“อีสานโพล” สำรวจพบความนิยมเพื่อไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง จากความวุ่นวายทางการเมือง ปัญหาจำนำข้าว และค่าครองชีพ ขณะเดียวกัน ปชป.ที่คะแนนกลับลดตามไปด้วย แต่คนอีสานยังพอใจกับการปรับ “ครม.ปู 5”
ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำรวจความเห็นประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) เรื่อง “เสียงสะท้อนชาวอีสานกับผลงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์” ประจำเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2556 มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อการทำงานของรัฐบาลใน 6 ด้าน เพื่อเป็นเสียงสะท้อนให้รัฐบาลได้นำผลการประเมินและข้อเสนอแนะไปปรับปรุงมาตรการและนโยบายการทำงานได้อย่างเหมาะสม โดยการสำรวจจะมีขึ้นทุก 2 เดือน โดยครั้งนี้เป็นการสำรวจครั้งที่ 10 ตั้งแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่ง ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30-31 มิ.ย. 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,205 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ
ผลสำรวจ 6 ด้านพบว่า ด้านภาพรวมการทำงานของรัฐบาล ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 72.0 ไม่ผ่าน ร้อยละ 28.0 ด้านการเมือง และประชาธิปไตย ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 63.0 ไม่ผ่าน ร้อยละ 37.0 ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 51.7 ไม่ผ่านร้อยละ 48.3 ด้านสังคม อาชญากรรม และยาเสพติด ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 64.2 ไม่ผ่าน ร้อยละ 35.8 ด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และภัยธรรมชาติ ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 76.5 ไม่ผ่าน ร้อยละ 24.4 ด้านการต่างประเทศ ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 78.5 ไม่ผ่าน ร้อยละ 21.5
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเทียบกับการสำรวจ 2 ครั้งในช่วงต้นปีที่ผ่านมาจะพบว่า ด้านภาพรวมการทำงาน ด้านการเมืองและประชาธิปไตย และด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี เป็นด้านที่ได้คะแนนลดลง ทั้งนี้ จากสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรงและปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตก ส่วนด้านสังคม อาชญากรรมและยาเสพติด และด้านสิ่งแวดล้อมมลภาวะ และภัยธรรมชาติ ได้คะแนนดีกว่าช่วงต้นปี ส่วนด้านการต่างประเทศถือว่าคะแนนคงที่
ส่วนความคิดเห็นว่า หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่คนอีสานจะเลือกพรรคการเมืองใด พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.0 จะเลือกพรรคเพื่อไทย (จากเดิมร้อยละ 54.7) และอีกร้อยละ 31.1 ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกพรรคใดในขณะนี้ (เดิมร้อยละ 22.2) ส่วนผู้ที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ มีเพียงร้อยละ 8.9 (ครั้งที่แล้ว ร้อยละ 15.7) อีกร้อยละ 9.3 ตอบว่าจะไม่เลือกพรรคใด และร้อยละ 2.7 จะเลือกพรรคอื่นๆ
ในส่วนของการประเมินการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานกว่าร้อยละ 63.6 ให้คะแนนว่าไม่ผ่าน (การประเมินครั้งก่อน ไม่ผ่านร้อยละ 62.3) โดยให้เหตุผล เช่น ไม่มีผลงานที่ชัดเจน ไม่ชอบพรรคฝ่ายค้านอยู่แล้ว ค้านมากเกินไปหรือจับผิดรัฐบาลมากเกินไป เป็นต้น ส่วนอีกร้อยละ 29.7 ที่ประเมินให้ผ่าน ให้เหตุผล เช่น เป็นการทำงานตามหน้าที่ฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาลได้ดี และมีข้อมูลที่พร้อมในการนำเสนอ เป็นการตรวจสอบไม่ให้รัฐบาลคอร์รัปชัน เป็นต้น
เมื่อสอบถามถึงความเห็นชาวอีสานต่อการปรับคณะรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ 5 พบกว่ากลุ่มตัวอย่างชาวอีสาน ร้อยละ 41.2 รู้สึกพอใจ ซึ่งสวนทางกับการบ่นน้อยใจของ ส.ส.อีสาน ที่ได้เก้าอี้รัฐมนตรีเพียง 1 คน รองลงมาร้อยละ 35.0 รู้สึกเฉยๆ/อย่างไรก็ได้ และมีเพียงร้อยละ 23.8 ที่รู้สึกไม่พอใจ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาที่คนอีสานเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขมากที่สุด จากผลสำรวจพบว่ามี 2 ด้านหลักๆ ได้แก่ เรื่องปากท้องและเศรษฐกิจ ความยากจน ปัญหาค่าครองชีพสูง และการว่างงาน ร้อยละ 42.5 รองลงมาต้องการให้แก้ไขปัญหาการรับจำนำข้าว และราคาสินค้าเกษตร ร้อยละ 26.7 ส่วนที่เหลือเป็นปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การศึกษาและสาธารณสุข สาธารณูปโภคพื้นฐาน และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคม เป็นต้น
ดร.สุทินกล่าวว่า ผลการประเมินในครั้งนี้พบว่า คะแนนผลงานรัฐบาลปรับลดลงในด้านที่สำคัญ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง ซึ่งทำให้คะแนนโดยภาพรวมลดลงตามไปด้วย แม้ว่าด้านอื่นๆ เช่น ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม จะมีคะแนนที่ดีขึ้นก็ตาม โดยรวมคะแนนความนิยมรัฐบาลที่ลดลง นอกจากสถานการณ์การเมืองที่กำลังวุ่นวายและค่าครองชีพที่สูงแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายรับจำนำข้าว ที่ประสบภาวะขาดทุน รวมทั้งมีการประกาศลดราคาจำนำข้าวลงเหลือตันละ 12,000 บาท ทำให้รายได้เกษตรกรลดลง ในขณะที่ต้นทุนการปลูกข้าวเพิ่มสูงขึ้นไปก่อนหน้านี้
“การที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหรือแก้ไขได้ล่าช้านั้น ส่งผลต่อคะแนนความนิยมพรรคเพื่อไทย ที่ลดลงจากการประเมินในครั้งก่อน ซึ่งการสำรวจนี้ได้สำรวจก่อนที่ กขช.จะประกาศปรับราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าเป็นตันละ 15,000 เหมือนเดิม ดังนั้นคะแนนความนิยมของรัฐบาลอาจมีการปรับขึ้นได้ในการสำรวจรอบหน้า แต่ในระยะยาวโครงการรับจำนำข้าวอาจย้อนมาเป็นปัญหาของรัฐบาลอีกครั้ง เมื่อต้องลดราคาหรือยกเลิกโครงการจากสถานการณ์ทางการคลังที่บีบคั้น”