xs
xsm
sm
md
lg

โพลสำรวจพบคนอีสานปลื้มผลงาน “รัฐบาลปู” เว้นด้านเศรษฐกิจแย่ลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
อีสานโพลสำรวจความเห็นประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัดเกี่ยวกับผลงาน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” พบดีขึ้นทุกด่าน ยกเว้นเศรษฐกิจที่ยังสอบตก ส่วนความนิยมของ “นายกฯ ปู” เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน พร้อมหนุนให้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “เสียงสะท้อนชาวอีสานกับผลงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์” ประจำเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งที่ 6 ตั้งแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จากกลุ่มตัวอย่าง 1,209 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ

ผลสำรวจการประเมินผลงานรัฐบาลใน 6 ด้าน พบว่าด้านภาพรวมการทำงานของรัฐบาล ประเมินให้ผ่านร้อยละ 81.0 ไม่ผ่านร้อยละ 19.0 ด้านการเมืองและประชาธิปไตย ประเมินให้ผ่านร้อยละ 69.1 ไม่ผ่านร้อยละ 30.9 ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ประเมินให้ผ่านร้อยละ 46.8 ไม่ผ่านร้อยละ 53.2 ด้านสังคม อาชญากรรม และยาเสพติด ประเมินให้ผ่านร้อยละ 67.2 ไม่ผ่านร้อยละ 32.8 ด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และภัยธรรมชาติ ประเมินให้ผ่านร้อยละ 67.0 ไม่ผ่านร้อยละ 33.0 ด้านการต่างประเทศ ประเมินให้ผ่านร้อยละ 84.0 ไม่ผ่านร้อยละ 16.0

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับการสำรวจช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 55 พบว่า แม้ครั้งนี้คนอีสานจะประเมินให้ผลงานแต่ละด้านผ่าน แต่ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ชาวอีสานกว่าร้อยละ 53.2 ประเมินว่า “ไม่ผ่าน” เช่นเคย (ครั้งก่อนประเมินว่าไม่ผ่านร้อยละ 52.9) อย่างไรก็ตาม ด้านภาพรวมการทำงานถือว่าได้ผลประเมินสูงสุดในการประเมินช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยผลประเมินด้านการเมือง ด้านสังคม อาชญากรรมและยาเสพย์ติด และด้านการต่างประเทศ ล้วนมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และภัยธรรมชาติได้ผลการประเมินดีขึ้นกว่าการประเมินครั้งก่อน แต่ยังไม่เท่ากับผลการประเมินช่วงต้นปี

เมื่อถามความคิดเห็นว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่คนอีสานจะเลือกพรรคการเมืองใด พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 53.7 จะเลือกพรรคเพื่อไทย (จากเดิมร้อยละ 43.8 ถือว่าได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้น) และอีกร้อยละ 29.8 ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกพรรคใดในขณะนี้ (จากเดิมร้อยละ 36.7) ส่วนผู้ที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มีร้อยละ 9.7 (จากเดิมร้อยละ 9.3) และอีกร้อยละ 6.6 ตอบว่าจะไม่เลือกพรรคใด

สำหรับการประเมินการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล พบว่ากลุ่มตัวอย่างชาวอีสานกว่าร้อยละ 54.3 ให้คะแนนว่าไม่ผ่าน (การประเมินครั้งก่อนไม่ผ่านร้อยละ 61.2 ถือว่าทำงานดีขึ้น) โดยให้เหตุผล เช่น เป็นการค้านแบบไม่มีเหตุผล ขาดความน่าเชื่อถือ สร้างความแตกแยก หรือใส่ความรัฐบาล เป็นต้น ส่วนอีกร้อยละ 45.7 ที่ประเมินให้ผ่านให้เหตุผล เช่น มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เป็นการทำงานตามหน้าที่ได้ดี และแสดงถึงการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ส่วนผลการสำรวจนักการเมืองที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดประจำเดือน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงนำมาเป็นอันดับหนึ่งร้อยละ 56.2 (จากเดิมร้อยละ 39.2 ถือว่าผลงานเข้าตาประชาชนมากขึ้น) รองลงมาคือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ร้อยละ 11.8 ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้คะแนนร้อยละ 8.2 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้คะแนนร้อยละ 3.7 โดยมีกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานร้อยละ 9.7 ที่ตอบว่าไม่มีนักการเมืองคนใดที่มีผลงานที่โดดเด่นเลย

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงบุคคลที่กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานคิดว่ามีความเหมาะสมในการขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แทนนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 47.7 ระบุว่าต้องการให้เป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รองลงมาร้อยละ 15.5 ต้องการให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มาดำรงตำแหน่งแทน ส่วนอันดับสามระบุว่าไม่มีความเห็น ร้อยละ 9.9 นอกจากนี้ ยังมีชื่อนายจาตุรนต์ ฉายแสง ร้อยละ 9.8 พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ร้อยละ 9.3 และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ร้อยละ 6.1 ขณะที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ผู้ที่คาดการณ์ว่าจะได้เป็นหัวหน้าพรรค กลับได้เสียงสนับสนุนเพียงร้อยละ 1.8 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาที่คนอีสานเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขมากที่สุด คือ ด้านเศรษฐกิจ ความกินดีอยู่ดีของประชาชน ปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ราคาน้ำมัน ค่าแรง และหนี้สิน โดยชาวอีสานกว่าร้อยละ 64.6 เห็นว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดและเป็นด้านที่ทำให้รัฐบาลสอบตก รองลงมาคือปัญหายาเสพย์ติดร้อยละ 10.1 และด้านปัญหาการเมืองร้อยละ 3.6 ที่เหลือเป็นปัญหาอื่นๆ เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์


กำลังโหลดความคิดเห็น