xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ยอมแถลงผลงานรัฐบาล 1 ปีต่อวุฒิสภาด้วยตัวเอง หลัง 40 ส.ว.ถล่ม อ้างมาช้าติดภารกิจด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
40 ส.ว.เฉ่ง นายกฯ เบี้ยวแถลงผลงานด้วยตัวเอง แต่สุดท้ายก็ยอมเข้ารายงานต่อวุฒิสภา อ้างติดภารกิจด่วนทำให้มาช้า ย้ำปัญหาที่ต้องแก้ “เศรษฐกิจ-ปากท้อง-ความเชื่อมั่น” ขณะที่ “ยรรยง” เพิ่งตื่น ส่ง จนท.เกาะติดของแพงทั่วประเทศแล้ว

ที่รัฐสภา วันนี้ (21 ต.ค.) มีการประชุมวุฒิสภา โดยนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณารายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปีที่ 1 โดยกลุ่ม 40 ส.ว.อาทิ นายสมชาย แสวงการ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา กล่าวตำหนิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ไม่ยอมมาชี้แจงผลงานด้วยตัวเอง ปล่อยให้รัฐมนตรีมานั่งรับฟังเท่านั้น ทำให้เสียเวลากว่า 1 ชั่วโมง ที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องมาร่วมประชุม พร้อมกับชี้แจงภาพรวมการทำงานในปีแรกว่า ต้องขออภัยที่ไม่ได้มาในช่วงแรกเพราะติดภารกิจด่วนสำคัญ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามารับงานมีอุปสรรคปัญหามากมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ถือว่าท้าทายมาก แต่รัฐบาลยึดถือจุดมุ่งหมายหลัก 3 ประการตามที่แถลงแนวนโยบายไว้ คือ 1.สร้างเศรษฐกิจที่สมดุล เพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจในประเทศ 2.สร้างบรรยากาศความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ สร้างบรรยากาศความปรองดองบนหลักของความเสมอภาค และมีมาตรฐานเดียว 3.เตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ความท้าทายตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ คือเรื่องเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาไทยพึ่งพาการส่งออก 70 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เมื่อเศรษฐกิจโลกผันผวน จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออก เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำ และต้องช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หากวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะช่วยลดต้นทุนการผลิต และเกิดการสร้างงานในอนาคต และพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปีแรกที่เข้ามา รัฐบาลแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการสร้างบรรยากาศปรองดองด้วยสันติวิธี ไม่ตอบโต้ เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับต่างประเทศ รวมถึงการกู้ศักดิ์ศรีให้ไทยได้รับการยอมรับ แม้เราจะเจอวิกฤติอุทกภัยปลายปี 2554 แต่รัฐบาลก็แก้ปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง มีการเสนอแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ด้วยการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท มีการตั้งศูนย์รวมการปฏิบัติภายใต้หน่วยงานเดียวคือ กบอ.

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า สำหรับปีช่วงที่ 2 รัฐบาลขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว ภายใต้หลักยุทธศาสตร์ 4 ประการ คือ 1.เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 2.ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ 3.การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4.การบูรณาการ การพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สำหรับเรื่องความปรองดอง ที่ผ่านมาพยายามมุ่งมั่นทำงานใช้ความอดทน ไม่ตอบโต้ เพราะอยากเห็นบรรยากาศที่ดี แต่เรื่องนี้ทำฝ่ายเดียวไม่ได้ต้องได้รับความร่วมมือทุกฝ่าย ตนพร้อมจะเข้าหาทุกฝากที่อยากเห็นการแก้ปัญหาประเทศ อยากรับฟังข้อคิดเห็นมุมมองต่าง ส่วนปัญหาปากท้องพยายามแก้ที่ห่วงโซ่อุปทาน คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เน้นแก้ปัญหาระยะยาว ทำโซนนิงการเกษตร และมอบหมายให้รัฐมนตรีเข้าไปดูแลสินค้าการเกษตรรายตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ว.หลายคน โดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว.โจมตีการทำงานของรัฐบาลว่าไม่เป็นอย่างที่แถลงนโยบายไว้ หลายนโยบายล้มเหลว อาทิ การรับจำนำข้าว การคุมค่าครองชีพประชาชน โดย พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ และ นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว.ท้วงติงว่า การที่รัฐบาลบอกว่าพยายามสร้างความปรองดองในชาติ แต่จากการจัดงานรำลึกครอบ 40 ปี 14 ตุลาฯ กลับมีบางส่วนที่พาดพิงถึงสถาบัน โดยเฉพาะการจัดทำหนังสือ “ย้ำยุครุกสมัย” ที่ให้ร้ายโจมตีสถาบันกษัตริย์

