xs
xsm
sm
md
lg

โพลเผยคนอีสานติดใจจำนำข้าวราคาสูงลิ่ว หนุนเดินหน้า-เพิ่มราคาขึ้นอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
“อีสานโพล” เผยนโยบายรับจำนำข้าว รบ.ปูนิ่ม โดนใจคนอีสาน หนุนเดินหน้านโยบายต่อ ยิ้มได้ราคาสูงกว่าราคาตลาดโลก แต่ยังไม่สะใจขอเพิ่มราคาขึ้นอีก พิลึก! กังวลเรื่องทุจริต แต่มีเคืองนักวิชาการติงจะส่งผลเสียในระยะยาว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 8 ต.ค. อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “ทัศนคติของชาวอีสาน ต่อนโยบายรับจำนำข้าว” โดยผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรพึงพอใจนโยบายจำนำข้าว อยากให้มีโครงการไปเรื่อยๆ และเพิ่มราคารับจำนำขึ้นอีก แม้จะเสี่ยงต่อปัญหาการทุจริตและผลเสียในระยะยาวที่ถูกท้วงติงโดยนักวิชาการ

ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อนโยบายการรับจำนำข้าว โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2555 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,200 ราย ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกร และกลุ่มตัวอย่างอาชีพอื่นๆ (ไม่ใช่เกษตรกร) ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ

เมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อนโยบายรับจำนำข้าว ผลการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่รู้สึกพึงพอใจ แต่กลุ่มที่ไม่ใช่เกษตรกรจะมีความพอใจน้อยกว่ากลุ่มเกษตรกร โดยมีรายละเอียดดังนี้ เกษตรกร ร้อยละ 51.8 รู้สึกพอใจอย่างมาก รองลงมาร้อยละ 28.4 รู้สึกพอใจเล็กน้อย ตามมาด้วยร้อยละ 14.1 รู้สึกไม่พอใจเล็กน้อย และมีเพียงร้อยละร้อยละ 5.7 ที่รู้สึกไม่พอใจอย่างมาก ขณะที่กลุ่มที่ไม่ใช่เกษตรกรส่วนใหญ่รู้สึกพึงพอใจเล็กน้อยร้อยละ 39.4 รองลงมาร้อยละ 32.3 รู้สึกพอใจเล็กน้อย ตามมาด้วย ร้อยละ 22.4 รู้สึกไม่พอใจเล็กน้อยและร้อยละ 5.9 รู้สึกไม่พอใจอย่างมาก

เมื่อถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างว่า รู้สึกอย่างไรต่อการที่มีนักวิชาการจากหลายๆ สถาบันออกมาท้วงติงนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาล พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกรและไม่ใช่เกษตรกร รู้สึกไม่เห็นด้วยเล็กน้อยเป็นส่วนใหญ่เหมือนกัน สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกร ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.5 ตอบว่าไม่เห็นด้วยเล็กน้อย รองลงมาร้อยละ 29.7 ไม่เห็นด้วยอย่างมาก ตามมาด้วยร้อยละ 14.5 ตอบว่าเห็นด้วยเล็กน้อย และร้อยละ 8.2 ตอบว่าเห็นด้วยอย่างมาก สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช่เกษตรกร ส่วนใหญ่ร้อยละ 41.9 ตอบว่าไม่เห็นด้วยเล็กน้อย รองลงมาร้อยละ 25.5 เห็นด้วยเล็กน้อย ตามมาด้วยร้อยละ 23.0 ตอบว่าไม่เห็นด้วยอย่างมาก และร้อยละ 9.6 ตอบว่าเห็นด้วยอย่างมาก

อีสานโพลได้สอบถามต่อถึงความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างว่า ใครเป็นผู้ได้ผลประโยชน์มากที่สุดต่อนโยบายรับจำนำข้าวนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ กว่าร้อยละ 30.2 เห็นว่าเป็นกลุ่มชาวนารายย่อยที่ได้ประโยชน์มากที่สุด รองลงมาร้อยละ 24.7 เห็นว่าเป็นผู้ประกอบการโรงสีที่ได้สิทธิเข้าร่วมโครงการ ตามมาด้วยร้อยละ 19.9 เห็นว่าเป็นกลุ่มนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต และร้อยละ 19.7 เห็นว่าเป็นกลุ่มชาวนารายใหญ่ และร้อยละ 5.5 ที่คิดว่าเป็นกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้ส่งออกข้าวที่เป็นเครือข่ายของรัฐบาล เป็นต้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช่เกษตรกร กลับมีความเห็นที่แตกต่าง โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 30.7 เห็นว่านักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต เป็นผู้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด รองลงมาคือชาวนารายย่อย (ร้อยละ 25.5) โรงสีข้าวที่ได้รับสิทธิ์ (ร้อยละ 23.6) และชาวนารายใหญ่ (ร้อยละ 14.9) ตามลำดับ

