อีสานโพลสำรวจคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกี่ยวกับ “การรับรู้และเข้าใจของคนอีสานในธุรกิจพลังงาน” พบว่าส่วนใหญ่พอใจบทบาทของกระทรวงพลังงาน ส่วนราคาน้ำมันแพงโทษ ปตท. เพราะเชื่อว่าเป็นผู้ผูกขาดธุรกิจน้ำมัน
อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “การรับรู้และเข้าใจของคนอีสานในธุรกิจพลังงาน” โดยผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานโดยทั่วไปพึงพอใจในบทบาทของกระทรวงพลังงาน แต่กว่าครึ่งไม่พอใจบทบาท ปตท. เพราะเชื่อว่าเป็นต้นเหตุของน้ำมันแพง และเห็นว่าสัดส่วนรายได้ที่รัฐได้จากธุรกิจปิโตรเลียมอาจน้อยไป
ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจการรับรู้และเข้าใจของคนอีสานต่อธุรกิจพลังงาน โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 เมษายน 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,200 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนมหนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ
ผลการสำรวจโดยรวมพบว่า คนอีสานพึงพอใจในบทบาทที่ผ่านมาของกระทรวงพลังงาน ร้อยละ 58.4 และไม่พึงพอใจร้อยละ 41.6 โดยคนเขตเมือง พอใจ ร้อยละ 61.8 ไม่พอใจ ร้อยละ 38.2 ขณะที่คนเขตชนบทพอใจ ร้อยละ 56.6 โดยคนเขตเมือง และคนเขตชนไม่บทพอใจ ร้อยละ 43.4 นอกจากนี้ คนอีสานโดยรวมมีความพึงพอใจในบทบาทที่ผ่านมาของ ปตท. คิดเป็น ร้อยละ 51.1 และไม่พึงพอใจคิดเป็น ร้อยละ 48.9 โดยคนเขตเมืองพอใจร้อยละ 54.4 ไม่พอใจร้อยละ 45.6 ขณะที่คนเขตชนบทพอใจร้อยละ 49.4 โดยคนเขตเมือง และคนเขตชนไม่บทพอใจร้อยละ 50.6
สำหรับความคิดเห็นของคนอีสานเกี่ยวกับสัดส่วนที่รัฐได้จากธุรกิจขุดเจาะปิโตรเลียม คือ 34% (ค่าเฉลี่ยระหว่าง พ.ศ. 2524-2554) เช่น ขุดน้ำมันขึ้นมา 100 ลิตร รัฐได้ 34 ลิตร เอกชนได้ 66 ลิตรมีความเหมาะสมหรือไม่ พบว่าคนอีสานส่วนใหญ่คิดว่าสัดส่วนที่ได้น้อยไป ถึงร้อยละ 35.0 รองลงมาคือไม่แน่ใจคิดเป็นร้อยละ 25.9 คิดว่าเหมาะสมแล้วร้อยละ 21.5 และเห็นว่ามากไปร้อยละ 17.6
ทั้งนี้ หากจะแบ่งตามเขตพบว่า คนอีสานที่อยู่ในเขตในเมืองส่วนใหญ่คิดว่าสัดส่วนที่รัฐได้รับน้อยไป ร้อยละ 32.8 รองลงมาคิดว่าเหมาะสมแล้วร้อยละ 25.7 ไม่แน่ใจคิดเป็นร้อยละ 21.7 และคิดว่ามากไปร้อยละ 19.8 ส่วนคนอีสานที่อยู่นอกเขตเมือง พบว่า ส่วนใหญ่ยังคงคิดว่าได้สัดส่วนน้อย ถึงร้อยละ 36.2 รองลงมาไม่แน่ใจคิดเป็นร้อยละ 28.3 เห็นว่าเหมาะสมแล้วคิดเป็นร้อยละ 19.2 และคิดว่ามากไปร้อยละ 16.4
อย่างไรก็ตาม คนอีสานส่วนใหญ่คิดว่าน้ำมันแพงเพราะ ปตท. ถึงร้อยละ 31.5 รองลงมาคิดว่าเป็นเพราะราคาตลาดโลก ร้อยละ 20.2 ไม่แน่ใจคิดเป็นร้อยละ 19.4 เห็นว่าเป็นเพราะภาษีที่เก็บ ร้อยละ 17.8 และคิดว่าเกิดจากกระทรวงพลังงาน ร้อยละ 11.1 โดยความคิดเห็นเรื่องน้ำมันแพงระหว่างคนเมืองและคนชนบทแทบไม่ต่างกัน
ดร.สุทินกล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าคนอีสานโดยทั่วไปพอใจบทบาทของกระทรวงพลังงานในระดับหนึ่ง แต่กว่าครึ่งไม่พอใจบทบาทของ ปตท. ทั้งนี้เป็นเพราะว่าประชาชนเชื่อว่าสาเหตุหนึ่งที่น้ำมันแพงเป็นเพราะ ปตท. ผูกขาดธุรกิจน้ำมัน ซึ่งประเด็นนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในแวดวงต่างๆ ว่ามีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด แต่แท้จริงแล้วเหตุผลสำคัญที่น้ำมันแพง ก็คือ ราคาตลาดโลกที่สูงและเนื้อภาษีรวมถึงเงินกองทุนที่จัดเก็บ ตัวอย่างเช่น น้ำมัน E20 ราคาขายปลีก ลิตรละ 32-33 บาท ราคาตลาดโลกก็ประมาณลิตรละ 22 บาทแล้ว ภาษีและเงินกองทุนรวมกันก็ประมาณลิตรละ 8-9 บาท แต่การเก็บภาษีน้ำมันก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรัฐในการควบคุมให้เกิดการใช้น้ำมันอย่างรู้คุณค่าและนำภาษีไปใช้พัฒนาประเทศในด้านต่างๆ
อย่างไรก็ตาม รัฐอาจต้องมีการศึกษาวิจัยและปรับปรุง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อให้ได้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจขุดเจาะปิโตรเลียมที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศมากที่สุด ดังที่คนอีสานกว่า 35% เห็นว่าสัดส่วนรายได้โดยเฉลี่ย 34% ยังน้อยเกินไปหากเทียบกับประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ การตั้งราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่ไทยยังมีการบวกค่าขนส่งและค่าโสหุ้ยต่างๆ ประมาณลิตรละ 60-80 สตางค์ เพื่อให้แข่งขันได้กับราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ ซึ่งในกรณีนี้กระทรวงพลังงานก็น่าจะมีการศึกษาและวิจัยเพื่อหาคำตอบว่าการบวกค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังเหมาะสมอยู่หรือไม่ หรือลดลงมาได้หรือไม่