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ หนึ่งในคณะกรรมการจัดทำหนังสือ “ย้ำยุครุกสมัย” ชี้แจงว่า การจัดกิจกรรมครบรอบ 40 ปี 14 ตุลาฯ ​แต่ละกิจกรรมมีความเห็นที่แตกต่างกัน หนังสือดังกล่าวตนเองยังไม่ได้อ่านรายละเอียด แต่ปกติการจัดงานจะมีการขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล รัฐวิสาหกิจองค์กรต่างๆ เพราะถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญ ส่วนตัว​ในฐานะที่ปรึกษาการจัดกิจกรรม ได้ให้คำปรึกษาไปบ้าง ที่ท้วงติงว่าเนื้อหาในหนังสือให้ร้ายสถาบันนั้น เท่าที่ตนได้ดูและสอบถามคนทำแล้ว มีแต่ข้อความสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และเนื้อหาเป็นเชิงวิชาการ ไม่มีถ้อยคำที่เป็นการบ่อนทำลาย หรือดูหมิ่นสถาบัน หากผิดกฎหมายสามารถดำเนินคดีทางกฎหมายได้ แต่รับจะไปตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง

นายวันชัย สอนศิริ กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภา 16 ข้อนั้น องค์กรคลังสมองได้ประเมินว่าที่ทำสำเร็จมีเพียง 2 เรื่อง คือ 1.การแก้ปัญหายาเสพติด และ 2.ฟื้นฟูสัมพันธ์ประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนเรื่องอื่นไม่สำเร็จอย่างการสร้างความปรองดองสมานฉันท์คนในชาติ ที่นอกจากไม่สำเร็จกลับสร้างความแตกแยกยิ่งกว่าเดิม และเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ บัตรเครดิตพลังงาน การดูแลเรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภค การตรึงราคาสินค้า ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ หรือโครงการธงฟ้าที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า จึงถือเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง จึงอยากให้นายกฯจริงจังในการแก้ปัญหา

ด้าน นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ ชี้แจงว่าประเด็นเรื่องค่าครองชีพ ​ที่ผ่านมารดำเนินการไป 3 เรื่อง คือ 1.เพิ่มรายได้ อาทิ เพิ่มค่าแรง 300 บาท จำนำสินค้าเกษตร ทั้งข้าว มันสำปะหลัง 2.ลดรายจ่าย เช่น การขายสินค้าราคาถูก มาตรการช่วยเหลือประชาชน ไฟฟ้าฟรี รถไฟฟรี บ้านหลังแรก รถคันแรก และ 3. ขยายโอกาส โดยการช่วยเหลือเอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีเสียงวิจารณ์เหมือนว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่ดำเนินการเรื่องของแพงนั้น ความจริงได้ติดตามราคาสินค้าใกล้ชิด มีเจ้าหน้าที่กระจายไปทั่วประเทศ เพื่อติดตามรายละเอียดกว่า 400 รายการ จะเห็นความเคลื่อนไหวทุกวันทั่วประเทศ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าดัชนีราคาสินค้าทั่วไปมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีเสถียรภาพ และอยู่ลำดับที่สองรองจากมาเลเซีย ฉะนั้นความน่าเป็นห่วงไม่ได้อยู่ที่เงินเฟ้อ ซึ่งไม่น่าจะเกิน 3 เปอร์เซ็นต์ แต่อาจกลายเป็นเงินฝืด คนไม่มั่นใจจะไปซื้อไปบริโภค ดังนั้นรัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นด้วยการกระตุ้นการซื้อและมีมาตรการช่วยเหลือ​


กำลังโหลดความคิดเห็น