อีสานโพลสำรวจประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือประเด็น “เสียงสะท้อนชาวอีสานกับผลงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์” ผ่านทุกด้านแต่คะแนนลดลง ขณะที่คะแนนนิยมพรรคประชาธิปัตย์เริ่มกระเตื้องขึ้น
อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “เสียงสะท้อนชาวอีสานกับผลงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์” ประจำเดือนมีนาคม-เมษายน 2556 โดยผลการประเมินพบว่าผ่านในทุกด้าน แต่ในหลายด้านคะแนนลดลง ขณะที่คะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์เริ่มดีขึ้นบ้างในภาคอีสาน
ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “เสียงสะท้อนชาวอีสานกับผลงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์” ประจำเดือนมีนาคม-เมษายน 2556 โดยผลการประเมินพบว่าผ่านในทุกด้าน แต่ในหลายด้านคะแนนลดลง ขณะที่คะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์เริ่มดีขึ้นบ้างในภาคอีสาน
ดร.สุทินกล่าวว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อการทำงานของรัฐบาลใน 6 ด้าน เพื่อเป็นเสียงสะท้อนให้รัฐบาลได้นำผลการประเมินและข้อเสนอแนะไปปรับปรุงมาตรการและนโยบายการทำงานได้อย่างเหมาะสม โดยการสำรวจจะมีขึ้นทุกๆ 2 เดือน โดยครั้งนี้เป็นการสำรวจครั้งที่ 9 ตั้งแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเข้ารับตำแหน่งนายกรัรฐมนตรี ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 เมษายน 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,201 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ
สำหรับผลสำรวจการประเมินผลงานรัฐบาลใน 6 ด้าน พบว่า ด้านภาพรวมการทำงานของรัฐบาล ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 76.2 ไม่ผ่าน ร้อยละ 23.8 ด้านการเมืองและประชาธิปไตย ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 71.9 ไม่ผ่าน ร้อยละ 28.1 ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 55.5 ไม่ผ่านร้อยละ 44.5 ด้านสังคม อาชญากรรม และยาเสพติด ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 54.2 ไม่ผ่าน ร้อยละ 45.8 ด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษ และภัยธรรมชาติ ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 68.0 ไม่ผ่าน ร้อยละ 32.0 ด้านการต่างประเทศ ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 78.2 ไม่ผ่าน ร้อยละ 21.8
ดร.สุทินกล่าวว่า เมื่อพิจารณาผลสำรวจรอบนี้เทียบกับการสำรวจช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 56 จะพบว่าผลประเมินให้ผ่านลดลงในทุกๆ ด้าน
ส่งผลให้ภาพรวมการทำงานของรัฐบาลลดลง มีเพียงด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษ และภัยธรรมชาติที่ดีขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากปัญหาน้ำประปาในเขตเมืองไม่ได้เลวร้ายมากตามที่เคยกังวล ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ลดลงมาในรอบนี้ เนื่องจากในการสำรวจครั้งที่แล้วแรงงานได้รับประโยชน์จากค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท แต่ในครั้งนี้ประชาชนอาจได้รับผลข้างเคียงจากการขึ้นค่าแรงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่แพงขึ้นและสวัสดิการที่ได้น้อยลงจากนายจ้าง ด้านสังคม อาชญากรรม และยาเสพติด คะแนนก็ลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคดียาเสพติดที่ปรากฏในข่าวมากขึ้น
ส่วนความคิดเห็นหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่คนอีสานจะเลือกพรรคการเมืองใด พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.7 จะเลือกพรรคเพื่อไทย จากเดิมร้อยละ 55.4 และอีกร้อยละ 22.2 ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกพรรคใดในขณะนี้ ครั้งที่แล้วร้อยละ 27.7 ส่วนผู้ที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ มีร้อยละ 15.7 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสูงสุดตั้งแต่ทำการสำรวจมา ครั้งที่แล้วได้ร้อยละ 12.0 อีกร้อยละ 6.8 ตอบว่าจะไม่เลือกพรรคใด และร้อยละ 0.7 จะเลือกพรรคอื่นๆ
ในส่วนของการประเมินการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานกว่าร้อยละ 62.3 ให้คะแนนว่าไม่ผ่าน จากที่การประเมินครั้งก่อน ไม่ผ่านร้อยละ 63.6 โดยให้เหตุผล เช่น ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ชอบพรรคการเมืองฝ่ายค้านอยู่แล้ว เป็นการค้านมากเกินไปหรือจับผิดรัฐบาล เป็นต้น ส่วนอีกร้อยละ 37.7 ที่ประเมินให้ผ่าน ให้เหตุผล เช่น เป็นการทำงานตามหน้าที่ฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาลได้ดี และมีการนำข้อมูลมาใช้ได้ดี เป็นการตรวจสอบไม่ให้รัฐบาลคอร์รัปชัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาที่คนอีสานเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขมากที่สุด จากผลสำรวจพบว่ามี 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจและปากท้อง ร้อยละ 57.7 โดยแยกเป็นเรื่องปัญหาค่าครองชีพสูงจากราคาสินค้าและน้ำมันที่แพง ร้อยละ 44.0 และปัญหาความยากจน รายได้จากการเกษตร การว่างงาน และหนี้สิน ร้อยละ 13.7 รองลงมาต้องการให้แก้ไขเรื่องภัยแล้งร้อยละ 18.22 ตามมาด้วยเรื่องปัญหาเกี่ยวกับสังคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ยาเสพติดและการพนัน ร้อยละ 16.82 นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การศึกษาและสาธารณสุข และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคม เป็นต้น
ดร.สุทินกล่าวว่า ผลการประเมินในครั้งนี้พบว่า แม้คะแนนในแต่ละด้านของรัฐบาลจะถือว่าสอบผ่าน แต่ก็เป็นคะแนนที่ลดลงต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือนในหลายๆ ด้าน ในด้านเศรษฐกิจ ที่แม้ว่าก่อนหน้านี้ประชาชนจะพึงพอใจกับนโยบายประชานิยมต่างๆ เช่น ค่าแรง 300 บาท และจำนำข้าว แต่ในการประเมินครั้งนี้กลับได้คะแนนลดลง ทั้งนี้อาจมาจากผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว ทำให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นบ้างและค่าครองชีพของประชาชนก็สูงขึ้นด้วย รวมถึงการปรับลดสวัสดิการจากนายจ้าง ซึ่งเป็นปัญหาที่ชาวอีสานเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไข
“ในด้านสังคมพบว่าคะแนนต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันยาเสพติดกลับมาระบาดอย่างมาก และการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ อาจมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจด้วย ในด้านภัยธรรมชาติ ก็เป็นปัญหาสำคัญ ดังจะเห็นได้จากภัยแล้ง ที่มีผลกระทบต่อการเกษตรและการผลิตน้ำประปา แต่ที่น่าสังเกตอีกอย่าง คือ คะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคอีสานเริ่มกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องจากการลงพื้นที่ในภาคอีสานมากขึ้น” ดร.สุทิน กล่าวตอนท้าย