขาดทุนตันละ 12,000 รวม 1.8 พันล้าน บอกเป็นโอกาสของผู้ค้าไม่ใช่ผู้ซื้อ รัฐเจ๊งกับเจ๊ง

วันนี้ (18 ก.ค.) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตประมูลข้าวจากโครงการรับจำนำของรัฐบาล ที่กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งระบายโดยมีเป้าหมายที่จะระบายเดือนละ 5 แสน ถึง1 ล้านตัน ว่าจะทำให้เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ คือ ข้าวสารถูกกว่าข้าวเปลือก เพราะปกติรัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท แต่ราคาต้นทุนเมื่อแปลงเป็นข้าวสารอยู่ที่ตันละ 24,000 บาท ในขณะที่ราคาข้าวสารในตลาดปัจจุบันที่อยู่ที่ตันละ 14,700-15,000 บาท ดังนั้น การที่รัฐบาลเร่งระบายข้าวจากสต๊อกต้องจับตาในหลายประเด็นดังนี้ คือ 1. การประมูลแบบยกคลังผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้า อีกทั้งมีกระแสข่าวว่าข้าวที่จะเปิดประมูล คือ คลังแถว จ.กำแพงเพชร ซึ่งพ่อค้าไม่มั่นใจ เพราะกังวลว่าเป็นคลังที่อาจซุกข้าวเสื่อมสภาพเอาไว้ โอกาสที่จะมีการแข่งขันแล้วรัฐจะได้ราคาดีจึงลดน้อยลง 2. การที่รัฐบาลประกาศประมูลทุกเดือน ในแต่ละเดือนอาจมากกว่า 2-3 ครั้ง ทำให้พ่อค้าไม่จำเป็นต้องแข่งเพราะทราบว่าไม่ได้ครั้งนี้อาจไปประมูลครั้งหน้า ยิ่งทำให้ราคาไม่สูง 3. โดยปกติแล้ว ณ ขณะนี้ราคาข้าวสารที่มีการแอบซื้อกันจากคนในวงการที่ไปซื้อข้าวจากเครือข่ายคนของรัฐบาลจะอยู่ที่ราคาตันละ 12,000 บาท จากเหตุผลทั้งหมดจะทำให้รัฐบาลไม่ได้ราคาสูงกว่า 12,000 บาทต่อตัน ถ้าระบายข้าวสารในราคานี้เท่ากับรัฐบาลจะขาดทุนตันละ 12,000 บาท โดยงวดนี้รัฐบาลมีเป้าหมายระบาย 150,000 ตัน ก็จะขาดทุนเฉพาะล็อตนี้ 1,800 ล้านบาท

นพ.วรงค์กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือข้าวสารจะถูกกว่าข้าวเปลือก แต่ตนไม่เชื่อว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ เพราะพ่อค้าต้องนำข้าวไปปรับปรุง เนื่องจากไม่ทราบว่าคุณภาพข้าวเป็นอย่างไร จากนั้นก็คงขายในราคาตลาดตามปกติ จึงกลายเป็นโอกาสพ่อค้าไม่ใช่โอกาสของผู้บริโภค เพราะข้าวถุงคงไม่ลดราคา ในขณะที่รัฐบาลก็มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง แต่ครั้งนี้จะเป็นการขาดทุนที่พิสูจน์ตัวเลขได้จึงอยากให้ประชาชนติดตามด้วย

“หากรัฐบาลขายข้าวสารในราคาถูกก็ต้องติดตามดูด้วยว่าเมื่อพ่อค้าต้นทุนถูกการผลิตข้าวสารถุงควรจะต้องถูกลงด้วย เพื่อเป็นการดูแลผู้บริโภค โดยไปคำนวณต้นทุนที่เหมาะสมในการขายข้าวให้แก่ผู้บริโภค เพราะอย่างน้อยการขาดทุนของรัฐบาลจากเงินภาษีของประชาชน ก็จะยังมีส่วนหนึ่งคืนกลับมาให้ประชาชนบ้าง แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลยนอกจากการระบายข้าวราคาถูก ก็จะทำให้รัฐบาลเจ๊ง ประชาชนไม่ได้รับการดูแลให้ซื้อข้าวในราคาที่เป็นธรรม ในขณะที่คนกำไรคือ พ่อค้าข้าว” นพ.วรงค์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น