xs
xsm
sm
md
lg

คนอีสานยี้ “เพื่อไทย” เหม็นสาบ ปชป. เล็งหาตัวเลือกใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน ม.ขอนแก่น เผยผลสำรวจคะแนนนิยมพรรคการเมืองรอบ 2 ปี พบคะแนนิยมลดฮวบตั้งแต่ต้นปี เพราะข้าวยากหมากแพง-ลดจำนำข้าว-น้ำท่วมไม่เหลียวแล แต่คะแนน ปชป. ไม่กระเตื้อง พบผู้ไม่ฝักใฝ่เลือกพรรคใดเพิ่มขึ้น เบื่อตัวเลือกเดิม เล็งหาพรรคทางเลือกใหม่

วันนี้ (21 ต.ค.) อีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "ประเมินผลงานรัฐบาลและคะแนนความนิยมพรรคการเมืองในรอบ 2 ปี" โดยนายสุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อการทำงานของรัฐบาลใน 6 ด้าน ซึ่งมีขึ้นทุกๆ 2 เดือนมาวิเคราะห์ โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 2 ปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 ถึง กันยายน 2556 จากกลุ่มตัวอย่างในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ

พบว่า ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาของการบริหารรัฐบาล โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาลเป็นที่ชื่นชอบและได้รับผลการประเมินที่ดีจากคนอีสานอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีเหตุการณ์ที่ทำให้รัฐบาลเสียคะแนน รัฐบาลมักจะได้คะแนนประเมินภาพรวมการทำงาน สูงกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะผลการประเมินรัฐบาลหลังครบรอบ 1 ปี ไปจนถึงช่วงประกาศใช้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รัฐบาลได้รับผลการประเมินสูงกว่าร้อยละ 80 อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจล่าสุดช่วงไตรมาส 3 ปี 2556 มีผลการประเมินเพียงร้อยละ 64.4 โดยผลคะแนนนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่งเป็นช่วงหลังจากประกาศใช้มาตรการค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากผลกระทบภายหลังจากมีการปรับค่าแรง ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพของประชาชนปรับสูงขึ้นตาม พร้อมกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และในช่วงกลางปียังมีการประกาศว่าอาจมีการลดราคาจำนำข้าวลงอีกด้วย จึงเหมือนเป็นการตอกย้ำให้ผลการประเมินรัฐบาลลงต่ำลงเรื่อยๆ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลประเมินด้านต่างๆ ก็สอดคล้องกับสถานการณ์และผลประเมินโดยภาพรวม ซึ่งพบว่า คะแนนด้านการเมืองและประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์ที่ค่อนสูงกับคะแนนภาพรวมการทำงาน ซึ่งจะสังเกตได้ว่า หากมีสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเมืองภายในกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาล คะแนนรัฐบาลก็จะลดลง รองลงมาคือด้าน สิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า หากรัฐบาลมีปัญหาในการบริหารจัดการภัยแล้งหรือน้ำท่วม คะแนนรัฐบาลก็จะลดลงเช่นกัน ส่วนด้านอื่นๆ ก็มีผลต่อคะแนนภาพรวมการทำงานบ้างแล้วแต่สถานการณ์ เช่นในช่วงปลายปี 2555 ที่มีการคาดหวังว่าจะได้รับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ และในต้นปี 2556 ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งทำให้คะแนนการทำงานรัฐบาลสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นผลการประเมินผลงานรัฐบาล ค่อยๆ ลดต่ำลงตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2556 เนื่องจาก ผลข้างเคียงของนโยบายประชานิยมต่างๆ เช่น การปรับตัวสูงขึ้นของค่าครองชีพ หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น กระแสการลดราคาจำนำข้าว และปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัด

สำหรับความคิดเห็นว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่คนอีสานจะเลือกพรรคการเมืองใด เพื่อวัดระดับความนิยมของพรรคการเมือง พบว่าพรรคเพื่อไทยยังคงได้รับความนิยมในภาคอีสานเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตามพบว่า คะแนนความนิยมของพรรคเพื่อไทยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2556 โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พรรคเพื่อไทยมีคะแนนความนิยมต่ำกว่าร้อยละ 50 ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงปัจจุบัน ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับผลการประเมินผลงานรัฐบาล โดยแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะมีคะแนนความนิยมที่ลดต่ำลง แต่ก็พบว่าพรรคประชาธิปัตย์กลับไม่ได้รับคะแนนความนิยมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าจะมีช่วงต้นปี 2556 ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากการเดินสายเวทีผ่าความจริงแถบอีสาน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ในช่วงเดือนเมษายน 2556 เพิ่มขึ้นมาเป็นเกือบร้อยละ 40 ในช่วงปัจจุบัน ทั้งนี้อาจจะเป็นไปได้ว่าประชาชนกำลังเบื่อกับตัวเลือกทางการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน และอาจกำลังมองหาทางเลือกใหม่

“จากผลคะแนนต่างๆ ข้างต้น ทำให้พบว่าแม้รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย จะยังคงครองใจชาวอีสานอย่างเหนียวแน่น แต่ในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา ผลการประเมินต่างๆ ทั้งผลงานรัฐบาลและความนิยมในพรรคเพื่อไทยกลับมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้อาจมีที่มาจากหลายสาเหตุ นอกจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นและการเมืองที่กำลังเข้มข้นแล้ว ยังมีผลค้างเคียงของนโยบายประชานิยมต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งแม้จะมีผลเชิงบวกในช่วงแรกของการประกาศใช้ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวกลับส่งผลย้อนกลับไปยังประชาชน จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้า ค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือน ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณานโยบายอื่นๆ อย่างรอบคอบ และหลีกเลี่ยงการสร้างนโยบายที่เน้นการหาเสียง แต่ให้เน้นนโยบายที่ช่วยเหลือประชาชนในระยะยาวและยั่งยืนมากขึ้น สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ผลการประเมินนี้ทำให้เห็นว่า แม้รัฐบาลจะสูญเสียความนิยมไปมากในช่วงที่ผ่านมา แต่กลับไม่ได้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่คนอีสานแต่อย่างใด” นายสุทิน กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น