เมื่อสอบถามว่า ใครเป็นผู้ได้รับผลกระทบ (เสียประโยชน์) มากที่สุด ต่อนโยบายจำนำข้าวนี้ กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกร ส่วนใหญ่ร้อยละ 37.1 เห็นว่าเป็นกลุ่มชาวนารายย่อย รองลงมาร้อยละ 21.6 เห็นว่าเป็นโรงสีที่ได้รับสิทธิ ตามมาด้วยร้อยละ 14.5 เห็นว่าเป็นผู้บริโภคข้าว ร้อยละ 9.8 เห็นว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐร้อยละ 7.7 เห็นว่าเป็นชาวนารายใหญ่ ร้อยละ 5.7 เห็นว่าเป็นผู้ส่งออกข้าว ร้อยละ 2.2 เห็นว่าเป็น ธ.ก.ส. และร้อยละ 1.4 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ส่วนกลุ่มตัวอย่างอาชีพอื่นๆ มีความเห็นไปในทิศทางคล้ายกัน โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 40.7 เห็นว่าเป็นกลุ่มชาวนารายย่อยที่จะเสียประโยชน์ รองลงมาร้อยละ 21.4 เห็นว่าเป็นผู้บริโภคข้าว ตามมาด้วยร้อยละ 20.2 เห็นว่าเป็นโรงสีที่ได้รับสิทธิ ตามมาด้วยร้อยละ 7.1 เห็นว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 4.3 เห็นว่าเป็นชาวนารายใหญ่ ร้อยละ 2.5 เห็นว่าเป็นผู้ส่งออกข้าว ร้อยละ 1.6 เห็นว่าเป็น ธ.ก.ส. และร้อยละ 2.2 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงสิ่งใดที่รัฐควรปรับปรุงต่อนโยบายรับจำนำข้าวมากที่สุด พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 34.4 เห็นว่าควรป้องกันการทุจริต รองลงมาเห็นว่าควรเพิ่มราคาจำนำให้สูงขึ้นร้อยละ 31.8 ตามมาด้วยจ่ายเงินชาวนาให้เร็วขึ้นร้อยละ 20.4 จำกัดปริมาณรับจำนำ เพื่อเน้นช่วยเหลือชาวนารายย่อย ร้อยละ 10.1 ลดราคาจำนำลงมีเพียงร้อยละ 2.9 และ อื่นๆ เช่น ลดราคาปุ๋ย หรือสร้างเครือข่ายเกษตรกรร้อยละ 0.5 ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช่เกษตรกร ให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตสูงกว่า โดยมีผู้ตอบสูงถึงร้อยละ 48.1 รองลงมาเห็นว่าควรเพิ่มราคาจำนำให้สูงขึ้น ร้อยละ 23.9 ตามมาด้วยจ่ายเงินชาวนาให้เร็วขึ้นร้อยละ 14.6 จำกัดปริมาณรับจำนำ เพื่อเน้นช่วยเหลือชาวนารายย่อยร้อยละ 8.7 ลดราคาจำนำลงร้อยละ 4.0 และ อื่นๆ เช่น ลดราคาปุ๋ย หรือสร้างเครือข่ายเกษตรกร ร้อยละ 0.6

เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างว่า ต้องการให้ดำเนินนโยบายนี้ต่อไปหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60.9 เห็นว่า ควรดำเนินนโยบายต่อไปเรื่อยๆ รองลงมาร้อยละ 16.8 เห็นว่า ควรทำเฉพาะช่วงที่ราคาตกต่ำเท่านั้น ตามมาด้วยร้อยละ 11.5 เห็นว่าควรทำอีก 2-3 ปี และมีเพียงร้อยละ 8.9 เห็นว่าให้ทำปีนี้เป็นปีสุดท้าย และไม่แน่ใจ ร้อยละ 1.8 ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช่เกษตรกร ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 39.8 เห็นว่า ควรดำเนินนโยบายต่อไปเรื่อยๆ รองลงมาร้อยละ 32.3 เห็นว่า ควรทำเฉพาะช่วงที่ราคาตกต่ำ ตามมาด้วยร้อยละ 14.9 เห็นว่าให้ทำปีนี้เป็นปีสุดท้าย ร้อยละ 11.5 เห็นว่าควรทำอีก 2-3 ปี และไม่แน่ใจ ร้อยละ 1.6

“จากผลการสำรวจข้างต้นทำให้เห็นว่า เป็นที่น่ากังวลว่าเกษตรกรเริ่มเสพติดต่อนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลและยังต้องการให้เพิ่มราคารับจำนำข้าวให้สูงขึ้นอีก แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายออกมาท้วงติงว่า นโยบายประชานิยมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐบาลและเศรษฐกิจโดยรวมได้ แต่ชาวบ้านหรือเกษตรกรยังเห็นว่า นโยบายดังกล่าว เอื้อผลประโยชน์ต่อตน นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังได้สะท้อนว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานมีความกังวลเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ดังจะเห็นได้จาก กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกร เกือบ 1 ใน 5 และกลุ่มที่ไม่ใช่เกษตรกรเกือบ 1 ใน 3 เห็นว่า ผู้ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดคือ กลุ่มนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต ซึ่งหากสามารถกำจัดปัญหาการทุจริตได้ และสร้างความชัดเจนโปร่งใสต่อระบบการจำนำข้าวได้ ย่อมส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ต่อนโยบายนี้ อย่างไรก็ดี ยังพบว่ายังมีชาวนารายย่อยจำนวนมากที่เสียประโยชน์ในนโยบายนี้ ทั้งนี้อาจมาจากเงื่อนไขในการรับจำนำข้าว ที่อาจไม่เอื้อต่อชาวนารายย่อยรวมถึงการกดราคารับซื้อจากโรงสี ดังนั้นการจำกัดโควตาการรับจำนำและการตรวจสอบการรับซื้อข้าวจากโรงสีที่เข้าร่วมโครงการโดยหลายฝ่าย จะเป็นการช่วยชาวนารายย่อยอย่างแท้จริง” ดร.สุทินกล่าวตอนท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น